ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ คืออะไร

ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลมีกาแลกซีน้อยใหญ่อยู่มากมายทั้งที่มนุษย์ได้สำรวจพบ และยังสำรวจไม่พบ นอกจากนี้ ยังมีดวงดาวอีกมากมายที่อยู่นอกเหนือการสำรวจของมนุษย์ โดยเฉพาะ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) คือดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่นอกเหนือไปจากดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรา (Solar System) เป็นดาวเคราะห์ในระบบดวงดาวอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไปในจักรวาล เช่น “51 เพกาซี บี” (51 Pegasi b) ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบในปี 1995 ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 50 ปีแสง (หรือราว 473 ล้านล้านกิโลเมตร) ในบริเวณกลุ่มดาวม้าบิน เป็นดาวเคราะห์นอกระบบดวงแรกที่ถูกค้นพบในวงโคจรของดาวฤกษ์ดวงอื่นในจักรวาล

ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์ค้นพบและทำการยืนยันดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแล้วทั้งหมด 4,341 ดวง (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2021) มีทั้งดวงดาวที่มีขนาด มวล และองค์ประกอบคล้ายคลึงกับโลกและดวงดาวที่มีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ ไม่ว่าจะเป็นดวงดาวที่มีก๊าซร้อนหลายพันองศา ดาวเคราะห์หินขนาดใหญ่ยักษ์ หรือแม้กระทั่งดวงดาวที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ดาวฤกษ์ของตน) 2 ดวงไปพร้อม ๆ กัน

51 เพกาซี บี (51 Pegasi b) / ภาพประกอบ : ESO & M. Kornmesser & Nick Risinger

ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะสามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท

1. ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ (Gas Giant) หมายถึง ดาวเคราะห์ที่มีก๊าซพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหลัก โดยเฉพาะไฮโดรเจน (Hydrogen) และฮีเลียม (Helium) เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีความหนาแน่นต่ำ มีความร้อนสูงหลายพันองศาเซลเซียส ซึ่งดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกค้นพบส่วนใหญ่แล้วมีขนาดใกล้เคียงกับดาวเสาร์หรือดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะของเรา

ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ KELT-9 b / ภาพประกอบ : NASA/JPL-Caltech

2. ดาวเคราะห์หิน (Terrestrial Planet) หมายถึง ดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่มีองค์ประกอบพื้นฐานเป็นหินต่าง ๆ ที่มีความหนาแน่นสูง อีกทั้ง ยังมีองค์ประกอบของซิลิเกต (Silicate) น้ำ และคาร์บอน (Carbon) ซึ่งส่งผลให้พื้นผิวของดวงดาวมีลักษณะเป็นของแข็ง ดาวเคราะห์ประเภทนี้มักมีขนาดหรือลักษณะทางกายภาพพื้นฐานต่าง ๆ คล้ายคลึงกับโลก เช่น การมีชั้นบรรยากาศหรือมีองค์ประกอบของน้ำบนดาวดาว ไม่ว่าจะเป็นธารน้ำแข็งหรือมหาสมุทร

ดาวเคราะห์หิน TRAPPIST-1e / ภาพประกอบ : NASA

3. ดาวเคราะห์คล้ายโลก หรือ ซูเปอร์เอิร์ธ (Super-Earth) หมายถึง ดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลก แต่น้อยกว่าดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์หรือดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์ (Ice Giant Planet) อย่างดาวเนปจูนและยูเรนัส ซึ่งหมายถึงดวงดาวที่มีขนาดหรือมีมวลมากกว่าโลกราว 2 ถึง 10 เท่า แต่มีลักษณะพื้นฐานและองค์ประกอบของดวงดาวแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะมีก๊าซต่าง ๆ มีหินและคาร์บอนหรือผสมผสานทั้ง 2 ส่วนเป็นองค์ประกอบหลักของดวงดาว

ซูเปอร์เอิร์ธ 55 Cancri e / ภาพประกอบ : NASA

4. ดาวเคราะห์คล้ายเนปจูน (Neptunian Planet) หมายถึง ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวเนปจูนหรือดาวยูเรนัสในระบบสุริยะของเรา ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นองค์ประกอบหลักในชั้นบรรยากาศ มีแกนกลางเป็นหินหรือธาตุโลหะหนักอื่น ๆ ดาวเคราะห์ประเภทนี้ไม่ปรากฏอยู่ในระบบสุริยะของเรา แต่นอกระบบสุริยะมีดวงดาวประเภทนี้กว่า 1,400 ดวงที่ถูกค้นพบแล้ว

ดาวเคราะห์คล้ายเนปจูน Kepler-1655 b / ภาพประกอบ : NASA

ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ดาวเคราะห์นอกระบบส่วนใหญ่ที่มนุษย์เราค้นพบนับเป็นเพียงดวงดาวนอกระบบที่อยู่ในพื้นที่มุมเล็ก ๆ ของกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) เท่านั้น เป็นดวงดาวในระยะที่ห่างไกลที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีอวกาศและกล้องโทรทรรศน์ (Telescope) ในปัจจุบันของเราสามารถสำรวจถึงและจับภาพได้ ซึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ ยังมีดวงดาวอีกหลายล้านดวงและระบบดวงดาวนอกระบบสุริยะอีกหลายล้านระบบรอการค้นพบอีกมากในอนาคต

สืบค้นและเรียบเรียง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย

ข้อมูลอ้างอิง

https://exoplanets.nasa.gov/what-is-an-exoplanet/planet-types/overview/

https://www.nationalgeographic.com/science/article/exoplanets

http://nso.narit.or.th/index.php/2017-11-25-10-50-19/2017-12-07-04-56-44/2017-12-09-16-25-42/2017-12-10-08-25-24

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ่านเพิ่มเติม เจมส์เวบบ์ ตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้เป็นครั้งแรก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.