นักวิทยาศาสตร์จะ ‘ยืดวันตาย’ ชะลอวัย มนุษย์ได้นานเพียงไหน

นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยใหม่ล่าสุดเผยความซับซ้อนว่าด้วยความชราของมนุษย์ และเสาะหาวิธี ชะลอวัย หรือกระทั่งย้อนกระบวนการดังกล่าว

ชะลอวัย – นักวิทยาศาสตร์ทำให้หนูอายุยืนขึ้นอย่างยอดเยี่ยม ยาราพาไมซิน (Rapamycin) ที่แพทย์สั่งอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันการปฏิเสธอวัยวะหลังปลูกถ่าย เพิ่มอายุคาดเฉลี่ยให้หนูวัยกลางคนได้สูงถึงร้อยละ 60 ยาเซโนลิทิก (senolytic) ช่วยให้หนูสูงวัยแข็งแรงมีชีวิตชีวาไปอีกนาน หลังเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันตายจากไปแล้ว การใช้ยาเมตฟอร์มิน (metformin) และเอคาร์โบส (acarbose) ที่รักษาโรคเบาหวาน การจำกัดแคลอรีอย่างสุดขั้ว และการแทรกแซงอื่นๆ ทำให้หนูวิ่งไปทั่วกรงในห้องปฏิบัติการได้อีกนานหลังครบอายุขัยตามปกติ วิธีใหม่ล่าสุดคือ การเจาะเข้าสู่กระบวนการสูงวัยเพื่อโปรแกรมเซลล์แก่ๆให้ย้อนกลับสู่ภาวะอ่อนเยาว์กว่าเดิม

“ถ้าเราเป็นหนูก็โชคดีเลยค่ะ เพราะมีวิธียืดอายุขัยสารพัด” ซินเทีย เคเนียน นักชีววิทยาระดับโมเลกุล บอก ผลงานที่เป็นความก้าวหน้าสำคัญเมื่อหลายสิบปีก่อนของเธอเป็นตัวเร่งกระแสคลั่งไคล้การทำวิจัยด้านนี้ในปัจจุบัน “และหนูอายุยืนก็ดูมีความสุขมากๆค่ะ”

แล้วมนุษย์ล่ะ นักวิทยาศาสตร์ยืดอายุขัยของเราได้มากแค่ไหน และพวกเขาควรทำมากเพียงใด ในช่วงปี 1900 ถึง 2020 อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์สูงขึ้นกว่าสองเท่า เป็น 73.4 ปี แต่การได้มาอันน่าทึ่งนี้ต้องแลกด้วยการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจของโรคเรื้อรังและโรคจากความเสื่อมต่างๆ ความชรายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดของโรคมะเร็ง โรคหัวใจ อัลไซเมอร์ เบาหวานชนิดที่สอง ข้ออักเสบ โรคปอด และโรคสำคัญอื่นๆเกือบทั้งหมด

เพื่อทำความเข้าใจความชรา นักวิจัยมองหาเงื่อนงำต่างๆ จากสัตว์ เช่น การศึกษาของโครงการวิจัยบาบูนอัมโบเซลี ในเคนยาที่ทำต่อเนื่องมา 51 ปีแล้ว ในฐานะส่วนหนึ่งของงานวิจัยดังกล่าว เบนาร์ด โอยาท และแจ็กสัน วารูแทร์ เตรียมเก็บตัวอย่างเลือดและอื่นๆ จากลิงบาบูนชื่อ โอลดูไว นักวิทยาศาสตร์ของโครงการดังกล่าวพบว่า บาบูนที่มีสายสัมพันธ์ทางสังคมแน่นแฟ้นในวัยผู้ใหญ่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบทางสุขภาพอันตรายที่เกิดจากความเครียด ในวัยเด็กได้ (ภาพถ่าย: นิโคล โซเบกกี)
ไม่กี่วินาทีหลังคลอด ตอมมาโซ ชิตตี ได้รับการตรวจสัญญาณชีพที่โรงพยาบาลโบเรอการ์ในอาโอสตา ประเทศอิตาลี ปัจจุบันเด็กที่เกิดในประเทศเจริญแล้วมีแนวโน้มสูงที่จะอายุยืนยาวถึงวัย 90 ขณะที่โลกมีผู้สูงอายุมากขึ้นอย่างมาก งานวิจัยด้านการชะลอวัยหรือย้อนวัยก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ (ภาพถ่าย: เมลานี ว็องแฌร์)

แต่หากการทดลองในหนูเหล่านั้นนำไปสู่ยาที่สามารถชำระล้างความเสียหายทางโมเลกุลและชีวเคมีได้ลึกถึงรากเหง้าของปัญหาสุขภาพสารพัดในวัยชรา หรือการบำบัดรักษาที่ช่วยชะลอ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือป้องกัน ความเสียหายของเซลล์และผลข้างเคียงแย่ๆ จนทำให้คนจำนวนมากขึ้นอยู่ถึงวัยกลาง 80 หรือ 90 โดยไม่เจ็บปวดหรือมีโรครุมเร้า และใช้ชีวิตบั้นปลายที่มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกันไป คนจำนวนมากขึ้นอาจอยู่ได้ถึงจุดที่เชื่อว่าเป็นอายุขัยสูงสุดตามธรรมชาติของมนุษย์ นั่นคือ 120 ถึง 125 ปี ซึ่งมีน้อยคนเฉียดกรายเข้าไปใกล้ ในประเทศอุตสาหกรรม ผู้คนราวหนึ่งใน 6,000 มีอายุแตะร้อย ขณะที่หนึ่งในห้าล้านอายุเกิน 110 ปี

ชีววิทยาของมนุษย์ดูเหมือนจะสามารถปรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้อายุยืนมากขึ้นได้ ความร่ำรวยเกินจินตนาการกำลังรอคอยผู้ใดก็ตามที่ไขปริศนานี้ได้ จึงไม่แปลกที่นักลงทุนทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับความพยายามดังกล่าว กูเกิลนำหน้าโดยลงทุนเปิดบริษัทคาลิโคไลฟ์ไซแอนเซส (Calico Life Sciences) เมื่อปี 2013 ซึ่งมีเคเนียนเป็นรองประธานฝ่ายวิจัยความชรา

งานนี้ต้องอาศัยทั้งปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กเดตา (big data หรือแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่) การโปรแกรมเซลล์ย้อนกลับ และความเข้าใจที่ดีขึ้นเรื่อยๆเกี่ยวกับโมเลกุลจำนวนมหาศาลที่ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ นักวิจัยบางคนพูดเรื่อง “การรักษา” ความชราแล้วด้วยซ้ำ

มีร์ซาดา เมฮีนาจิช วัย 65 ปี เล่นไกวชิงช้าให้เซลมา หลานสาววัยสองขวบ ขณะที่มีร์ซัด สามีวัย 66 ปีของเธอ นั่งดูอย่างอารมณ์ดีบนชานบ้านในซาราเยโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เธอบอกว่า “เวลาอยู่กับเด็กๆ ฉันต้องร้องเพลงและกระโดดเยอะมาก ทำให้กระชุ่มกระชวยค่ะ” มนุษย์วิวัฒน์มาให้ทำกิจกรรมต่างๆ วิถีชีวิตนั่งๆ นอนๆ แบบคนแก่ จึงมีความเสี่ยง เพียงแค่ออกกำลังเบาๆ ก็ทำให้สุขภาพกายและใจดีขึ้นได้แล้ว (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์)
สัตวแพทย์โรคหัวใจ ไรอัน เบามวร์ต ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงให้สุนัขชื่อ โจพัป ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สเตตในพูลล์แมน นี่เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาของเคเบอร์เลนว่า ยาราพาไมซินมีศักยภาพชะลอวัยหรือไม่ (ภาพถ่าย:เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)

มนุษย์ไล่ตามความฝันที่จะคงความเยาว์วัยชั่วนิรันดร์มาหลายร้อยปีแล้ว แต่การศึกษาเรื่องความชราและอายุวัฒนะกลับเป็นความล้าหลังทางวิทยาศาสตร์ที่หยุดนิ่งกระทั่ง 30 ปีที่แล้วนี่เอง เมื่อซินเทีย เคเนียน ประสบปัญหาในการหานักวิจัยรุ่นใหม่ๆมาช่วยทำการทดลองที่จะขยายศาสตร์นี้ออกไป ตอนนั้นเธอทำงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนแฟรนซิสโก และปรับแต่งยีนตัวหนึ่งในพยาธิตัวกลมที่ชื่อ ซี. เอเลแกนส์ ทำให้อายุขัยของมันเพิ่มขึ้นสองเท่า หนอนกลายพันธุ์เหล่านั้นแสดงพฤติกรรมเด็กลงเช่นกัน โดยคืบคลานอย่างกระฉับกระเฉงใต้กล้องจุลทรรศน์ ขณะที่หนอนตัวอื่นๆซึ่งมียีนปกตินอนนิ่งเหมือนท่อนไม้

การค้นพบอันน่าตื่นตะลึงของเคเนียนชี้ว่า ความชราสามารถปรับแปลงได้ เพราะมียีน วิถีของเซลล์ และสัญญาณชีวเคมีต่างๆเป็นตัวควบคุม “ทุกอย่างขยับจากโลกอันคลุมเครือมาสู่วิทยาศาสตร์อันคุ้นเคยที่ทุกคนเข้าใจได้” เธอบอก “และใครๆก็สามารถทำได้ คนจึงเริ่มหันมาศึกษามากขึ้นค่ะ”

แต่การยืดอายุหนอนและหนูได้ก็ใช่ว่าจะได้ผลในมนุษย์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ยาเซโนลิทิก ซึ่งฆ่าเซลล์ก่อความเสียหายที่เพิ่มพูนขึ้นตามวัย ดูน่าจะเป็นยาชะลอวัยตัวแรกที่ผ่านกระบวนการทดสอบถึงขั้นอนุมัติให้ใช้งานได้ ทว่าการทดลองทางคลินิกช่วงแรกๆครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการศึกษาเวชปฏิบัติในการรักษาโรคข้อเสื่อมที่คนตั้งตารอ กลับพบว่ายานี้ลดอาการบวมหรือความเจ็บปวดของข้อต่อได้ไม่ต่างไปจากยาหลอก

รอเชลล์ บัฟเฟนสตีน ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตชิคาโก ตรวจตุ่นหนูไร้ขน เธอศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอายุยืนชนิดนี้หลายสิบปีแล้ว เพื่อหาวิธีนำลักษณะสืบสายพันธุ์เฉพาะของมันมาปรับใช้เพื่อป้องกันผลร้ายบางประการจากความชราในมนุษย์ (ภาพถ่าย: เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)
ค้างคาวปีกเหลืองพักอยู่บนมือนักชีววิทยาในยูกันดา ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 19 ชนิดที่มีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์เมื่อเทียบตามสัดส่วนของขนาดร่างกาย 18 ชนิดคือค้างคาว (อีกชนิดหนึ่งคือตุ่นหนูไร้ขน) ค้างคาวทำให้นักวิทยาศาสตร์ทึ่งเพราะพวกมันเป็นพาหะของไวรัสที่ก่ออันตรายถึงชีวิต แต่กลับไม่ได้รับผลกระทบใดๆ (ภาพถ่าย:นิโคล โซเบกกี)

ขณะนี้ นักวิจัยและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพกำลังทดสอบยาเซโนลิทิกในการรักษาอัลไซเมอร์ระยะแรก ภาวะลองโควิด (long COVID) โรคไตเรื้อรัง ภาวะอ่อนแอหลังหายจากมะเร็ง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ทำให้ตาบอด การทดลองทางคลินิกของสารประกอบชะลอวัยอื่นๆก็อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นกัน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มียาระดับการทดลองที่ให้ผลน่าทึ่งในหนูขนานใดได้รับการอนุมัติให้ใช้และจำหน่ายในท้องตลาดได้

“มีแนวทางแตกต่างมากมายค่ะ” เคเนียนบอกและเสริมว่า “เราไม่รู้ว่าจะมีวิธีหนึ่งวิธีใดในนั้นได้ผลหรือไม่ บางทีมันอาจได้ผลทั้งหมด! หรือบางที การใช้หลายวิธีร่วมกันอาจให้ผลดีเยี่ยม เราแค่ต้องลองทำหลายๆอย่าง และนั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ค่ะ”

ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไร หรือจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่เทคโนโลยีอันทะเยอทะยานจะได้ผลกับมนุษย์เหมือนที่สำเร็จอย่างงดงามในหนู แต่ขณะเดียวกัน เราก็มีวิธีรับมือความชรามากมาย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดศึกษาข้อมูลหลายสิบปีจากผู้ใหญ่ 123,219 คนในสหรัฐฯ และพบกิจวัตรหรือนิสัยห้าประการที่อาจเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยได้ถึง 14 ปีในผู้หญิงและ 12 ปีในผู้ชาย นั่นคือ กินอาหารดี ออกกำลังเป็นประจำ น้ำหนักตัวเหมาะสม งดบุหรี่ และไม่ดื่มหนักเกินไป

“อย่ากินเยอะเกิน” กราเซีย กอสมาโน วัย 102 ปี บอก และกินผักผลไม้เป็นหลัก “ทำให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้” นั่นคือวิธีที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งในคนวัยเกินร้อยที่มีอยู่มากเป็นพิเศษในภูมิภาคกาลาเบรียของอิตาลี ตามที่วัลเทอร์ ลองโก นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย บอก เขารู้จักกอสมาโนตั้งแต่เด็กเพราะพ่อแม่ของเขามาจากเมือง โมโลกีโอเหมือนเธอ ลองโกศึกษาคนวัยเกินร้อยในกาลาเบรียกับอาหารที่พวกเขากิน และเพิ่มชื่อกอสมาโน ในการศึกษาของเขาเมื่อเธออายุครบ 100 ปี (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์)
โจน วาเลนไทน์ วัย 90 ปี ทดสอบการเดินที่โรงพยาบาลฮาร์เบอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาด้านอายุวัฒนะระยะ ยาวของบอลทิมอร์ นับตั้งแต่มาที่นี่ครั้งแรกเมื่อปี 2012 เธอกลับมาแปดครั้ง การศึกษาที่เริ่มต้นเมื่อปี 1958 เป็นหนึ่ง ในการศึกษาที่กินเวลานานที่สุด นักวิจัยติดตามชีวิตคนกว่า 3,200 คน โดยบางคนนานกว่า 50 ปี พวกเขาเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ วัดพละกำลังและความกระฉับกระเฉง ประเมินกระบวนการทำงานของสมอง และตรวจร่างกาย ที่ผ่านมาข้อมูลนี้ถูกนำไปใช้ในบทความทางวิชาการหลายพันฉบับ (ภาพถ่าย: เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)

“ผมคิดว่าสิ่งที่ให้ผลคุ้มค่าความพยายามมากที่สุด ถ้าจะเลือกทำแค่อย่างเดียว ซึ่งผมไม่แนะนำนะครับ คือการออกกำลังกาย” แมตต์ เคเบอร์เลน ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาและเวชศาสตร์ชันสูตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความชราและอายุวัฒนะที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน บอก

เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวจริง ไม่ใช่กูรูด้านการออกกำลังกาย แต่ไม่ว่าจะยุ่งเพียงใด เคเบอร์เลนในวัย 51 ปีจะหาเวลาสัปดาห์ละสามครั้งออกกำลังกายในโรงรถที่เขาดัดแปลงเป็นโรงยิมชั่วคราว และยกเวตเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ “สำหรับคนอายุเกิน 50 ส่วนใหญ่ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเนื่องจากการใช้ชีวิตนั่งๆ นอนๆ มักเป็นตัวทำนายสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการมีสุขภาพแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้นครับ” เขาบอก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่า โปรแกรมการออกกำลังกายรูปแบบใดช่วยให้เราสุขภาพดีและแข็งแรงมากที่สุดเมื่ออายุมากขึ้น เช่นเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการก็เห็นไม่ตรงกันเรื่องอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่สุด

เพื่อชะลอภาวะสมองเสื่อมของดอน ลืช แพทย์แนะนำให้เขาเรียนรู้ทักษะใหม่ เขาเริ่มเรียนศิลปะเมื่อปี 2019 และวาดภาพกว่า 17,000 ภาพ งานอดิเรกนี้ช่วยให้ชายวัย 77 ปีที่ชอบเข้าสังคมผ่านช่วงกักตัวจากการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในบ้านที่แมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ได้ “การวาดภาพทุกวันในช่วงเวลานี้ช่วยชีวิตเราค่ะ เพราะสมองของเขาหมกมุ่น อยู่กับกระบวนการสร้างสรรค์ที่เขารัก” เจนนี วิลล์ว็อก ภรรยาของดอน บอก (ภาพถ่าย: เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)
แมตต์ เคเบอร์เลน ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน วัย 51 ปี ยกน้ำหนักในท่าเดดลิฟต์ ได้ 138 กิโลกรัมในโรงรถที่เมืองนอร์ทเบนด์ รัฐวอชิงตัน เขาเชื่อว่าการออกกำลังกายคือวิธีป้องกันโรคและความ ด้อยสมรรถภาพในวัยชราที่สำคัญที่สุด แต่เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เขาหวังว่าจะมียาที่ช่วยได้ เคเบอร์เลนกำลังศึกษาว่า ยาราพาไมซินที่ใช้ป้องกันการปฏิเสธอวัยวะใหม่ของร่างกาย สามารถเพิ่มอายุขัยและลดการเกิดโรค จากความชราในสุนัขได้หรือไม่ เหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกศึกษาสัตว์เลี้ยงเพราะพวกมันใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์และอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันกับเรา (ภาพถ่าย: เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์)

การศึกษาในสัตว์พบหลักฐานน่าทึ่งว่า การจำกัดแคลอรีอย่างรุนแรงเพิ่มอายุขัยได้ ทว่านั่นเป็นความจริงสำหรับมนุษย์หรือไม่ก็ยากจะบอกได้ สถาบันสูงอายุแห่งชาติ (National Institute on Aging) ของสหรัฐฯริเริ่มโครงการศึกษาขนาดใหญ่เมื่อยี่สิบปีก่อนเพื่อวัดผลกระทบของอาหารที่ลดแคลอรีลงร้อยละ 25 แต่เอาเข้าจริงอาสาสมัครกลับลดแคลอรีลงได้เพียงร้อยละ 12 เท่านั้น ฉันนึกถึงแพทย์ที่บอกฉันว่า อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดคืออาหารที่เรารับประทานได้อย่างสม่ำเสมอ

เบกกา เลวี ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการระบาดและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเยล ชี้อิทธิพลที่สำคัญและควบคุมได้อีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการมีอายุยืนอย่างสุขภาพดี นั่นคือทัศนคติที่มีต่อความชราของเรา ในการศึกษาหนึ่งซึ่งนำไปทำซ้ำทั่วโลก เลวีพบว่าคนวัย 30 และ 40 ที่มีความคาดหวังเชิงบวกต่อวัยชรา เช่น เปรียบวัยชรากับสติปัญญา แทนที่จะเป็นความเสื่อมสภาพ มีแนวโน้มจะมีสุขภาพดีในอีกหลายสิบปีหลังจากนั้นมากกว่า ในอีกการศึกษาหนึ่ง เธอพบว่าผู้สูงอายุที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความชรามีแนวโน้มจะฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บที่ทำให้พิการได้เต็มที่กว่ามาก และในอีกการศึกษาหนึ่ง เธอพบว่าทัศนคติเชิงบวกต่อความชราเกี่ยวข้องกับการมีความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ต่ำ เลวีพบว่าคนที่มีทัศนคติเชิงบวกที่สุดต่อความชรามีอายุยืนยาวกว่าคนที่มีทัศนคติเชิงลบที่สุดเฉลี่ยเจ็ดปีครึ่ง

ทืน ทูเบส (กลาง) พูดคุยกับผู้พำนักในบ้านพักคนชราสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะสมองเสื่อมในเมืองยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ หนุ่มวัย 23 ปีอยู่ที่นั่นกว่าสองปีแล้ว โดยกินอยู่ฟรีแลกกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัย “ผมเชื่อว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสังคมที่สวยงาม เท่าเทียม และโอบรับทุกคนครับ” เขาบอก (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์)
อาร์โนลด์ แคมเฟอร์แมน ทิ้งดิ่งจากความสูงราว 2,000 เมตรเหนือเกาะอาเมอลองด์ นอกชายฝั่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะครูฝึกการโดดร่มดิ่งพสุธาที่ยังไม่หยุดสอน ชายวัย 69 ปีกระโดดจากเครื่องบินกว่า 20,800 ครั้งแล้ว “ผมไม่ยังอยากหยุดในเร็ววันนี้หรอกครับ” เขาบอก คำแนะนำสำหรับการมีอายุยืนอย่างสุขภาพดีของเขาก็คือ “อย่าหยุดเล่น เป็นอันขาด” (ภาพถ่าย: แจสเปอร์ ดูเอสต์ และแอรอน มอลลอย)

การอ่านงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามไขปริศนาความชรา อาจทำให้ยากจะรู้สึกดีกับการมีอายุมากขึ้น แนวคิดในการ “รักษา” ความชรามองว่ามันเป็นพยาธิสภาพ รายงานการวิจัยทั่วไปมักเริ่มต้นว่า “ความชราคือกระบวนการเสื่อมสภาพที่นำไปสู่การไม่ทำงานของเนื้อเยื่อและการเสียชีวิต” ระหว่างศึกษาเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็ตื่นเต้นกับความเป็นไปได้ของการค้นพบที่ก้าวล้ำต่างๆ แต่ก็สะท้อนใจเมื่อนึกถึงตัวเองที่กำลังย่างเข้าสู่วัย 68 ปีด้วย

จากนั้นฉันก็คิดไปถึงแม่ของฉัน ซึ่งยังคงสนุกกับชีวิตในวัยปลาย 90 งานวิจัยของเบกกา เลวี ทำให้ฉันเชื่อว่า ทัศนคติของแม่อธิบายความมีชีวิตชีวาของท่านได้อย่างน้อยก็บางส่วน ฉันไม่เคยได้ยินแม่บ่นเรื่องวันเกิดหรือพูดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้เพราะแก่เกินไป อันเป็นสิ่งที่ฉันเริ่มได้ยินจากเพื่อนวัยเดียวกัน

“ไม่จ้ะ” แม่บอกเมื่อฉันพูดเรื่องนี้ “แม่ไม่แก่เกินไปเลย แม่อาจทำอะไรช้าลง และอาจทำน้อยลง แต่แม่ไม่ได้แก่เกินไปที่จะเต้นหรือเดินหรือทำอะไรที่อยากทำ”

ท่านหยุด “แต่แม่จะไม่ว่ายน้ำอีกต่อไปแล้วละ”
“เพราะแม่ไม่ได้ว่ายมานานแล้วอย่างนั้นหรือคะ”
“เพราะแม่ไม่ชอบรูปร่างของตัวเองเวลาสวมชุดว่ายน้ำน่ะจ้ะ”

เรื่อง แฟรน สมิท

ภาพถ่าย แจสเปอร์ ดูเอสต์, เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์,

นิโคล โซเบกกี และเมลานี ว็องแฌร์

ติดตามสารคดี มีชีวิตยาวนานและดีกว่าเดิม ฉบับสมบูรณ์ ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมกราคม 2566

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/567622


อ่านเพิ่มเติม ความก้าวหน้าของศาสตร์ชะลอวัยในไทย ด้วยโมเลกุล ‘ มณีแดง ‘

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.