ดาวอังคาร เคยมีน้ำอยู่จำนวนมาก! – นาซาพบหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดถึงทะเลสาบบนดาวอังคาร

บน ดาวอังคาร ที่เชิงเขาชื่อ Mount Sharp รถแลนด์โรเวอร์คิวริออซิตี้ (Curiosity) ของนาซา พบหลักฐานใหม่ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ที่แห่งนี้เคยมีทะเลสาบโบราณอยู่ และกัดเซาะหินด้วยระลอกคลื่นอย่างชัดเจนตรงจุดที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ พวกเขาพบสิ่งที่เรียกว่า ‘หน่วยซัลเฟต’ (sulfate-bearing unit) หรือตะกอนที่มีแร่ธาตุเค็ม

ก่อนหน้านี้ นักวิจัยคิดว่ามันเป็นหลักฐานของน้ำเพียงไม่กี่หยด และเชื่อว่าหน่วยซัลเฟตที่เป็นหินเหล่านี้ก่อตัวขึ้นขณะที่พื้นผิวดาวเคราะห์กำลังเหือดแห้ง บริเวณแห่งนี้ถูกตรวจพบโดยยานโคจรรอบดาวอังคาร Mars Reconaissance Orbiter นาซาจึงส่งคิวริออซิตี้ไปสำรวจ ภาพใหม่ระบุว่าที่แห่งนี้เคยมีน้ำท่วมอยู่

“เมื่อหลายพันล้านปีก่อน คลื่นของทะเลสาบน้ำได้กวนตะกอนที่ก้นของทะเลสาบ และเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้เกิดพื้นผิวระลอกคลื่นเป็นร่องรอยทิ้งไวในหิน” นาซากล่าวผ่านเว็บไซต์ ขณะที่ แอชวิน วาสาวาดา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์ในทีมยานคิวริออซิตี้กล่าวเสริมว่า “นี่เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดของน้ำและคลื่นที่เราเคยเห็นในภารกิจทั้งหมด”

หินที่มีรอยคลื่นเหล่านี้อยู่ในพื้นที่กว้างประมาณ 800 เมตรใต้เชิงเขา Mout Sharp และเป็นสถานที่บ่งบอกข้อมูลทางธรณีวิทยาของดาวอังคารมากมาย ซึ่งภูเขาจะประกอบไปด้วยชั้นต่าง ๆ ชั้นที่มีอายุมากที่สุดจะอยู่ด้านล่าง และชั้นที่น้อยที่สุดจะอยู่ด้านบนสุด

เมื่อยานโรเวอร์เคลื่อนที่ขึ้นไป มันจะเคลื่อนไปตามเส้นเวลาของดาวอังคาร ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาว่าดาวเคราะห์แดงนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากที่เคยเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกซึ่งอบอุ่นและมีน้ำอุดมสมบูรณ์ สู่ทะเลทรายที่แห้งแล้งและเย็นยะเยือกเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่ารอยคลื่นบนหินก็เป็นหนึ่งในนั้น นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า ‘Marker Band’

คิวริออซิตี้พยายามจะเจาะเอาตัวอย่างบางส่วนจากหิน แต่ก็พบว่ายากเกินไปเนื่องจากความแข็งของมัน นาซาหวังว่าเมื่อยานโรเวอร์เดินทางต่อไป พวกเขาจะพบจุดที่อ่อนนุ่มเพียงพอให้คิวริออซิตี้เก็บตัวอย่างได้

เงื่อนงำอีกอย่างหนึ่งของ Marker Band ที่แสดงออกมาคื อมันชี้ให้เห็นว่าดาวอังคารก็เคยมีวัฏจักรสภาพอากาศ ชั้นตะกอนเหล่านั้นมีระยะห่างและความหนาสม่ำเสมอ ซึ่งรูปแบบนี้พบให้ชั้นหินบนโลกด้วยเช่นกัน

“คลื่นที่กระเพื่อม เศษตะกอนที่ไหล และจังหวะต่าง ๆ ล้วนบอกเราว่าเรื่องราวของดาวอังคารที่เคยชุ่มน้ำจนกลายเป็นแห้งแล้งนั้นไม่ง่ายเลย” วาสาวาดกล่าว “ภูมิอากาศโบราณของดาวอังคารมีความซับซ้อนอย่างน่าอัศจรรย์ เช่นเดียวกับโลก”

ภารกิจ Curiosity ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว โดย Jet Propulsion Laboratory (JPL) ของ NASA เป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งบริหารงานโดย Caltech รัฐแคลิฟอร์เนีย และ JPL ก็ยังเป็นผู้นำภารกิจ Science Mission Directorate ของ NASA ที่กรุงวอชิงตัน และภารกิจ Malin Space Science Systems ในซานดิเอโก

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://edition.cnn.com/2023/02/10/world/mars-nasa-curiosity-rover-ancient-waters-scn

https://www.nasa.gov/feature/jpl/nasa-s-curiosity-finds-surprise-clues-to-mars-watery-past/

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.