การขยายตัวของพื้นมหาสมุทร (Seafloor Spreading) คือ หนึ่งในทฤษฎีพื้นฐานทางธรณีวิทยาที่สำคัญที่สุดทฤษฎีหนึ่งในการศึกษาแผ่นเปลือกโลกและการแปรสัณฐานของแผ่นธรณีภาค ทฤษฎี โดย แฮร์รี แฮมมอนด์ นักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ได้เสนอทฤษฎีนี้ขึ้นในปี 1960 ว่า การเคลื่อนที่ออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกใต้ทะเลลึก เนื่องจากการพาความร้อนของเปลือกโลกในชั้นหลอมเหลวที่ทำให้ “มหาทวีป” ในอดีตหรือ “พันเจีย” (Pangaea) ตามทฤษฎีการเลื่อนไหลของทวีป (Theory of Continental Drift) เกิดการแยกตัวออกจากกัน จนกลายเป็นทวีปและมหาสมุทรต่าง ๆ ดังที่ปรากฏอยู่บนโลก ณ เวลานี้
หลักการของการขยายตัวของพื้นมหาสมุทร
ขยายตัวของพื้นมหาสมุทรเกิดจากการเคลื่อนที่ของหินหนืด (Magma) ใต้เปลือกโลก ที่ถูกผลักดันให้เคลื่อนตัวขึ้นสู่ผิวโลกจากการพาความร้อนของเปลือกโลกในชั้นหลอมเหลว (Mantle Convection) จนกระทั่งแผ่นธรณีภาค (Plate) เกิดการโก่งตัว ยกตัวขึ้น และแตกออกจากกัน ในท้ายที่สุด เกิดเป็นรอยแยกหรือร่องขนาดใหญ่ที่หินหนืดสามารถปะทุและแทรกตัวขึ้นมาบนเปลือกโลกกลายเป็น “ลาวา” (Lava) บนพื้นผิวดิน
เมื่อลาวาถ่ายโอนความร้อนและแรงดันจากใต้พิภพออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก แผ่นธรณีภาคจะเกิดการทรุดตัวลงกลายเป็นร่องลึก (Groove) พร้อมกับลาวาที่เย็นตัวลงกลายเป็นแนวหินคล้ายแนวสันเขาอยู่ตามขอบของรอยแยกดังกล่าวเกิดเป็น “เทือกสันเขาใต้สมุทร” (Mid-Oceanic Ridge)
นอกจากนี้ หินหนืดที่ดันตัวแทรกขึ้นมาตามรอยแยกและเย็นตัวลงอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้เกิดแรงดึงและแรงดันที่ผลักเปลือกโลกมหาสมุทรออกจากกัน โดยที่หินซึ่งมีอายุมากกว่าหรือหินที่เกิดขึ้นก่อนถูกผลักให้เคลื่อนที่ออกห่างจากแนวรอยแตกมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หินบริเวณพื้นมหาสมุทรที่อยู่ใกล้กับรอยแตกของเปลือกโลกจึงมีอายุน้อยกว่าพื้นสมุทรที่อยู่ห่างไกลออกไป การขยายตัวของพื้นมหาสมุทรจึงนับเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดแผ่นเปลือกโลกชุดใหม่อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกมหาสมุทร
ในปัจจุบัน เปลือกโลกมหาสมุทร (Oceanic Crust) มีรอยแยกและร่องลึกมากมายที่ทำให้หินหนืดปะทุและแทรกตัวขึ้นมาบนผิวโลก การแยกตัวออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกด้วยอัตราเร็วที่แตกต่างยังก่อให้เกิดร่องลึกมหาสมุทร (Ocean Trench) และภูมิประเทศในลักษณะต่าง ๆ เช่น
เทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Atlantic Ridge) ที่เกิดจากการแยกตัวออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกอย่างช้า โดยมีอัตราการเคลื่อนที่ออกจากศูนย์กลางอยู่ที่ราว 2 ถึง 5 เซนติเมตรต่อปี และการเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ นี่เองที่ทำให้รอยแยกบริเวณเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติกมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับแกรนด์แคนยอน (Grand Canyon)
อีกหนึ่งกรณีตัวอย่างคือ เนินเขามหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (East Pacific Rise) ที่มีอัตราการเคลื่อนที่ออกจากศูนย์กลางอยู่ที่ราว 6 ถึง 16 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งการขยายตัวของพื้นมหาสมุทรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ทำให้ร่องลึกมหาสมุทรไม่มีเวลาเพียงพอในการก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ
การขยายตัวของพื้นมหาสมุทรเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีภาค เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนกระทั่งเปลือกโลกมหาสมุทรเคลื่อนที่ชนเข้ากับเปลือกโลกทวีป (Continental Crust) ซึ่งในบางกรณี การเคลื่อนที่ชนกันของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 สามารถก่อให้เกิดทั้งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด เช่น เนินเขามหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (East Pacific Rise) ที่การขยายตัวของพื้นสมุทรจะค่อย ๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่นและร่องลึกมหาสมุทรที่มีความยาวรวมกันกว่า 40,000 กิโลเมตร ขณะที่ในบางกรณี การปะทะกันไม่ก่อให้เกิดกิจกรรมที่รุนแรงใด ๆ นอกจากทำให้เปลือกโลกมหาสมุทรกลายเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกโลกทวีปนั่นเอง
สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/seafloor-spreading/
http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34154
https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-earth/m4-earth-book1/earth-m4b1-004/