ไมโคพลาสมา(Mycoplasma pneumoniea) เป็นเชื้อ แบคทีเรียก่อโรค ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่สามารถสร้างการติดเชื้อในส่วนต่างๆ ของร่ายกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ปอด ผิวหนัง ทางเดินปัสสาวะ หรือแม้แต่ระบบสืบพันธุ์ ขึ้นอยู่กับชนิดเชื้อ แต่ส่วนใหญ่จะโจมตีที่ปอด ทำให้ผู้ติดเชื้อหลายคนเกิดอาการปอดอักเสบ หรือปอดบวม
อาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้ว่าติดเชื้อไมโคพลาสมาจะคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียส, ไอแห้งอาจมีเสมหะขาว ผู้ป่วยหลายคนมีอาการไอบ่อย จนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก, เจ็บคอ คันคอ, เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ, ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอาจพบผื่นแดง โดยหลายคนสามารถหายได้เอง
ขณะเดียวกัน บางคนอาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและภูมิคุ้มกันที่ทำการตอบสนอง เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Mycocarditis) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหมดสติจากหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ หรือเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้เช่นกัน, ภาวะสมองอักเสบ (meningoencenphalitis) ทำให้เกิดไข้สูง ชัก หรือหมดสติ
แบคทีเรียชนิดนี้สามารถแพร่เชื้อได้เช่นเดียวกับหวัดด้วยการหายใจสูดเอาละอองเข้าไปจากคนสู่คน โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดและผ่านคนในครอบครัว ในประเทศไทย เคยมีรายงานการระบาดที่ จ.อุตรดิตถ์ แล้วเมื่อปี 2012 โดยผู้ติดเชื้อเป็นทหารเกณฑ์ผลัดหนึ่ง ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ปอดอักเสบ และแพร่ระบาดภายในกลุ่ม
จากการสอบสวนโรคพบว่ามีผู้ป่วย 96 รายซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ทั้งหมด ในจำนวนนี้มี 15 รายที่มีอาการรุนแรงและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
นอกจากนี้เมื่อปี 1988 เคยมีรายงานว่าพบผู้ป่วย 1 รายที่เกิดอาการหัวใจช็อก เป็นเด็กชายไทยอายุ 14 ปีและเข้ารับการรักษาที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาฯ
โดยแพทย์วินิจฉัยกรณีนี้ว่าเกิดภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อยึดลิ้นหัวใจที่มาจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเชื่อว่าเกิดจากเชื้อไมโคพลาสมาทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ยืนยันถึงความคิดนี้ รวมทั้งไม่มีการรายงานว่าเสียชีวิตหรือไม่
โดยการพยากรณ์โรคพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้ แต่บางรายยังคงภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย และบางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็พบได้น้อยมาก
โดยปกติแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม ‘Marcrolides’ หรือ ‘Doxycycline’ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ ยกเว้นรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง กระนั้นก็มีเชื้อบางชนิดที่ดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน
เช่นเดียวกับโรคหวัดและโควิด-19 การใส่หน้ากากป้องกันจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้มาก รวมถึงล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เป็นต้น