นักวิทย์สร้าง ‘ ตัวอ่อนสังเคราะห์ ‘ สำเร็จ ไม่ต้องใช้ไข่ สเปิร์ม หรือมดลูก

นักวิทยาศาสตร์สร้าง ‘ ตัวอ่อนสังเคราะห์ ’ ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดยไม่ใช้ไข่ สเปิร์ม หรือมดลูก หวังแก้ปัญหาขาดแคลนอวัยวะมนุษย์

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนน์ ประเทศอิสราเอล ได้สร้าง ‘ ตัวอ่อนสังเคราะห์ ’ ตัวแรกของโลกที่ไม่ได้เกิดจากเซลล์ที่ปฏิสนธิโดยไข่และสเปิร์ม หรือต้องการมดลูกในการพัฒนา ซึ่งตัวอ่อนนี้เติบโตในจานเพาะเลี้ยงและพัฒนาโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยลำไส้ สมองขั้นต้นและหัวใจที่เริ่มเต้น

จาคอบ ฮันนา (Jacob Hanna) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสผู้นำการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า “น่าทึ่งมาก เราได้ทำให้เห็นแล้วว่าเซลล์เหล่านั้นมีต้นกำเนิดมาจากตัวอ่อนสังเคราะห์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงรกและถุงไข่แดงที่อยู่รอบ ๆ ตัวอ่อนด้วย” พร้อมเสริมว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากเกี่ยวกับงานนี้และมันมีความหมายมาก”

ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว ทีมเดียวกันนี้ได้สร้างมดลูกเทียมที่สามารถช่วยให้ตัวอ่อนของหนูเติบโตนอกมดลูกจริงในร่างกายได้เป็นเวลาหลายวัน และในครั้งนี้พวกเขาพัฒนาอุปกรณ์เดิมเพื่อใช้มันหล่อเลี้ยงสเต็มเซลล์ที่กลายเป็นตัวอ่อนสังเคราะห์นี้ได้กว่า 8.5 วัน ซึ่งเท่ากับเกือบครึ่งนึงของการตั้งครรภ์ของหนู โดยเป็นระยะที่เซลล์สร้างอวัยวะในช่วงแรก ๆ รวมถึงการมีหัวใจที่เต้นและสร้างการไหลเวียนเลือด สมองที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เส้นประสาท หลอดและลำไส้

“เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอ่อนของหนูตามธรรมชาติ แบบจำลองสังเคราะห์แสดงความคล้ายคลึงกันถึงร้อยละ 95 ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างของโครงสร้างภายในและรูปแบบการแสดงออกของยีนในเซลล์ประเภทต่าง ๆ อวัยวะที่เห็นในตัวอ่อนสังเคราะห์นี้บ่งชี้ถึงการทำงานทุกอย่าง” ดร.ฮันนากล่าว เคล็ดลับความสำเร็จก็คือการบำบัดด้วยสารเคมีล่วงหน้าซึ่งเปิดทางให้ทีมวิจัยตั้งค่าโปรแกรมพันธุกรรมเซลล์ขึ้นมาใหม่และกระตุ้นให้พัฒนาเป็นอวัยวะ

เธอหวังว่าวันหนึ่งในอนาคตตัวอ่อนสังเคราะห์จะช่วยแก้ปัญหาในการขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์เพื่อการปลูกถ่าย อีกทั้งได้เน้นย้ำว่า ‘ตัวอ่อนสังเคราะห์นี้ไม่ใช่ “ตัวอ่อนของจริง” และไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นสัตว์ที่มีชีวิต’ “ความท้าทายต่อไปของเราคือการทำความเข้าใจว่าสเต็มเซลล์รู้ได้อย่างไรว่าต้องทำยังไง พวกมันรวมตัวกันเป็นอวัยวะได้อย่างไร และหาทางไปยังจุดที่กำหนดนั้นภายในตัวอ่อน” ดร. ฮันนากล่าว

พร้อมเสริมว่า “ในอิสราเอลและประเทศอื่น ๆ เช่นสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร เป็นเรื่องที่กฎหมายและเราได้รับการอนุมัติทางจริยธรรมในการดำเนินการนี้ด้วยสเต็มเซลล์ที่มีสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น นี่เป็นทางเลือกที่มีจริยธรรมสำหรับการใช้ตัวอ่อน” อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงแสดงความกังวลจากสังคมที่อาจเกิดขึ้น

“จะมีพื้นที่สีเทาอยู่เสมอ” ศาสตราจารย์พอล เทซาร์ (Paul Tesar) นักพันธุศาสตร์กล่าว “แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์และในฐานะสังคม เราจำเป็นต้องร่วมมือกันตัดสินใจว่าแนวปฏิบัติคืออะไร และกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้ในทางจริยธรรม”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by Facebook: Weizmann Institute of Science

ที่มา
.
https://wis-wander.weizmann.ac.il/life-sciences/without-egg-sperm-or-womb-synthetic-mouse-embryo-models-created-solely-stem-cells
.
https://www.theguardian.com/science/2022/aug/03/scientists-create-worlds-first-synthetic-embryos
.
https://www.abc.net.au/news/2022-08-04/scientists-create-world-s-first-synthetic-embryos-/101299776
.
https://www.indiatoday.in/science/story/israeli-scientists-create-world-s-first-synthetic-embryo-without-sperm-1983669-2022-08-04
.
Photograph by https://www.facebook.com/WeizmannInstituteOfScience/photos/a.141879705879573/5401286253272199/

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.