นักวิจัยถ่าย “เลือดสังเคราะห์” เข้าไปในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก

ผู้ป่วยถ่ายเลือดมีความหวัง! หลังนักวิจัยถ่าย “ เลือดสังเคราะห์ ” เข้าไปในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก หวังช่วยมนุษย์กลุ่มเลือดหายาก

นักวิจัยจากสหราชอาณาจักรได้ทำการ ‘ถ่าย เลือดสังเคราะห์ ’ ที่ถูกสร้างขึ้นภายในห้องทดลองเข้าสู่มนุษย์เป็นครั้งแรกในโลก หากประสบความสำเร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนเลือดในกรุ๊ปที่หายากเช่นผู้ป่วยที่เป็นธาลัสซีเมีย

“การทดลองที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นนี้เป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่สำหรับการผลิตเลือดจากสเต็มเซลล์” ศ.แอชลีย์ ทอย (Prof. Ashley Toye) จากมหาวิทยาลัยบริสตอลหนึ่งในทีมวิจัยกล่าว “นี่เป็นครั้งแรกที่ห้องปฏิบัติการได้สร้างเลือดและมีการส่งต่อ เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นว่าเซลล์ทำงานได้ดีเพียงใดเมื่อสิ้นสุดการทดลองทางคลินิก” 

ขณะที่ ดร.ฟารรัคช์ ชาช์ (Dr. Farrukh Shah) หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริมว่า “งานวิจัยชั้นนำของโลกชิ้นนี้จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถนำมาใช้ถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีความผิดปกติเช่นมีเซลล์เม็ดเลือดแดงรูปเคียวอย่างปลอดภัย” อย่างไรก็ตาม พวกเขาระบุว่าการบริจาคโลหิตยังคงต้องมีตามปกติและเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ โดยเน้นย้ำว่าการวิจัยนี้มีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดกลุ่มหายาก ไม่ใช่เพื่อทดแทนการบริจาคเลือดปกติ

อีกทั้งเซลล์ที่นำมาเพาะในห้องทดลองนั้นจำเป็นต้องมาจากผู้บริจาคโลหิตตามปกติ โดยเลือดเหล่านั้นจะถูกคัดกรองเพื่อหาสเต็มเซลล์ภายในนั้น จากนั้นจะถูกส่งไปเติบโตในห้องปฏิบัติการโดยมีสารละลายเป็นตัวกระตุ้นให้สเต็มเซลล์แบ่งตัวและพัฒนาเป็นเซลล์เม็ดเลือดแดง กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์

จากสเต็มเซลล์ประมาณ 500,000 เซลล์แบ่งตัวและเติบโตกลายป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงประมาณ 5 หมื่นล้านเซลล์ จะได้รับการคัดกรองอีกครั้งเพื่อหาเซลล์ที่เหมาะสมกับการปลูกถ่ายซึ่งเหลือประมาณ 1.5 หมื่นล้านเซลล์ เลือดเหล่านี้จะได้รับการติดแท็กเพื่อติดตามพวกมันเมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์ (โดยใช้วิธีที่ถูกคิดค้นโดยนักเคมีรางวัลโลเบลปี 2022) 

ในตอนนี้มีผู้เข้าร่วมการทดลอง 2 คนที่ได้รับการถ่ายเลือดโดยมีปริมาณราว 2-3 ช้อนชาก่อนในขั้นแรกเพื่อดูว่าเลือดสังเคราะห์นี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับร่างกายรวมทั้งอายุขัยของเซลล์จากห้องปฏิบัติเมื่อเทียบกับเซลล์เม็ดเลือดปกติ และทางทีมวิจัยหวังว่าจะขยายการทดลองเพิ่มกับอาสาสมัครอีก 10 คนซึ่งจะได้รับในปริมาณที่เพิ่มขึ้นไป 

“เราห่วงว่าห้องปฏิบัติการของเราจะขยายเซลล์เม็ดเลือดแดงได้นานกว่าเซลล์ที่มาจากผู้บริจาคโลหิต” ศ.เซดริก เกวาร์ต (Prof. Cedric Ghevaert) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าว “หากการทดลองของเรา ซึ่งเป็นครั้งแรกในโลกประสบความสำเร็จ ก็หมายความว่าผู้ป่วยที่ต้องการการถ่ายเลือดในระยะยาวเป็นประจำจะได้รับการถ่ายเลือดน้อยลงในอนาคต ซึ่งจะช่วยในเรื่องการดูแลพวกเขา” 

ศ.ทอย ระบุว่ากลุ่มเลือดบางกลุ่มนั้น “หายากจริง ๆ” และ “อาจมีเพียง 10 คนในประเทศเท่านั้น” ที่สามารถบริจาคได้ เช่นกลุ่มเลือดประเภทใหม่ที่มีชื่อว่า “บอมเบย์ (Bombay)” ซึ่งได้รับการค้นพบครั้งแรกในอินเดีย และปัจจุบันนั้นมีเพียง 3 หน่วยเท่านั้นที่อยู่ในคลังเก็บเลือดของสหราชอาณาจักร

“เราต้องการสร้างเลือดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในอนาคต” เขากล่าว “ดังนั้นวิสัยทัศน์ในหัวของผมจึงเป็นห้องที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่สามารถสร้างเลือดได้อย่างต่อเนื่องจากการบริจาคโลหิตตามปกติ” 

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

New hope for sickle cell patients as UK trial of lab grown red blood cells begins | Medical research | The Guardian

Lab-grown blood given to people in world-first clinical trial – BBC News

Lab-grown blood transfused to people in world-first clinical trial (cnbc.com)

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.