ทีมงานได้ยืนยันถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์นอกระบบชื่อ Wolf 1069b โดยสิ่งที่พิเศษของมันคือการเป็นดาวเคราะห์หินที่มีมวลประมาณ 1.26 ของโลก มีขนาด 1.08 เท่าของโลก และยังโคจรอยู่ในแถบที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย
แม้ว่านักดาราศาสตร์จะมีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาแล้วกว่า 5,200 ดวง แต่ในจำนวนเหล่านั้นมีน้อยกว่า 200 ดวงที่เป็นดาวเคราะห์หิน และยิ่งน้อยลงไปอีกที่จะพบดวงดาวขนาดเท่าโลก ซึ่งมีเพียงร้อยละ 1.5 หรือราว 78 ดวงเท่านั้น ดังนั้นการพบดวงดาวที่คล้ายโลกจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ
Wolf 1069b มีลักษณะบางอย่างคล้ายดาวพุธของเราในระบบสุริยะ นั่นคือมันมีคาบการโคจรที่ใกล้มาก ซึ่งใช้เวลาเพียง 15.6 วัน คิดเป็นการโคจรที่ใกล้กว่าโลกของเราถึง 15 เท่า เและจากการเป็นดาวแคระแดง หรือดาวฤกษ์ที่มีขนาดเล็กและอุณหภูมิต่ำกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้ Wolf 1069b ได้รับแสงประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับแสงที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ สิ่งนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่อาศัยบนดวงดาวได้
“เมื่อเราวิเคราะห์ข้อมูลของดาว Wolf 1069 เราค้นพบสัญญาณที่ชัดเจนและมีแอมพลิจูดต่ำของสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลประมาณเท่าโลก” ไดอาน่า คอสสกอฟกี (Diana Kossakowski) นักดาราศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อดาราศาสตร์ (Max Planck Institute for Astronomy) ในเยอรมนีและเป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้กล่าวในแถลงการณ์
นอกจากนี้ คุณลักษณะเฉพาะอีกอย่างหนึ่งของมันคือสิ่งที่เรียกว่า ไทดัลล็อก (Tidal Lock) ซึ่งทำให้ดาวเคราะห์ถูกล็อกด้านหนึ่งไว้ให้หันหน้าเข้าดาวฤกษ์เสมอ ขณะที่อีกด้านหนึ่งจะเป็นด้านมืดเสมอ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นต่อดวงจันทร์ของเรา แม้ว่าจะไม่มีกลางวันกลางคืน แต่นักดาราศาสตร์ชี้ว่าตรงกลางระหว่างสองเขตนี้สามารถอาศัยอยู่ได้
การค้นพบนี้เกิดจากเครื่องมือที่มีชื่อว่า CARMENES ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 3.5 เมตร ที่หอดูดาว Calar Alto ประเทศสเปน มันสามารถสังเกตวัตถุทางดาราศาสตร์โดยใช้เครื่องแยกคลื่นแสง ทำให้มันตรวจพบว่าดาวฤกษ์ Wolf 1069b มีการแกว่งเล็กน้อยซึ่งเกิดจากการโคจรของดาวเคราะห์ แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจหาร่องรอยทางเคมีของสิ่งมีชีวิตได้
“เราอาจต้องรออีก 10 ปีสำหรับสิ่งนี้” คอสสกอฟกีกล่าว “ด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าคอยติดตาม บางทีลูกหลานของเราอาจได้สัมผัสกับการพบชีวิตบนดาวดวงอื่น”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by NASA/Ames Research Center/Daniel Rutter
ที่มา
https://www.aanda.org/component/article?access=doi&doi=10.1051%2F0004-6361%2F202245322&fbclid=IwAR2KMIGrZ8Mn5MuG8jwQ8FeM7Gt6a7ALZ-iXU25XKa1YmiUWtFMFal4VPp0
https://www.sciencealert.com/astronomers-find-what-may-be-a-habitable-world-31-light-years-away
https://www.space.com/wolf-1069-b-exoplanet-habitable-earth-mass-discovery
บทความที่เกี่ยวข้อง