อาณาจักรโพรทิสตา (Protista) คือ 1 ใน 5 อาณาจักรของสิ่งมีชีวิต (Kingdoms of Life) บนโลกจากการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตตามหลักอนุกรมวิธานวิทยา (Taxonomy)
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตยุคแรกเริ่มที่ถูกเรียกรวมกันว่า “โพรทิสต์” (Protist) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นจากเซลล์ยูแคริโอตเพียงเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ที่ยังไม่ถูกพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อ โดยมีลักษณะและองค์ประกอบภายในที่แตกต่างออกไปจากทั้งเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ เช่น สาหร่าย อะมีบา และโพรโตซัว โดยโพรทิสต์ถือเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งบนโลก เป็นสิ่งมีชีวิตเรียบง่ายที่มีความสมบูรณ์พร้อมในตนเอง สามารถอาศัยอยู่ทั้งบนบก ในน้ำ และบนร่างกายของพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้แล้วมากกว่า 200,000 ชนิด
[โพรทิสตา (Protista) มาจากคำว่า “โพรทิสโตส” (Protistos) ที่มีความหมายว่า “แรกเริ่ม” ในภาษากรีก]
ลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตา
มีโครงสร้างร่างกายเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน : โพรทิสต์ส่วนใหญ่เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว (Unicellular Organism) และอาจมีโพรทิสต์บางชนิดที่ประกอบขึ้นจากเซลล์จำนวนมาก (Multicellular Organism) ที่อยู่รวมกลุ่มกันเป็นโคโลนี (Colony) หรือเป็นสาย (Filament) โดยที่การอยู่ร่วมกันของเซลล์จำนวนมากเหล่านี้ ยังไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาจนกลายไปเป็นเนื้อเยื่อ (Tissue) และอวัยวะ (Organ) แต่ยังดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตอย่างครบถ้วนและเป็นอิสระ
มีเซลล์แบบยูแคริโอต (Eukaryotic Cells) : เซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส (Nucleus Membrane) โดยมีลักษณะของออร์แกเนลล์ (Organelle) ภายในเซลล์แตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มของสิ่งมีชีวิต อย่างเช่น การมีผนังเซลล์ (Cell Wall) และคลอโรพลาสต์ (Chloroplast) ภายในเซลล์ของสาหร่ายชนิดต่าง ๆ
ไม่มีระยะเอ็มบริโอ (Embryo) : วงจรชีวิตของโพรทิสต์แตกต่างไปจากพืชและสัตว์ที่มีระยะของตัวอ่อนก่อนการเจริญเติบโต
มีการดำรงชีพในหลายลักษณะ : ทั้งการเป็นผู้ผลิต (Producer) ผู้บริโภค (Consumer) และผู้ย่อยสลาย (Decomposer) ในระบบนิเวศ รวมถึงความสามารถในการเคลื่อนที่ ซึ่งโพรทิสต์บางชนิดมีขน (Cilia) หรือหนวด (Flagellum) รวมไปถึงขาเทียมที่เรียกว่า “ซูโดโพเดียม” (Pseudopodium) ไว้ใช้ในการเคลื่อนไหว
มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ : โพรทิสต์ส่วนใหญ่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศผ่านการแบ่งเซลล์ (Cell Division) ขณะที่การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้น เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์สืบพันธุ์ที่มีขนาดและรูปร่างคล้ายคลึงกันที่เรียกว่า “คอนจูเกชัน” (Conjugation) อย่างเช่นที่พบในราดำหรือพารามีเซียม (Paramecium) รวมถึงการปฏิสนธิ (Fertilization) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเซลล์สืบพันธุ์ที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันอย่างที่พบในสาหร่าย เป็นต้น
โครงสร้างของโพรทิสต์
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรโพรทิสตาสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ตามรูปแบบการดำรงชีวิต (Lifestyle)
โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายสัตว์ (Zoo-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ เช่น โพรโตซัว (Protozoa) ซึ่งกินอาหารผ่านทางช่องปากและมีระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายคล้ายสัตว์
โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายพืช (Plant-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (Photosynthesis) เช่น สาหร่ายชนิดต่าง ๆ (Algae) ทั้งสาหร่ายเซลล์เดียว (Unicellular Algae) และสาหร่ายหลายเซลล์ (Multicellular Algae) ที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดและทะเลสาบ
โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายรา (Fungi-Like Protist) คือ กลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ แต่ใช้วิธีการย่อยสลายและดูดซึมสารอาหารภายนอกเข้าสู่ร่างกาย เช่น ราเมือก (Slime Mold) ที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายรา แต่โพรทิสต์ที่มีลักษณะคล้ายราเหล่านี้ มีองค์ประกอบภายในเซลล์แตกต่างจากราทั่วไป อย่างเช่น ความสามารถในการสร้าง “แฟลกเจลลา” (Flagella) และการมีเซลลูโลส (Cellulose) เป็นองค์ประกอบหลักภายในผนังเซลล์ ซึ่งแตกต่างไปจากการมีสารไคติน (Chitin) เป็นองค์ประกอบหลักเหมือนในผนังเซลล์ของเห็ดราทั่วไป
สืบค้นและเรียบเรียง คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย
ข้อมูลอ้างอิง
https://byjus.com/biology/protista/
https://biology.mwit.ac.th/Resource/BiodiverPDF/5_diver_protista.pdf
http://www.sysp.ac.th/files/1403271111004763_14042614140043.pdf
http://www.satriwit3.ac.th/files/111006099215982_11111818180307.pdf