นกโรบิ้นเป็นนกที่ขึ้นชื่อว่ามีไข่สีฟ้าสดใส แต่บรรพบรุษของมันอย่างไดโนเสาร์มีขนนั้นอาจเบียดมันให้ตกจากแชมป์ความสวยงามนี้
จากการศึกษาฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ ในประเทศจีน ทีมนักวิจัยพบหลักฐานชี้ว่าไดโนเสาร์เองก็วางไข่สีฟ้า-เขียว ซึ่งเชื่อกันว่าสีสันเหล่านี้มีขึ้นเพื่อลวงตาของผู้ล่ารายอื่นๆ การค้นพบครั้งนี้ก่อให้เกิดข้อสันนิษฐานตามมา: “ทุกคนเคยคิดกันว่าไข่ไดโนเสาร์จะเป็นสีขาว” Jasmina Wiemann ผู้ศึกษาวิจัยครั้งนี้จากมหาวิทยาลัยเยลกล่าว
นกส่วนใหญ่วางไข่เป็นสีขาว เช่นเดียวกันกับเต่า, สัตว์เลื้อยคลานและจระเข้ และในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่วางไข่อย่างตุ่นปากเป็ดและอิคิดนาเองก็เช่นกัน เหตุผลก็คือ นักปักษีวิทยาเชื่อว่าสีสันของเปลือกไข่เพิ่งจะถูกวิวัฒนาการขึ้นภายหลังโดยนกบางกลุ่มหลังไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว
“แนวคิดเกี่ยวกับสีสันของเปลือกไข่เชื่อกันว่าวิวัฒนาการขึ้นมาในนก ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าไข่ของไดโนเสาร์เองก็อาจเป็นสีเช่นกัน” Wiemann กล่าว ขณะนี้การศึกษาโดย Wiemann และเพื่อนร่วมวิจัยของเธอจากเยอรมนีและรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดของสีสันในไข่ อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเกิดขึ้นในปลายยุคครีเตเชียส
รายงานที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร PeerJ ไดโนเสาร์สายพันธุ์โอวิแรปเตอร์ที่มีชื่อว่า Heyuannia huangi วางไข่ที่มีเปลือกสีฟ้า-เขียว ซึ่งพบได้ทั่วไปตามแหล่งฟอสซิลในพื้นที่ทางตะวันออกของจีน Heyuannia เป็นไดโนเสาร์ที่มีหน้าเหมือนนกแก้ว มีขนทั่วตัว เดินด้วยขาหลังและมีความยาวประมาณ 5 ฟุต
แม้ว่าฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์จะกลายเป็นสีดำหรือน้ำตาล แต่ฟอสซิลไข่ของ Heyuannia ยังคงมองเห็นได้ว่ามีสีฟ้าเจือปนนั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยถึงสีสันเดิมของมัน
ด้วยการวิเคราะห์ผ่านกระบวนการทางเคมี พวกเขาสามารถตรวจจับร่องรอยของเม็ดสีสองชนิดได้แก่ biliverdin และ protoporphyrin ซึ่งเป็นเม็ดสีที่พบได้ในไข่ของนกสมัยใหม่เช่นกัน นั่นแปลว่าเมื่อหลายล้านปีก่อน ไข่เหล่านี้น่าจะเป็นสีเขียว Wiemann กล่าว อาจคล้ายกับไข่ที่วางโดยนกอีมูของออสเตรเลียและนกแคสโซแวรีในปัจจุบัน ที่สีเขียวของเปลือกไข่กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ
“ฉันเคยถูกสอนมาว่าบรรดาสีสันแปลกๆ ที่พบในฟอสซิลเช่นสีเขียว สีฟ้า อาจเกิดขึ้นจากการตกตะกอนของแร่” Wiemann กล่าว “เราตรวจสอบเปลือกไข่จำนวนมาก จนในที่สุดก็พบกับผลลัพธ์จากไข่ของโอวิแรปเตอร์มันเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ฉันไม่อยากจะเชื่อเลย”
การวิวัฒนาการของเม็ดสี
การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อไดโนเสาร์ ตลอดจนองค์ความรู้ที่เราได้จากการศึกษาสัตว์ชนิดนี้ David Varricchio ผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์จากมหาวิทยาลัยมอนทานากล่าว
การค้นพบเม็ดสีเป็นตัวอย่างของความก้าวหน้าด้านชีววิทยาโมเลกุล Varricchio กล่าว “ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มันน่าตื่นเต้นมากว่าจะช่วยให้เราค้นพบอะไรเพิ่มเติมในฟอสซิล”
นักบรรพชีวินวิทยาเคยโต้แย้งว่าไดโนเสาร์ประเภทเทโรพอด ซึ่งรวมถึงบรรพบรุษของนกสมัยใหม่มีการสร้างรังแบบเปิดซึ่งการค้นพบนี้ช่วยยืนยันแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเม็ดสีที่พบในฟอสซิลนี้สอดคล้องกับเม็ดสีเดียวกันที่พบในนกปัจจุบันที่สร้างรังแบบเปิดเช่นกัน
สีสันของไข่ในนกเป็นหนึ่งตัวอย่างของอีกหลายเอกลักษณ์ของนก เช่นเส้นขนและกระดูกรูปตัว V ซึ่งทั้งหมดคือมรดกตกทอดที่พวกมันได้รับมาจากไดโนเสาร์ Mark Norell นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกัน ในนครนิวยอร์กกล่าว
“ไดโนเสาร์วิวัฒนาการสีสันของเปลือกไข่มาก่อนนก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมนกจึงมีไข่ที่มีสี เพราะมันคือของขวัญที่พวกมันได้รับมาจากบรรพบรุษ” เขากล่าว
ขณะนี้ Wiemann กำลังมองหาตัวอย่างของฟอสซิลไข่อื่นๆ ในไดโนเสาร์กินเนื้อที่มีความใกล้ชิดกับนกที่สร้างรังแบบเปิด นอกจากนั้นเธอยังมองหาความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีไข่ไดโนเสาร์ที่มีลวดลายหรือลายจุดอีกด้วย
“นกจำนวนมากวางไข่ที่มีลวดลายและจุดเต็มฟอง” Norell กล่าว “ฉะนั้นมันมีความเป็นไปได้ที่จะพบไข่ไดโนเสาร์ในรูปแบบดังกล่าวเพื่อการพรางตัวเช่นกัน”
โดย จอห์น พิคเรล
อ่านเพิ่มเติม