การเกิดดินถล่มในพื้นที่ต่างๆ ของโลก
เมื่อเข้าสู่ฤดูมรสุม โดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันหลายวัน จนดินบนภูเขาดูดซับน้ำไว้ในปริมาณมาก มักจะเกิดเหตุการณ์ ดินถล่ม ปรากฏบนหน้าสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง
ดินถล่ม (Landslide) หรือ “โคลนถล่ม” คือ หนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจาก “การย้ายมวล” (Mass Wasting) หรือการเคลื่อนตัวของดิน หิน โคลน หรือเศษซากต่าง ๆ ตามความลาดชันของพื้นที่ ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงโลก โดยทั่วไปแล้ว ดินถล่มมักเกิดขึ้นตามหลังปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว หรือขณะเกิดพายุฝนรุนแรงที่ทำให้มวลของดินไม่สามารถคงตัวอยู่ได้
ดินถล่มจึงเป็นภัยพิบัติที่มักเกิดขึ้นจากการมีตัวกลาง เช่น น้ำ กระแสลม และธารน้ำแข็ง เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ดินมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือมีแรงยึดเกาะระหว่างมวลดินลดลง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายมวลดินหรือ “การพัดพา” (Transportation) ที่นำไปสู่การถล่มลงมานั่นเอง
ดินถล่มสามารถจำแนกออกเป็น 6 ประเภท ตามวัสดุที่พังทลายและลักษณะการเคลื่อนที่ ดังนี้
-
การร่วงหล่น (Fall) คือ การเคลื่อนที่ลงในแนวดิ่งอย่างอิสระ ทั้งการถล่มลงมาโดยตรงหรือมีการเคลื่อนที่ลงมาตามลาดเขาเล็กน้อย โดยปราศจากปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่งผลให้ตะกอนดินหรือหินที่พังทลายลงมามักกองสะสมกันอยู่บริเวณเชิงเขาหรือใกล้กับหน้าผาด้านล่างที่เรียกว่า “ลานหินตีนผา” (Talus) มักเกิดจากหินที่อยู่ตามหน้าผาหรือ “หินหล่น” (Rock Fall)
-
การทลาย (Avalanche) คือ การเคลื่อนที่ลงมาอย่างรวดเร็วในลักษณะทั้งร่วงหล่น ไถล และกระเด็นกระดอน มักเกิดในบริเวณที่มีความลาดชันสูง เช่น หินทลาย (Rock Avalanche) เศษหินทลาย (Debris Avalanche) และ หิมะทลาย (Snow Avalanche)
-
การลื่นไถลหรือเลื่อนถล่ม (Slide) คือ การเคลื่อนที่ตามความชันระดับปานกลาง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ทิศทางหรือระนาบการเคลื่อนที่มากนัก และมักมีปัจจัยของน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น การเกิดดินถล่ม (Landslide) หินถล่ม (Rock Slide) และเศษหินถล่ม (Debris Slide) โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในบริเวณที่หินมีรอยแตกหรือชั้นหินมีการวางตัวเอียงเทขนานไปกับความชัน
-
การล้มคว่ำ (Topple) หรือ การเลื่อนไถล (Slump) คือ การเคลื่อนที่ในลักษณะที่มีการไถลร่วมกับการหมุนของมวลหรือการล้มคว่ำลงมาตามลาดเขา โดยทั่วไป มักเกิดบริเวณเชิงหน้าผาดินหรือหินที่มีรอยแตกและรอยแยกมาก และตามหน้าผาริมชายฝั่งทะเลหรือริมตลิ่งแม่น้ำที่มีการกัดกร่อนสูง และหลังการถล่มมักเกิดเป็นหน้าหน้าผาสูงชันคล้ายกับพระจันทร์เสี้ยว
-
การไหล (Flow) คือ การเคลื่อนที่ซึ่งมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้องมากที่สุด ทำให้ตะกอนของดินมีลักษณะเป็นของไหลที่สามารถเคลื่อนที่ไปบนพื้นระนาบได้รวดเร็วและไปได้ไกล อย่างเช่น ดินไหลหลาก (Earth Flow) ที่สามารถเคลื่อนที่ไปบนพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่ำ ด้วยความเร็วประมาณ 10 เมตรต่อชั่วโมงหรือ ตะกอนไหลหลาก (Debris Flow) ที่ปะปนไปกันกับดิน หินและซากต้นไม้
-
การแผ่ออกทางด้านข้าง (Lateral Spread) และการคืบคลาน (Creep) คือ การเคลื่อนที่บนพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่ำ ส่งผลให้การย้ายมวลสารเกิดการเคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็วตั้งแต่ 0.5 ถึง 5 เซนติเมตรต่อปี ในบางพื้นที่การคืบคลานมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความชื้น จากการมีน้ำหรือหิมะซึมผ่านชั้นดินลงไปไม่ลึกนัก ทำให้ดินชั้นบนชื้นแฉะและมีความอิ่มตัวสูงกว่าดินหรือหินด้านล่าง ทำให้การยึดเกาะตัวของดินชั้นบนลดลง จนเกิดการไหลเลื่อนลงไปด้านล่างอย่างช้า ๆ
สาเหตุของการเกิดดินโคลนถล่ม
สาเหตุจากธรรมชาติ (Natural Causes) หรือ ผลจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เช่น การเกิดฝนตกหนัก การละลายของหิมะ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำ การกัดเซาะของดินริมตลิ่งจากกระแสน้ำในแม่น้ำ ลำธาร หรือจากคลื่นซัดชายฝั่ง รวมไปถึงการผุพัง (Weathering) ของมวลดินและหิน และแรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด
สาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์ (Manmade Causes) ที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ซึ่งมีความลาดชันต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรกรรมในพื้นที่ลาดชันเชิงเขา การทำเหมือง การกำจัดพืชปกคลุมดินและการตัดไม้ทำลายป่า การก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการก่อสร้างที่ปราศจากการคำนวณด้านวิศวกรรมที่ดีพอ กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งความลาดชัน รูปแบบการไหลของน้ำผิวดิน และระดับน้ำบาดาล เป็นต้น
การเกิดดินถล่มจึงมีปัจจัยและตัวกระตุ้นมากมาย จากทั้งธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ปัจจัยจากความลาดชันและการวางตัวของชั้นหินในพื้นที่เอง ปริมาณน้ำฝนและพืชปกคลุมดิน หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงและภัยธรรมชาติอื่น ๆ
สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/landslide/
http://ndwc.disaster.go.th/cmsdetail.ndwc-9.283/26674/menu_7525/4214.2/รู้จักภัยจาก+ดินถล่มหรือโคลนถล่ม+(Land+Slide)
https://www.nstda.or.th/th/nstda-knowledge/142-knowledges/2425
http://www.dmr.go.th/download/Landslide/what_landslide1.htm
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.