การรับรู้กลิ่นของมนุษย์

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ กลิ่นเป็นเรื่องราวที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตมาตั้งแต่โบราณกาล การรับรู้กลิ่น ก่อให้เกิดกิจกรรมทางสังคมร่วมกันของมนุษย์ เป็นสัญชาตญาณพื้นที่สำหรับการมีชีวิตรอด และส่งผลให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป

การรับรู้กลิ่น หรือการดมกลิ่น คือหนึ่งในระบบของร่างกายมนุษย์ ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของจมูก (Nose) ซึ่งเป็นอวัยวะรับกลิ่นจากวัตถุและสิ่งแวดล้อมภายนอกกับสมองส่วนหน้า (Forebrain) ที่ผสานงานการรับรู้ เพื่อส่งต่อสัญญาณไปยังสมองใหญ่ “ซีรีบรัม” (Cerebrum) ที่มีหน้าที่ประมวลผลของข้อมูลหรือกลิ่นที่ได้รับ ก่อนทำการออกคำสั่งต่อไปยังร่างกายส่วนต่าง ๆ เพื่อควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสม

ภาพถ่าย Richárd Ecsedi

การรับรู้กลิ่นเป็นระบบการทำงานที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่งของร่างกายสิ่งมีชีวิต นอกจากทำหน้าที่เพิ่มสัมผัสและการรับรู้ข้อมูลให้ร่างกายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในป้องกันร่างกายจากภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น การรับกลิ่นเพื่อหาแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยจากสัตว์นักล่า เป็นต้น

จมูกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

ส่วนของระบบการทรงตัว (Vestibular Region) ประกอบด้วยรูจมูกและโพรงจมูกส่วนนอก ซึ่งเป็นส่วนแรกที่อากาศผ่านเข้าสู่ภายในร่างกาย ภายในโพรงจมูกมีขนจมูกและต่อมน้ำมันกระจายตัวอยู่ทั่วไปภายใต้กระดูกอ่อนบริเวณปลายของจมูก

ส่วนของระบบการหายใจ (Respiratory Region) ประกอบด้วยเยื่อบุผิวหลายชนิด บางชนิดเป็นเยื่อบุผิวสีชมพูที่มีซิเลีย (Ciliated Epithelium) ภายในมีต่อมเมือกและเส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงอยู่จำนวนมาก เป็นบริเวณที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางในระบบการหายใจ

ส่วนของประสาทการรับกลิ่น (Olfactory Region) ประกอบด้วยเยื่อเมือกและเซลล์หลายชนิดอยู่ตรง บริเวณส่วนบนและด้านหลังของจมูก ซึ่งภายในประกอบด้วยบริเวณรับกลิ่น มีเยื่อบุเรียกว่า “ออลแฟคทอรีเอพิทีเลียม” (Olfactory Epithelium) มีเซลล์ประสาทรับกลิ่น (Olfactory Receptor) ฝังอยู่ราว 60 ล้านเซลล์

เซลล์รับกลิ่นเป็นเซลล์ประสาทชนิดสองขั้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายเส้นขน (Hair) หรือซีเลีย (Cilia) ที่หากได้รับการกระตุ้นแล้วจะเกิดการส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 (Olfactory Tract) ไปยังสมอง เพื่อประมวลผล

โพรงจมูกและเยื่อบุภายในจมูก / ภาพประกอบ : Pearson Education, Inc

กลไกการรับกลิ่น

การรับรู้กลิ่นเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอากาศ หรือโมเลกุลของสาร ที่หายใจเข้าไปเคลื่อนที่ผ่านทั้ง 3 ส่วนของจมูก เกิดการสัมผัสกับเซลล์เส้นขนขนาดเล็ก (Olfactory Cilia) ที่อยู่ด้านนอกสุดของเซลล์ประสาทรับกลิ่น (Olfactory Receptor Cell) บริเวณเพดานภายในช่องจมูก

เมื่อโมเลกุลของกลิ่นกระตุ้นให้เซลล์ประสาทรับกลิ่นส่งกระแสประสาทไปยังป่องรับกลิ่น (Olfactory Bulb) ซึ่งเป็นจุดรวมของเส้นประสาทรับกลิ่นทั้งหมด (Olfactory Nerve) โดยเฉพาะเส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 (Olfactory Tract) ที่ตรงเข้าสู่สมอง โดยกระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปประมวลผลจากทั้ง 2 ส่วน คือ

ส่วนของการควบคุมการตอบสนองของการรับกลิ่น (Medial Olfactory Area) ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ อาทิ การเลียริมฝีปาก การไหลของน้ำลาย

ส่วนของความทรงจำและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น (Lateral Olfactory Area) ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ ทั้งความชอบพอหรือความเกลียดชัง

แม้ว่าส่วนของสมองมนุษย์ที่ทำหน้าที่รับกลิ่นและวิเคราะห์กลิ่นมีขนาดประมาณ 2 – 5 ตารางเซนติเมตร ซึ่้งอาจจะมีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ อย่างสุนัขที่มีสมองส่วนรับกลิ่นกว่า 25 ตารางเซนติเมตร อย่างไรก็ตาม มนุษย์ก็มีความสามารถในการดมกลิ่น และการจำแนกกลิ่นที่ละเอียดละอ่อนและซับซ้อนเช่นกัน

ความสามารถในการรับรู้และแยกแยะกลิ่นต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยภายนอกและความสามารถทางร่างกาย เช่น พันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการฝึกฝน เป็นต้น

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ ณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.scimath.org/article-science/item/2097-mechanism-of-smell

https://il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/3_7.htm

https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31156-043695


อ่านเพิ่มเติม ไอดินและกลิ่นฝน : กลิ่นหอมจากนภาและพิภพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.