ภาพถ่ายดาวเสาร์ภาพท้ายๆ จากยานกัสซีนี

ภาพถ่ายดาวเสาร์ภาพท้ายๆ จากยานกัสซีนี

แพซาดินา, แคลิฟอร์เนีย ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรุ่งเช้า (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ของวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2017 ยานกัสซีนี (Cassini) ขององค์การนาซามุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางสุดท้ายที่มันใช้เวลาสำรวจอยู่นานถึง 13 ปี นั่นคือดาวเสาร์

ขณะที่ยานมุ่งหน้าสู่ดาวเสาร์จุดหมายปลายทาง นักวิทยาศาสตร์ในศูนย์ควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับดัน (Jet Propulsion Laboratory) ในเมืองแพซาดินา ต่างจับตาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่า พวกเขารู้ตอนจบของเรื่องทั้งหมด

หลังจากใช้เวลาสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารอยู่นานกว่าสิบปี ยานกัสซีนีก็มุ่งหน้าเข้าสู่บรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนั้น เก็บรวบรวมข้อมูลและส่งกลับมายังโลกให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากนั้น จรวดขับดันของยานก็เริ่มล้มเหลวจากแรงกระทำมหาศาลของแรงโน้มถ่วงและการเสียดสีกับบรรยากาศ ยานเริ่มหมุนคว้าง สูญเสียการติดต่อกับโลก ก่อนจะสิ้นเสียงไปตลอดกาล ณ เวลาราว 04.55น. ตามเวลาในสหรัฐฯ

แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถสังเกตการณ์จุดจบนี้ได้ พวกเขาก็รู้ว่าภายในหนึ่งหรือสองนาทีหลังสัญญาณจากยานกัสซีนีขาดหายไป ดาวเสาร์จะฉีกยานออกเป็นชิ้นๆ และลุกไหม้ผ่านบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนั้น ไม่ต่างอะไรจากดาวตกที่พาดผ่านฟากฟ้า

จุดจบนั้นสั้นและรวดเร็ว ยานกัสซีนีที่ช่วยสร้างความกระจ่างมากมายเกี่ยวกับดาวเสาร์ ได้กลายเป็นอดีตอย่างสวยงาม

เอนเซลาดัส ดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวเสาร์ค่อยๆลับหายไปหลังดาวแม่ เป็นหนึ่งในภาพท้ายๆ ที่ยานกัสซีนีส่งกลับมายังโลก ก่อนจะทำลายตัวเองด้วยการพุ่งเข้าใส่ดาววงแหวนยักษ์ในวันที่ 15 กันยายน ปี 2017 (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL- CALTECH, SPACE SCIENCE INSTITUTE)
ภาพถ่ายสุดท้ายภาพหนึ่งของยานกัสซีนีเผยให้เห็นด้านกลางคืนของดาวเสาร์ ซึ่งเป็นด้านที่ยานพุ่งเข้าสู่บรรยากาศของดาวเสาร์และพบจุดจบ ในภาพนี้กลุ่มเมฆหมุนวนบนดาวเสาร์เรืองรองด้วยแสงสะท้อนจากวงแหวน (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL- CALTECH, SPACE SCIENCE INSTITUTE

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2004 ยานกัสซีนีเริ่มสำรวจระบบดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวาร ตลอดระยะเวลา 13 ปี กัสซีนีส่งภาพกลับมายังโลกมากกว่า 450,000 ภาพ

ยานกัสซีนียังปล่อยยานลงจอด (lander) ชื่อ เฮยเคินส์ ลงสู่ไททัน ดวงจันทร์บริวารสีส้มของดาวเสาร์ ซึ่งถือเป็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในระบบสุริยะ ไททันปกคลุมด้วยบรรยากาศก๊าซไนโตรเจนหนาทึบที่ซุกซ่อนทะเลสาบและทะเลเอาไว้ ปัจจุบัน ข้อมูลจากยานกัสซีนีเผยว่า ไททันเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ดีที่สุดที่จะมองหาร่องรอยชีวิตนอกโลก

ไม่นานหลังจากนั้น กัสซีนีตรวจพบกีเซอร์หรือน้ำพุร้อนขนาดใหญ่พวยพุ่งออกมาจากรอยแยกที่ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของดาวเสาร์ เอนเซลาดัสเป็นดวงจันทร์น้ำแข็งที่มีมหาสมุทรขนาดใหญ่ซุกซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับไททัน เอนเซลาดัสเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เป็นไปได้ในการมองหาร่องรอยชีวิตนอกโลกในระบบสุริยะ และดวงจันทร์สองดวงนี้เองคือเหตุผลที่กัสซีนีไม่สามารถอยู่ในวงโคจรของดาวเสาร์ได้ตลอดกาล

เมื่อพลังงานสำรองของยานร่อยหรอขณะโคจรรอบระบบดาวเสาร์จนยากจะควบคุม ความเสี่ยงที่ยานจะพุ่งชนดวงจันทร์บริวารมากมายของดาวเสาร์ก็เพิ่มสูงขึ้น แม้จะรู้ว่าการทำลายยานกัสซีนีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างรู้สึกเสียดายและผูกผันกับภารกิจนี้

ต่อไปนี้คือภาพถ่ายท้ายๆ ที่ยานกัสซีนีส่งกลับมายังโลก และภาพถ่ายอันน่าตื่นตาอื่นๆจากภารกิจสำรวจดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารตลอดระยะเวลายาวนาน 13  ปี (2004-2017)

โดย  นาเดีย เดรก

ดวงจันทร์เอนซาลาดัสเห็นเป็นเพียงเศษเสี้ยวท่ามกลางดาวเสาร์ที่สว่างเรืองรอง ในภาพถ่ายจากยานกัสซีนี เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปี 2017 (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL-CALTECH, SPACE SCIENCE INSTITUTE)

 


ชมชุดภาพที่ถูกส่งไปกับยานอวกาสเพื่อใช้สื่อสารกับมนุษย์ต่างดาว 

ภารกิจสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวของยาน Voyager


 

ดาวเสาร์โดดเด่นในภาพถ่ายจากยานกัสซีนีภาพนี้ซึ่งถ่ายเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนภารกิจจะปิดฉากลงตลอดกาล (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL-CALTECH, SPACE SCIENCE INSTITUTE)
ภาพถ่ายดาวเสาร์จากยานกัสซีนี เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2009 ตรงกับวิษุวัต (equinox) หรือช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งได้ฉากกับเส้นศูนย์สูตรของดาวเสาร์พอดี (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)

 

ยานกัสซีนีเยี่ยมเยือนดาวพฤหัสบดีระหว่างทางไปดาวเสาร์ โดยบินเฉียดใกล้ที่สุดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2000 ภาพถ่ายโมเสกสีจริงของดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะภาพนี้ได้จากกล้องมุมแคบบนยานกัสซีนี (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
ยานกัสซีนีถ่ายภาพความละเอียดสูงของเอนเซลาดัส ดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวเสาร์จากระยะห่างราว 112,000 ไมล์ (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
เงาของดาวเสาร์ทาบลงบนวงแหวนในภาพถ่ายจากยานกัสซีนีภาพนี้ (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
หลังเข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์ได้ 9 วัน ยานกัสซีนีก็เก็บภาพวงแหวนอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวเสาร์ภาพนี้ (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
อนุภาคน้ำแข็ง ไอน้ำ และสารประกอบอินทรีย์ พวยพุ่งฟุ้งกระจายออกจากรอยแยกที่เรียกว่า “tiger stripes” ใกล้ขั้วใต้ของเอนเซลาดัส ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
ดวงจันทร์บริวารสามดวงของดาวเสาร์ (จากทั้งหมดกว่า 60 ดวง) ได้แก่ ทีทิส เอนเซลาดัส และไมมัส ปรากฏในภาพถ่ายจากยานกัสซีนีภาพนี้ (ภาพถ่ายโดย NASA, JPL, CASSINI)
การเดินทางสู่ดาวเสาร์ของยานกัสซีนีเริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 1997 โดยทะยานขึ้นไปกับจรวด Titan IVB/Centaur พร้อมยานลงจอดเฮยเคินส์ (ภาพถ่ายโดย NASA)

 

อ่านเพิ่มเติม

ดวงจันทร์ : ภาพถ่ายจากโครงการอะพอลโล รำลึก 49 ปี การขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.