นักวิทย์ฯ หัวใส เสนอใช้ ฝุ่นดวงจันทร์ ยิงขึ้นอวกาศเพื่อบดบังแสงอาทิตย์ ลดผลกระทบภาวะโลกร้อน แต่ยังถกเสียงแตก

ลดโลกร้อนด้วย ฝุ่นดวงจันทร์ – นักวิทยาศาสตร์เสนอใช้ฝุ่นบนดวงจันทร์ยิงขึ้นอวกาศเพื่อบดบังแสงอาทิตย์ ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และซื้อเวลาให้โลกสามารถลดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมหาศาลให้ทันเวลาเพื่อรอดพ้นจากวิฤกตสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย

แผนการเสนอโดยศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันสมิธโซเนียน ร่วมกับมหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การศึกษาว่าหากพวกเขาใช้ ‘ฝุ่น’ เป็นเสมือนร่มเงากันแสงอาทิตย์ให้กับโลก อาจช่วยให้โลกมีอุณหภูมิเย็นลงมากพอที่จะลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

เบน บรอมลีย์ (Ben Bromley) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยยูทาห์กล่าวว่า “ถ้าเราเอาวัสดุจำนวนน้อยไปวางบนวงโคจรพิเศษระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เราก็สามารถบังแสงอาทิตย์ได้มากโดยใช้มวลเพียงนิดเดียว”

การจำลองแสดงให้เห็นว่า ฝุ่นจากดวงจันทร์สามารถบังรังสีความร้อนได้ราว ๆ 1.8 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ โดยฝุ่นนี้จะวางตัวห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตร หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า จุดลากรองจ์แรก (Lagrange Points) หรือ L1 (กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ อยู่ในตำแหน่ง L2) ซึ่งเป็นจุดตัดแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงอาทิตย์และโลก

ประสิทธิภาพโดยรวมของ ‘แผ่นบังแดด’ นี้จะอยู่ได้นานเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นแรงโน้มถ่วงของทั้งดวงอาทิตย์ โลก ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ อีกทั้งยังมี ลมสุริยะ การแผ่รังสี และอื่น ๆ อีกมามาย แต่อย่างน้อยมันก็ผลดีชั่วขณะหนึ่ง ตามข้อมูลจากแบบจำลอง

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าต้นทุนของโครงการมีราคาค่อนข้างถูก เนื่องจากใช้พลังงานน้อยกว่ามากเมื่อยิงจากดวงจันทร์ “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์อยู่ในโครงสร้างที่เหมาะสมในการใช้กลยุทธ์การลดสภาพอากาศแปรปรวนแบบนี้ได้” สก็อตต์ เคนยอน (Scott Kenyon) ผู้ร่วมวิจัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ศึกษาและสำรวจผลกระทบที่เฉพาะเจาะจงจากแผนการนี้ เนื่องจากร่มเงาที่สร้างขึ้นนั้น อาจปกคลุมโลกไม่เท่ากันทุกภูมิภาค และจะส่งผลต่อสภาพอากาศให้คาดเดายากขึ้นไปอีก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลต่อการเกษตร ระบบนิเวศ และคุณภาพน้ำ ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ชี้ว่า อาจทำให้มีอุกกาบาตขนาดเล็กตกสู่พื้นโลก หรือไม่ก็สร้างความเสียหายให้กับดาวเทียมที่โคจรอยู่

“ทั้งคำถามนี้ และคำถามอื่นๆ อีกมากยังไม่มีการศึกษาในรายละเอียดที่จำเป็น” เคอร์ติส สตรัค (Curtis Struck) จากมหาวิทยาลัยรัฐไอโอวากล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการส่งเครื่องมือและมนุษย์ไปติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานบนดวงจันทร์ เมื่ออ้างอิงจากโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายปีจนถึงสิบปีเพื่อส่ง ‘คน’ เพียงอย่างเดียวขึ้นไปดวงจันทร์ ยังไม่นับเครื่องมือก่อสร้าง

ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเรียกความคิดนี้ว่าเป็น ‘การคาดเดาที่สนุกและน่าสนใจทางวิทยาศาสตร์’ แต่ทางทีมงานวิจัยได้เน้นย้ำว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำในขณะนี้คือให้ความสนใจเรื่องการลดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

“เราต้องลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของเราต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” บรอมลีย์กล่าว แต่ “ระบบป้องกันฝุ่นของเราจะทำให้เรามีเวลามากขึ้น”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://theconversation.com/can-clouds-of-moon-dust-combat-climate-change-199592

https://www.theguardian.com/science/2023/feb/08/moon-dust-moonshot-geoengineering-climate-crisis

https://news.harvard.edu/gazette/story/2023/02/could-space-dust-help-protect-the-earth-from-climate-changehttps://www.newscientist.com/article/2358603-launching-a-huge-dust-cloud-from-the-moon-could-ease-global-warming/

https://news.harvard.edu/gazette/story/2023/02/could-space-dust-help-protect-the-earth-from-climate-changehttps://www.newscientist.com/article/2358603-launching-a-huge-dust-cloud-from-the-moon-could-ease-global-warming/

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.