ฤดูกาล ที่เกิดขึ้นบนโลก ซึ่งหมุนเวียนเปลี่ยนไปในทุกปี

ฤดูกาล ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในทุกปี ได้สร้างปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ การเกิดฤดูกาลทำให้แต่ละช่วงเวลามีทัศนียภาพที่แตกต่างกันไป การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละฤดูกาล

ฤดูกาล (Seasons) คือ ช่วงเวลาของการเกิดสภาพภูมิอากาศลักษณะพิเศษในแต่ช่วงเวลาของปี ที่ส่งผลให้พื้นที่แต่ละส่วนของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน และปริมาณแสงแดดต่อวัน เกิดเป็นฤดูกาลต่างๆ ในเขตอบอุ่น ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว รวมถึงฤดูฝนที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเขตร้อนอีกด้วย

ฤดูหนาวในประเทศเขตอบอุ่น / ภาพถ่าย Ian Schneider

การเกิดฤดูกาล

ฤดูกาลเกิดขึ้นเนื่องจาก พื้นผิวส่วนต่าง ๆ ของโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อมกับการหมุนรอบตัวเอง ประกอบกับแกนโลกที่เอียง 23.5 องศา รวมไปถึงวงโคจรของโลกเคลื่อนที่ไปในลักษณะที่ไม่ใช่วงกลมสมบูรณ์ ทำให้มีพื้นที่บางส่วนของโลกเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้น ในขณะที่บางส่วนได้รับแสงอาทิตย์น้อยกว่าบริเวณอื่น ๆ ดังนั้น ในแต่ละฝั่งและภูมิภาคของโลกจึงเกิดเป็นฤดูกาลต่าง ๆ ตามปริมาณ และระยะเวลา ที่ได้รับแสงอาทิตย์

การโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก / ภาพประกอบ : National Geographic Kids

การเกิดฤดูกาลและวันเริ่มต้นของฤดูกาลทั้ง 4

ตำแหน่งที่ตั้งบนโลก และสภาพภูมิประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิด และเปลี่ยนแปลงฤดูกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ในเขตหนาวเย็นและเขตอบอุ่น (Temperate Regions) จะเกิดฤดูกาลครบทั้ง 4 ฤดูกาลใน 1 ปี ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ (Spring) ฤดูร้อน (Summer) ฤดูใบไม้ร่วง (Fall) และฤดูหนาว (Winter)

ฤดูใบไม้ผลิ / ภาพถ่าย Lucy Doran

ในขณะเดียวกัน บริเวณเส้นศูนย์สูตรหรือเขตร้อน (Tropical Regions) จะประสบกับความผันแปรของฤดูกาลไม่มากนัก อากาศส่วนใหญ่จะอบอุ่นตลอดทั้งปี โดยมีปริมาณของน้ำฝนเข้ามาเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดเป็นฤดูฝน (Rainy Season) ซึ่งเข้ามาแทนที่ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง

ส่วนพื้นที่บริเวณขั้วโลก (Polar Regions) ที่มีอุณหภูมิหนาวเย็นกว่าพื้นที่บริเวณอื่นของโลก แต่ปริมาณแสงแดดที่ได้รับจะแตกต่างกันอย่างมากในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว เช่น ที่เมืองเมืองแบร์โรว์ รัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา จะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวันในช่วงฤดูร้อน ก่อนจะกลายเป็นเมืองที่มืดสนิทในช่วงฤดูหนาวยาวนาน 2 ถึง 3 เดือน

ฤดูใบไม้ร่วง / ภาพถ่าย Ivan Bandura

นอกจากฤดูกาลทั้ง 4 แล้ว ในช่วงเวลา 1 ปี โลกยังมีช่วงเวลาที่เคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งซึ่งห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุด 2 ครั้ง เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด 2 ครั้ง ทำให้เกิดเป็นวันของการเปลี่ยนถ่ายฤดูกาลและปรากฏการณ์พิเศษทั้ง 4 ดังนี้

วันครีษมายัน (Summer Solstice) : วันที่ 20 – 21 มิถุนายนของทุกปี คือ จุดเริ่มต้นของฤดูร้อนหรือ วันที่ยาวนานที่สุดในรอบปีของฝั่งซีกโลกเหนือ จากการที่โลกโคจรโดยเอียงซีกโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงเวลานี้

ฤดูร้อน / ภาพถ่าย Porter Raab

วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) : วันที่ 22 – 23 กันยายนของทุกปี คือ การเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงอย่างเป็นทางการของฝั่งซีกโลกเหนือ จากการที่ซีกโลกเหนือได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ลดลง เมื่อเทียบกับฤดูร้อน กลายเป็นช่วงเวลาของการผลัดใบของพืชพรรณต่าง ๆ ก่อนเข้าฤดูหนาว

วันเหมายัน (Winter Solstice) : วันที่ 20 – 21 ธันวาคมของทุกปี คือ การเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการของฝั่งซีกโลกเหนือ จากการที่โลกหันทางซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์มากที่สุดในช่วงเวลานี้ ดังนั้น ซีกโลกเหนือจึงกลายเป็นช่วงฤดูหนาว ในขณะที่ฝั่งซีกโลกใต้กลายเป็นช่วงฤดูร้อน

วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) : วันที่ 20 – 21 มีนาคมของทุกปี คือ การเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอย่างเป็นทางการของฝั่งซีกโลกเหนือ ทำให้กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน จากการที่ซีกโลกเหนือได้รับแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ต้นไม้จึงเริ่มผลิใบและเจริญเติบโตออกมาเพื่อสังเคราะห์แสงและผลิตอาหาร

สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/season/
http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/seasons
http://astro.phys.sc.chula.ac.th/IHY/Earth/Earth_seasons.htm


อ่านเพิ่มเติม 6 เรื่องที่ผู้คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ เอลนีโญและลานีญา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.