ภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองหรือก้านสมอง (Brain Stem) ไม่สามารถทำงานได้แล้ว กระนั้นกฎหมายและคำนิยามในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป โดยประเทศไทยได้กำหนดไว้ว่า ถ้าก้านสมองตาย ไม่ทำงาน จะระบุว่าคนไข้เสียชีวิต แต่ในบางประเทศ เช่น โปรตุเกสจะยึดว่า สมองต้องเสียหายทั้งหมด ทั้งก้านสมองและสมองส่วนอื่น ๆ จึงจะชี้ได้ว่าคนไข้เสียชีวิตแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้สมองจะตาย แต่ไม่ได้หมายความว่าอวัยวะอื่นจะหยุดการทำงานไปในทันทีตามสมอง โดยหัวใจ ปอด หรืออวัยวะสำคัญ ๆ ยังคงทำงานได้อยู่โดยการใช้เครื่องช่วยหายใจและเครื่องช่วยพยุงชีวิตอื่นๆ แต่จะทยอยค่อย ๆ มีการล้มเหลวไปทีละส่วน กรณีที่มีรายงานช่วยชีวิตไว้นานที่สุดคือราว 110 วัน แต่ก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนนี้ระบุได้อย่างชัดเจนว่าขีดจำกัดสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่
ผู้เสนอแนวคิดนี้ คือ ดร. แอนนา สมาจดอร์ (Anna Samjdor) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า การใช้ร่างกายของหญิงที่มีภาวะสมองตายแล้วในการตั้งครรภ์นั้นอยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ และเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสำหรับคู่ที่ต้องการมีลูกแต่ไม่สามารถทำได้ เช่นคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันและคู่รักที่มีบุตรยาก รวมไปถึงผู้หญิงที่อยากมีบุตร แต่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านสุขภาพขณะอุ้มท้อง เช่นความดันโลหิตสูง และการเจ็บป่วยทางจิต
“เราสามารถโอนถ่ายความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ไปยังผู้ที่ไม่สามารถรับอันตรายจากมันได้อีกต่อไป” ดร.สมาจดอร์กล่าว.
ขณะเดียวกัน เธอยอมรับว่าแนวคิดนี้อาจสร้างความไม่สบายใจ โดยเฉพาะกับจากมุมมองด้านสตรีนิยมที่พยายามต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมตลอดมา แต่เธอก็ให้แนวทางเพิ่มเติมไว้ว่า สามารถใช้ร่างกายผู้ชายแทนได้เพื่อลดความน่าอึดอัดจากมุมมองด้านเพศและศีลธรรม กระนั้นเธอก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทำได้อย่างไรบ้าง
เมื่อรายงานนี้ออกมา ก็ได้สร้างการถกเถียงขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เห็นด้วย
“ผู้หญิงไม่ใช่ของใช้ที่ต้องทิ้งหลังใช้ ผู้หญิงมีสิทธิมนุษยชน แม้ว่าบางคนจะลืมสิ่งนี้ก็ตาม” เจนนิเฟอร์ เปดราซา (Jennifer Pedraza) สมาชิกสภาคองเกรสกล่าว และ ดร. ชาร์ลอตต์ พราวแมน (Charlotte Proudman) ผู้อำนวยการองค์กรรณรงค์เรียกร้องสิทธิเพื่อความเท่าเทียมของสตรีนิยมเสริมว่า “เฉพาะในสังคมที่เกลียดชังผู้หญิงเท่านั้นที่จะใช้ผู้หญิงที่สมองตายเป็นครรภ์ที่มีชีวิต”
“แน่นอนว่าข้อเสนอนี้อาจดูน่าตกใจสำหรับบางคน” ดร.สมาจดอร์กล่าว เธอระบุว่ามันคล้ายกับการบริจาคอวัยวะที่ปัจจุบันเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น เพียงแค่ปรับเปลี่ยนระเบียบเล็กน้อยและได้รับการยินยอมจากตัวผู้ป่วยเองซึ่งอาจบันทึกไว้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เรื่องเหล่านี้ก็สามารถเป็นไปได้ เว้นแต่ว่าพวกเขามีบันทึกไว้ว่าไม่ต้องการ
แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นครั้งแรกที่ถูกเสนอออกมา ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยชาวอิสราเอลที่ได้เสนอผ่านบทความทางการแพทย์เช่นเดียวกันเมื่อปี 2000
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.dailymail.co.uk/health/article-11705261
https://www.foxnews.com/media/brain-dead-women-should-kept-alive-used-surrogates-professor-suggests
https://www.cosmopolitan.com/uk/body/health/a42771871
https://www.womenshealthmag.com/uk/health/a42773281