ระหว่างวันที่ 23 ถึง 31 กรกฎาคมนี้ เป็นช่วงเวลาของ สัปดาห์ผีเสื้อกลางคืน หรือ National Moth Week สัปดาห์ที่ชุมชนนักวิทยาศาสตร์พลเมืองร่วมใจกันจัดกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลก เพื่อให้พวกเราได้ตระหนักถึงความสำคัญของแมลงกลางคืนและภัยคุกคามที่สัตว์ร่วมโลกตัวน้อยนี้ต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21
ทำความรู้จักกับแมลงกลางคืน
ในทางอนุกรมวิธาน แมลงถูกจัดอยู่ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Arthropoda) ของอาณาจักรสัตว์ ร่วมกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ขาเยอะข้อแยะทั้งหลาย เช่น แมงมุม ปู กุ้ง ตะขาบ แมงดาทะเล ฯลฯ ซึ่งสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดานี้มีลักษณะภายนอกที่โดดเด่นร่วมกันคือ มีเปลือกหุ้มแข็งที่ทำจากองค์ประกอบของไคติน (Chitin) ทำให้ระหว่างการเจริญเติบโต จำเป็นต้องมีการลอกคราบ (Molting) หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (Metamorphosis) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
จากบันไดอนุกรมวิธานลงมาอีกขั้นหนึ่ง เราจะพบกับขั้น Insecta ของแมลง กลุ่มแมลงนั้นมีความแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ในไฟลัมอาร์โทรโพดาตรงที่ลำตัวของพวกมันแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ส่วนหัว อก และท้อง พร้อมกับขาที่เป็นข้อปล้องสามคู่ ตารวม (Compound Eyes) ที่ประกอบจากตาหน่วยเล็ก ๆ จำนวนมาก (Ommatidium) และหนวดอีกหนึ่งคู่
แมลงเป็นกลุ่มสัตว์บกที่มีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์มากที่สุดในโลก [1] ปัจจุบัน มีแมลงที่จำแนกชนิดเรียบร้อยแล้วกว่า 900,000 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 80 ของชนิดพันธุ์ทั้งหมด (เพียงแค่สหรัฐอเมริกาแห่งเดียว ก็มีแมลงอยู่ถึง 91,000 ชนิดแล้ว) นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากยังมีความเห็นอีกว่า น่าจะยังมีชนิดพันธุ์แมลงที่ยังไม่ถูกจำแนกมากกว่านั้นเสียอีก ซึ่งคาดว่าอาจมีมากกว่า 2 ไปจนถึง 30 ล้านชนิดเลยทีเดียว [2]
แมลงยังเป็นสัตว์กลุ่มที่มีความสามารถในการวิวัฒนาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหลือเชื่อ พวกมันถูกพบได้ในทุกทวีปแม้แต่แอนตาร์กติกาที่หนาวเย็น โดย “ริ้นแอนตาร์กติก” (Antarctic midge, Belgica antarctica) ขนาด 2-6 มิลลิเมตรนั้นนับเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของทวีป และเป็นสัตว์บกชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ที่นั่นถาวรตลอดทั้งปี ริ้นแอนตาร์กติกจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายแบบสุดขั้วหลายรูปแบบได้เป็นอย่างดี หรือ Poly-extremophile [3]
แมลงยังเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีชีวมวล (Biomass) รวมได้มากเป็นที่สุดของกลุ่มสัตว์บกทั้งหมด มีการประมาณว่า ณ เวลาใดเวลาหนึ่งนั้น มีแมลงอยู่มากถึง 10,000,000,000,000,000,000 ตัวในโลกเลยทีเดียว (10 ยกกำลัง 18 หรือ สิบล้านล้านล้าน) [2] แต่เรารู้จักกับพวกมันเพียงน้อยนิดเท่านั้น
สำรวจแมลง กิจกรรมแสนสนุกของครอบครัว
วิธีศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในพื้นที่อย่างง่ายที่สุดคือ การเปิดกับดักแสงไฟ (Light Trap) เพื่อล่อกลุ่มแมลงกลางคืน เช่น ด้วง ตั๊กแตนกิ่งไม้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผีเสื้อกลางคืนชนิดต่างๆ
การเปิดกับดักแสงไฟล่อแมลงนั้น เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมลงที่มักบินเข้าหาแสงไฟด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน ผีเสื้อกลางคืนมักใช้แสงจันทร์นำทาง ในขณะเดียวกัน แมลงหลายชนิดสนใจความร้อนจากหลอดไฟมากกว่าแสงสว่าง โดยเฉพาะในคืนที่อุณหภูมิค่อนข้างเย็น และบางชนิดก็จัดว่าเป็น “แมลงมุง” ที่เพียงต้องการมาฉวยโอกาสล่าเหยื่อ เช่น ตั้กแตนตำข้าว หรือว่าจับคู่ผสมพันธุ์ [4]
อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเปิดกับดักแสงไฟก็มีเพียงหลอดไฟอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งจะให้ผลดีกว่าหลอดไฟไดโอดทั่วไป เราสามารถเลือกใช้ได้ทั้งหลอดไฟสีม่วงแบล็กไลต์ และหลอดแสงจันทร์ (หรือหลอดไฟไอปรอท, Mercury-vapor Lamp) และฉากผ้าสีขาวสำหรับเป็นฉากหลังให้แมลงเกาะ
การเปิดกับดักแสงไฟเป็นกิจกรรมที่ทำได้ไม่ยาก ลงทุนไม่มากและไม่ยุ่งยาก โดยแต่ละพื้นที่ แต่ละฤดูกาล ก็จะได้พบเห็นแมลงที่แตกต่างกันออกไป การเปิดกับดักแสงไฟสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่จะได้ผลดีที่สุดในคืนเดือนมืดที่มีแสงรบกวนจากดวงจันทร์ไม่มาก กล่าวรวม ๆ แล้ว การส่องไฟดูแมลงและสัตว์เล็กต่าง ๆ ตอนกลางคืนก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่ใช่น้อย และได้ภาพที่แปลกไปจากตอนกลางวันอย่างสิ้นเชิง นับเป็นกิจกรรมที่ครอบครัวและเด็ก ๆ สามารถทำร่วมกันได้ดีอย่างหนึ่ง
โดยทั่วไป การเปิดกับดักแสงไฟมักเป็นฉากที่ขึงเพียงชั่วคราว ที่แต่ในพื้นที่ที่การทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ และ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช มีการตั้งกับดักแสงไฟถาวรเพื่อให้นักวิจัยได้ใช้ศึกษาแมลงกันอย่างเต็มที่
เนื่องจากแมลงแต่ละชนิดมีพืชอาหารที่จำเพาะ การเก็บข้อมูลของแมลงและสิ่งแวดล้อมของมัน นอกจากจะบ่งบอกข้อมูลวงจรชีวิต ฤดูกาล และการกระจายพันธุ์ของมันแล้ว เรายังสามารถ “อ่านป่า” ได้จากความเข้าใจสิ่งแวดล้อมที่แมลงชนิดนั้นต้องการ ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลของพืชอาหาร หรือแม้แต่ระดับความชื้นในป่าที่พวกมันชื่นชอบ นอกจากนี้ การเก็บตัวอย่างแมลงหน้าตาไม่คุ้นเคยที่นักวิจัยทำเป็นบางครั้ง ก็อาจนำสู่การจำแนกแมลงชนิดใหม่ของโลก เช่น เพลี้ยลายบ้านเชียง (Hemisphaerius binduseni, Constant & Jiaranaisakul, 2020) [11] และ แมลงกิ่งไม้สวนผึ้ง (Pylaemenes scrupeus sp. Nov., Bresseel & Jiaranaisakul, 2021) [12] ที่มีนักวิจัยจากมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์เป็นกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญ
บรรยากาศหน้ากับดักแสงไฟมักเต็มไปด้วยความตื่นเต้น เมื่อเราได้พบเห็นแมลงที่สวยงามอย่างไม่คาดฝันและได้สัมผัสตัวแมลงอย่างใกล้ชิดด้วยมือของเราเอง การจำแนกชนิดแมลงด้วยตัวเองอาจต้องใช้ความพยายามสักหน่อย แต่เราสามารถอัพโหลดภาพถ่ายและข้อมูลแวดล้อมเพื่อแบ่งปันกับนักวิจัยนานาชาติผ่านแอปพลิเคชั่น iNaturalist (แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดย California Academy of Sciences และ National Geographic Society เพื่อเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คของนักธรรมชาติวิทยา เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์พลเมือง และผู้ที่มีความสนใจในธรรมชาติ ในการทำแผนที่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากทั่วโลก) อย่างที่เราทราบกันแล้วว่ายังมีชนิดแมลงอีกจำนวนมากที่รอการค้นพบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่บางครั้งผู้เชี่ยวชาญใน iNaturalist ต้องตื่นเต้นกับภาพถ่ายของมือใหม่ ที่บังเอิญเป็นหลักฐานภาพถ่ายชิ้นแรกในโลกของแมลงชนิดนั้นนั่นเอง
มลภาวะทางแสง กับแมลงที่หายไป
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรม “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” ของพวกมันนี่เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการลดจำนวนของแมลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ นอกเหนือไปจากสภาวะโลกรวน การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และสารพิษในยาฆ่าแมลง งานศึกษาวิจัยจากอังกฤษชิ้นหนึ่งระบุว่า แสงไฟจากถนนมีส่วนทำให้ผีเสื้อกลางคืนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและลดจำนวนหนอนผีเสื้อที่เกิดใหม่ลงกว่าครึ่ง โดยมีหลอดแอลอีดีในไฟถนนเป็นตัวการสำคัญ [5]
ทุกวันนี้ ชาวเมืองทั้งหลายอาจไม่คุ้นเคยกับภาพแมลงเม่าบินวุ่นวายหลังฝนตก หรือการมีแมลงจำนวนมากตายติดกระจังหน้ารถที่ขับทางไกลอีกแล้ว ในความเป็นจริง การหายไปของแมลงเช่นนี้เป็นเรื่องที่ควรกังวลมากกว่าจะดีใจ แมลงเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของห่วงโซ่อาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์และสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นการที่พวกมันช่วยผสมพันธ์ุพืชที่ดอกบานในเวลากลางคืน ย่อยสลายซากอินทรียวัตถุ หรือแม้แต่เป็นอาหารของนก ค้างคาว และสัตว์อื่นอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
นักวิทยาศาสตร์บางคนเปรียบเทียบการลดจำนวนอย่างรวดเร็วของแมลงเข้ากับวันสิ้นโลก (Insect Apocalypse) และนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ครั้งที่หก หรือ The Sixth Extinction ซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ห้า ก็คือการสูญพันธุ์ยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่โลกเราสูญเสียไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ไปนั่นเอง
การขยายตัวของเมืองและกิจกรรมของมนุษย์อย่างไร้ขอบเขต ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อแบบแผนการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าอย่างชัดเจน สัตว์ทั่วโลกใช้เวลาหากินตอนกลางคืนมากขึ้นถึง 1.36 เท่าเพื่อหลีกเลี่ยงมนุษย์ [6]
หากจะพูดถึงมลภาวะทางแสง หรือ Light Pollution โดยย่อ เราอาจกล่าวได้ว่า มลภาวะทางแสงคือการใช้แสงเทียมในปริมาณที่มากเกินพอดีโดยเฉพาะในเขตเมือง ซึ่งนอกจากมีผลทำให้ใช้พลังงานมากขึ้นโดยไม่จำเป็น และบดบังดวงดาวบนท้องฟ้าแล้ว การใช้แสงสว่างอย่างฟุ่มเฟือยยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของสัตว์ นก และแมลง รวมทั้งมนุษย์ด้วย [7]
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่ม Dark-Sky Thailand ที่ทำงานให้ความรู้เกี่ยวกับมลภาวะทางแสงและการอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดอย่างจริงจัง และยังมีแคมเปญเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (National Astronomical Research Institute of Thailand, NARIT) ซึ่งเพิ่งร่วมกับกรมอุทยานฯ ประกาศรับรองให้อุทยานแห่งชาติห้าแห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อุทยานแห่งชาติภูแลนคา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา [8]
อาจนับว่า มลภาวะทางแสงเป็นปัญหาที่แก้ได้ไม่ยากนักเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นที่ฝังรากลึกกว่า ทางเลือกหนึ่งคือเปลี่ยนโคมไฟสาธารณะให้เหมาะต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการฟุ้งกระจายของแสง และกำกับให้ส่องสว่างเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องการ โดยมีผลพลอยได้เป็นการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น
เป็นที่น่าเสียดายว่า นี่เป็นปัญหาที่มีเพียงคนส่วนน้อยที่ตระหนักถึงและให้ความสำคัญ แม้แต่ในกลุ่มสำรวจงบประมาณการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้องของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ในงานระดมสมองที่พรรคการเมืองหนึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในกลุ่มซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและอาสาสมัคร ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาสูงที่ออกตัวว่ามีความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม กลับไม่มีใครรู้จักปัญหาจากมลภาวะทางแสง และผลักให้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้ยินไปเสีย [9] ทั้งที่มลภาวะทางแสงเป็นที่พูดถึงกันในระดับโลกมาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว และมีงานวิจัยที่ระบุว่า สี่ในห้าของประชากรโลกใช้ชีวิตอยู่กับมลภาวะทางแสงในทุกๆ วัน และมนุษยชาติมากถึงหนึ่งในสาม อาจไม่เคยได้พบเห็นความงดงามน่ามหัศจรรย์ของดาราจักรทางช้างเผือกบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนเลย [10]
ถ้าหากกลุ่มคนที่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณและนโยบายจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังคงมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมครอบคลุมแค่เพียงการกำจัดขยะและลอกท่อ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนให้กับมนุษย์ในเมืองเป็นหลัก ก็เป็นที่เศร้าใจและคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองที่แท้จริงจะได้รับการใส่ใจ เช่น มลภาวะทางแสง เกาะความร้อนในเมืองหรือ urban heat island และความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในเมือง
เส้นทางของการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐานดูจะยังอีกยาวไกล กว่าจะได้รับการยอมรับจากภาครัฐ ที่ควรวางตัวเป็นตัวอย่างให้กับประชาชนและวางรากความเข้าใจพื้นฐานที่ทำให้ทั้งคน เมือง และสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาวเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไป
เรื่องและภาพ : สิริพรรณี สุปรัชญา
References: