19 กุมภาพันธ์ World Whale Day เรียนรู้เรื่องวาฬ ผ่านนิทาน ‘พินอคคิโอ’

ทำไม พินอคคิโอ จมูกยาวตอนโกหก วาฬ กินคนได้จริงไหม หาคำตอบได้ในซีรี่ส์บทความ “ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์” ตอนที่ 2

When you wish upon a star
Makes no difference who you are
Anything your heart desires
…Will come to you

บทเพลง “When you wish upon a star” สุดคลาสสิคนี้ถูกบรรเลงในฉากเปิดของการ์ตูนดิสนีย์เกือบทุกเรื่อง เพราะเพลงนี้เป็นเสมือนพื้นฐานความเชื่อของ วอลต์ ดิสนีย์ ที่เชื่อว่า “ถ้าคุณสามารถฝันได้ คุณก็สามารถทำมันได้”

แฟนคลับของการ์ตูนดิสนีย์น่าจะทราบกันดีว่าเพลงนี้เป็นเพลงประกอบการ์ตูนเรื่อง พินอคคิโอ (Pinnochio) การ์ตูนที่เล่าถึง คุณลุงช่างแกะสลักไม้นาม คุณเจปเปตโต้ (Geppetto) ที่สร้างตุ๊กตาไม้ชื่อ พินอคคิโอ ขึ้นมา เจปเปตโต้อยากจะให้หุ่นไม้ที่เขาสร้างขึ้นกลายเป็นมนุษย์จริงๆ จึงได้ขอพรกับดวงดาว เนื่องจากคุณเจปเปตโต้ เป็นคนที่คอยสร้างความสุขให้กับคนในหมู่บ้านผ่านการสร้างตุ๊กตาไม้ให้เด็กๆ คืนนั้นเองนางฟ้าจึงลงมาเสกคาถาให้พินอคคิโอมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ แต่พินอคคิโอก็ยังเป็นเพียงแค่ตุ๊กตาไม้ที่มีชีวิต พินอคคิโอจะกลายเป็นมนุษย์ได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อพินอคคิโอสามารถพิสูจน์ได้ว่าตัวเองมีความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ และไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งผู้แต่งอยากปลูกฝังเรื่องนี้ให้เด็กๆ

ภาพโดย https://youtu.be/HT4LGAweQ_c

จมูกยาวของพินอคคิโอกับการเชื่อมโยงทางชีววิทยา

พินอคคิโอ มักเป็นสัญลักษณ์ของการโกหก เนื่องจากทุกครั้งที่พินอคคิโอพูดโกหก จมูกของพินอคคิโอจะยาวขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นคำศัพท์อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น ปรากฏการณ์พินอคคิโอ (Pinocchio effect) ที่ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 2012 โดยนักวิจัยพบว่าส่วนมากแล้วเมื่อมนุษย์โกหก อุณหภูมิที่บริเวณปลายจมูกจะเปลี่ยนไป หรือในปี ค.ศ. 2017 นักชีววิทยาค้นพบปรากฏการณ์กุ้งพินอคคิโอ (Pinocchio-shrimp effect) ซึ่งอธิบายไว้ว่า กุ้งที่อาศัยในบริเวณที่มีผู้ล่าจำนวนมากจะมีกรี (Rostrum) ที่ยาวกว่ากุ้งที่อาศัยในบริเวณที่มีผู้ล่าจำนวนน้อย

ปรากฏการณ์พินอคคิโอ (Pinocchio effect) โดยจะสังเกตได้ว่าภาพซ้ายคือเหตุการณ์ก่อนจะพูดโกหก และ ภาพขวาคือเหตุการณ์ระหว่างจะพูดโกหก (รวมถึงสภาวะเครียดอื่นๆ) หากสังเกตสีบริเวณจมูกในสี่เหลี่ยมสีดำจะพบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ปลายจมูก ภาพจาก Moliné et al. (2018)
ปรากฏการณ์กุ้งพินอคคิโอ (Pinocchio-shrimp effect) ที่แสดงให้เห็นว่ากุ้งที่เติบโตและอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีผู้ล่าจำนวนมากจะมีขนาดของกรี (ลูกศรสีแดง) ที่ยาวกว่ากุ้งที่เติบโตและอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีผู้ล่าจำนวนน้อย ภาพจาก Mazancourt et al. (2017)

วาฬ ไม่ใช่ปลาวาฬ

แม้บ่อยครั้ง พินอคคิโอ จะถูกพูดถึงในด้านที่ไม่ดี แต่ในตอนท้ายของการ์ตูน พินอคคิโอได้แสดงความกล้าหาญและความเสียสละ โดยการเข้าไปช่วยเจปเปตโต้ที่ถูกวาฬมอนสโตร (Monstro) กินเข้าไปในท้องขณะล่องเรือตามหาพินอคคิโอที่หายตัวไป ในบทประพันธ์เดิม สัตว์ที่กินเจปเปตโต้นั้นไม่ใช่วาฬ แต่คือปลาหน้าตาคล้ายปลาฉลาม Dogfish แต่อย่างไรก็ตาม ในเวอร์ชั่นการ์ตูนของดิสนีย์ วาฬได้กินทั้งเจปเปตโต้และพินอคคิโอเข้าไป คุณคิดว่าวาฬสามารถกินมนุษย์เข้าไปได้จริงไหม? เรามาหาคำตอบกันครับ

ภาพวาฬมอนสโตรกำลังพยายามกินพินอคคิโอ ภาพบนจาก https://youtu.be/vSz2js25y7c ภาพล่างจากhttps://www.ebay.it/itm/162137260120

ก่อนจะไปหาคำตอบว่าวาฬกินมนุษย์ได้จริงหรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับวาฬกันก่อนครับ

หลายครั้งเราได้ยินคนเรียกวาฬว่า ปลาวาฬ แล้วตกลงวาฬเป็นปลาหรือไม่? ถึงแม้ว่าวาฬจะอาศัยอยู่ในทะเลมีหางและครีบคล้ายกับปลา แต่จากการศึกษาของนักชีววิทยาโดยใช้หลักฐานทางอนูชีววิทยา (Molecular biology) และ หลักฐานทางสัณฐานวิทยา (Morphology) พบว่าวาฬไม่ใช่ปลา แต่วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแบบมนุษย์และเป็นญาติสนิทกับสัตว์ขากีบ (Ungulates) เช่น พวกหมูป่า อูฐ และ ฮิปโป นั่นเอง

คำถามต่อมาคือ แล้วในเมื่อญาติของวาฬอาศัยอยู่บนบกเป็นส่วนใหญ่ วาฬวิวัฒนาการลงมาอาศัยอยู่ในท้องทะเลได้อย่างไร? คำถามนี้เป็นคำถามที่สร้างความสนใจให้คนจำนวนมาก จนเมื่อปี ค.ศ. 1987 นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญนั่นคือซากดึกดำบรรพ์ที่เป็นบรรพบุรุษของวาฬบริเวณลุ่มน้ำแห่งหนึ่งบนเทือกเขาในประเทศปากีสถาน หลักฐานหลายอย่างระบุว่าซากดึกดำบรรพ์อายุกว่า 49 ล้านปีนี้มีลักษณะหลายอย่างที่พบในวาฬหลายชนิดในปัจจุบันที่อาศัยในทะเล แต่ไม่พบในสัตว์ส่วนมากที่อาศัยบนบก เช่น การมีชั้นของกระดูกพิเศษที่ห่อหุ้มหูส่วนกลาง (Involucrum) และ การมีชั้นของเนื้อกระดูกที่หนากว่าสัตว์บกปกติ ชั้นกระดูกที่หนานี้อาจจะช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำได้ดีกว่าสัตว์บก ผู้ค้นพบจึงตั้งชื่อให้กับซากดึกดำบรรพ์นี้ว่า ปากีซีตัส (Pakicetus) โดยคำว่า ปากี มาจากชื่อประเทศปากีสถาน และคำว่า ซีตัส ที่แปลว่า วาฬ

A โครงกระดูกของปากีซีตัส ภาพโดย Kevin Guertin
B ชั้นของกระดูกพิเศษที่ห่อหุ้มหูส่วนกลาง (involucrum) จากซากดึกดำบรรพ์ของปากีซีตัส ภาพโดย Thewissen et al. (2009)
C กะโหลกของวาฬ แสดงตำแหน่งของชั้นของกระดูกพิเศษที่ห่อหุ้มหูส่วนกลาง (วงกลมสีดำ) ภาพโดย Kim et al. (2014)
D B ชั้นของกระดูกพิเศษที่ห่อหุ้มหูส่วนกลาง (involucrum) จากกระโหลกของวาฬที่มีชีวิตในปัจจุบัน ภาพโดย Thewissen et al. (2009)

ผู้ค้นพบปากีซีตัสนี้ตั้งสมมติฐานว่า แม้ว่าปากีซีตัสจะอาศัยอยู่บนบกเป็นส่วนใหญ่ แต่มันอาจจะเริ่มมีพฤติกรรมลงมาหาอาหารใต้น้ำเพื่อให้ตัวเองมีอาหารกินมากขึ้น หลังจากนั้นก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายกลุ่มค้นพบซากดึกดำบรรพ์อีกมากมายที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของบรรพบุรุษในอดีตของวาฬมาจนถึงวาฬที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

วิวัฒนาการของวาฬจากสัตว์บนลงสู่ทะเล ภาพโดย Carl Zimmer

อีกหนึ่งหลักฐานที่แสดงว่าวาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแบบมนุษย์ก็คือ การมีพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สงสัยใช่ไหมครับว่าเต้านมของวาฬอยู่ที่ไหน วาฬผลิตน้ำนมได้อย่างไร แล้ว ลูกวาฬจะกินนมได้อย่างไรใต้ท้องทะเล?

หากเราศึกษากายวิภาคภายในของวาฬจะพบว่า วาฬมีต่อมน้ำนมที่สามารถผลิตน้ำนมได้ซ่อนอยู่บริเวณท้อง แต่วาฬไม่มีเต้านมยื่นออกมาเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่บนบก ดังนั้นเวลาลูกวาฬจะดื่มน้ำนม ลูกวาฬจะเอาปากยื่นไปกดที่บริเวณร่องนม (Mammary slits) จากนั้นแม่วาฬก็พ่นน้ำนมออกมาจากบริเวณร่องนมให้ลูกวาฬได้ดื่ม อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการให้น้ำนมในวาฬยังมีอยู่น้อยเนื่องจากข้อจำกัดในการศึกษาพฤติกรรมวาฬในธรรมชาติ

A ภาพลูกวาฬหัวทุยกำลังดื่มน้ำนมจากร่องนมของแม่ใต้ท้องทะเล ภาพโดย Mike Korostelev
B ภาพลูกวาฬเบลูก้ากำลังดื่มน้ำนมจากร่องนมของแม่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ภาพโดย North American Nature
C ภาพแสดงตำแหน่งของร่องนม (ลูกศรสีแดง) และ รูทวาร (ลูกศรสีดำ) ของโลมา ภาพโดย The Marine Mammal Anatomy and Pathology Library (MMAPL)

วาฬมอนสโตร ที่กินพินอคคิโอเข้าไปนั้นเชื่อกันว่าเป็นวาฬหัวทุย (Sperm whale) ซึ่งเป็นวาฬที่มีฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่หากท่านผู้อ่านเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับวาฬบรูด้าในประเทศไทยและเคยเห็นภาพของวาฬบรูด้าจะทราบว่า วาฬบรูด้าไม่มีฟันเป็นซี่แบบวาฬหัวทุย แต่วาฬบรูด้าจะมีแผ่นซี่กรอง (Baleen) ซึ่งทำหน้าที่ในการกรองกินสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ตัวอ่อนของกุ้ง เคย หรือ ปลา นักชีววิทยาจึงแบ่งวาฬออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีแผ่นซี่กรอง จะเรียกว่าวาฬไม่มีฟัน หรือ วาฬเบลีน (Toothless or Baleen whale) ส่วนกลุ่มที่มีฟันจะเรียกว่าวาฬมีฟัน (Toothed whale) ซึ่งจะประกอบไปด้วยวาฬหัวทุย วาฬเพชรฆาต และ โลมาชนิดต่างๆ วาฬกลุ่มนี้จะสามารถกินอาหารที่มีขนาดใหญ่ได้มากกว่าวาฬเบลีน เช่น แมวน้ำ หรือ สิงโตทะเล

A ภาพเปรียบเทียบวาฬมีฟัน (ตัวขวาฉ และวาฬเบลีน (ตัวซ้าย) ภาพโดย Nova Scott
B ภาพแสดงซี่กรองของวาฬหลังค่อม (Humpback whale) ซึ่งเป็นวาฬกลุ่มวาฬเบลีน ภาพโดย Whale and Dolphin Conservation
C ภาพแสดงฟันของวาฬเพชรฆาต (Killer whale) ซึ่งเป็นวาฬกลุ่มวาฬมีฟัน ภาพโดย Whale Scientists

วาฬ กินคนได้จริงไหม

ดังนั้น หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ว่ามนุษย์จะสามารถถูกวาฬกลืนเข้าไปในท้องหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาที่ขนาดของปาก ขนาดคอของวาฬ ประกอบกับโอกาสในการเจอวาฬในแหล่งธรรมชาติ

จากข้อมูลงานวิจัยในปัจจุบันพบว่าวาฬหลังค่อม (Humpback whale) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวาฬเบลีน มีความกว้างของปากที่มนุษย์สามารถเข้าไปอยู่ได้ แต่เมื่อพิจารณาส่วนของคอตรงทางเปิดของหลอดอาหาร พบว่าหลอดอาหารของวาฬหลังค่อม สามารถขยายสูงสุดได้เพียง 15 นิ้ว ซึ่งแน่นอนว่ามีเล็กกว่าขนาดตัวของมนุษย์ทั่วไป

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาในวาฬหัวทุย ซึ่งเป็นกลุ่มวาฬมีฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดพบว่า ขนาดของปากและคอ ใหญ่เพียงพอที่จะกินมนุษย์เข้าไปได้ทั้งตัว เนื่องจากมีรายงานพบซากของหมึกโคลอสซัล (Colossal squid) ที่มีขนาดยาวประมาณ 14 เมตรในท้องของวาฬหัวทุย แต่ข้อมูลทางสถิติพบว่า โอกาสเฉลี่ยที่มนุษย์ทั่วๆ ไปจะเจอวาฬในธรรมชาติคือประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะวาฬหัวทุยจะมีโอกาสเจอน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงมีนักชีววิทยากล่าวว่า โอกาสที่มนุษย์จะถูกกลืนลงไปในท้องของวาฬโดยเฉพาะวาฬหัวทุย คือ 1 ในพันล้าน เท่ากับว่าเรามีโอกาสที่จะถูกรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาลมากกว่าจะถูกว่าหัวทุยกินเข้าไปในท้อง

การต่อสู้กันระหว่างวาฬหัวทุยและหมึกโคลอสซัล ซึ่งคือการต่อสู้กันระหว่างวาฬมีฟันที่ใหญ่ที่สุดและหมึกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยหมึกโคลอสซัลมักจะตกเป็นเหยื่อของวาฬหัวทุย ภาพโดย Martin G. Roper

กระนั้น ปัจจุบันเริ่มมีรายงานเพิ่มขึ้นว่าชาวประมง หรือ นักท่องเที่ยวบางประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่ชอบเล่นกิจกรรมทางน้ำเช่น พายเรือคายัคในทะเล และ พายเรือแบบยืนบนผิวน้ำ (Paddle board) มีโอกาสถูกกวาฬกลืนเข้าไปในปากเพิ่มมากขึ้น แต่สุดท้ายวาฬก็คายนักท่องเที่ยวเหล่านั้นออกมาจากปากเพราะไม่สามารถกลืนลงไปในคอได้

ภาพนักท่องเที่ยวถูกกินโดยวาฬ https://www.youtube.com/watch?v=tgwGUNnf2Rc&t=8s

ใหญ่แค่ไหนก็แพ้ภัยมนุษย์

แม้ว่าวาฬจะเคยปรากฏอยู่ในความเชื่อของมนุษย์ว่าเป็นปีศาจแห่งท้องทะเล และ สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วโอกาสที่วาฬจะทำร้ายมนุษย์นั้นมีน้อยกว่าโอกาสที่มนุษย์จะไปทำร้ายวาฬ

มนุษย์เริ่มสนใจวาฬในฐานะของแหล่งอาหารและมีการล่าวาฬ (Whaling) ตั้งแต่สมัย 6,000 ปีก่อนคริสตศักราช หรือในช่วงยุคหินใหม่ การล่าวาฬที่เก่าแก่ที่สุดถูกบันทึกไว้บนผนังของภูเขาที่สาธารณรัฐเกาหลี

ภาพการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของวาฬในประเทศญี่ปุ่น โดยภาพบนคือวาฬเบลีน และ ภาพล่างคือวาฬมีฟัน ภาพจากhttp://keizine.net/2009/01/27_00553.php

มนุษย์ในสมัยอดีตรวมถึงปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากร่างวาฬเกือบทุกส่วน เนื้อของวาฬสามารถนำมาปรุงอาหารได้ ชั้นไขมันของวาฬ (Blubber) สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ในอดีต กระดูกของวาฬถูกนำมาใช้ผลิตเบ็ดตกปลาและก้านร่ม แผ่นซี่กรอง (Baleen) ก็เคยถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวงการแฟชั่นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 โดยเริ่มมีการนำแผ่นซี่กรองมาทำเป็นโครงถ่างกระโปรง (Farthingale)

และต่อมาในสมัยศตวรรษที่ 18 แผ่นซี่กรองของวาฬถูกนำมาทำเป็นโครงเสื้อและที่รัดตัวเนื่องจากมีความยืดหยุดและแข็งแรง และแม้แต่อ้วกของวาฬ (Ambergris) ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนของสารเคมีที่ผลิตขึ้นในลำไส้ของวาฬหัวทุยและถูกขับออกมาจากปากของวาฬหัวทุยถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตน้ำหอม โดยอ้วกวาฬมีมูลค่าสูงถึง $40,000 หรือ ประมาณ 1,200,000 บาท ต่อกิโลกรัม

ภาพซ้ายและกลางคือ โครงถ่างกระโปรง (Farthingale) ภาพโดย National Portrait Gallery, London
ภาพขวา คือ โครงเสื้อและที่รัดตัว ภาพโดย metmuseum
โครงสร้างทั้งสองผลิตขึ้นมาจากซี่กรอง (Baleen) ของวาฬ

วาฬหนึ่งตัวมีประโยชน์กับมนุษย์เป็นอันมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจล่าวาฬมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้วาฬหลายชนิดถูกล่าจนเข้าสู่สภาวะใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันได้มีหน่วยงานระดับนานาชาติมากมายที่เริ่มแสดงจุดยืนต่อต้านการล่าวาฬ โดยหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการออกข้อตกลงการควบคุมการล่าวาฬ ได้แก่ คณะกรรมาธิการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (The International Whaling Commission (IWC)) จาก 88 ประเทศเป็นต้น และแน่นอนว่า การจะสั่งห้ามหรือขอความร่วมมือให้หยุดล่าวาฬไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากบางประเทศเช่น ประเทศญี่ปุ่น มีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับการล่าวาฬมานับร้อยปี ดังนั้นการออกข้อบังคับใช้ระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาศัยความเข้าใจและองค์ความรู้จากทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

แม้การล่าวาฬจะเริ่มลดลงแล้ว แต่กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่เราคาดไม่ถึงก็ไปทำร้ายวาฬทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การกำจัดขยะผิดวิธี ทำให้ขยะมากมายลงสู่มหาสมุทรและไปจบลงที่กระเพาะของวาฬ ในปี ค.ศ. 2022 มีวาฬหัวทุยเกยตื้นที่ชายหาดประเทศแคนนาดา เมื่อมีการผ่าชันสูตรพบว่าในกระเพาะของวาฬนั้นมีขยะมากถึง 100 กิโลกรัม หรือ แม้แต่เสียงใต้น้ำที่ถูกสร้างขึ้นจากมนุษย์เช่น เสียงจากอุตสาหกรรมการขุดเจาะใต้ทะเลลึก และ การใช้คลื่นเสียงโซน่าใต้ท้องทะเล ก็ส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิตใต้ท้องทะเลของวาฬ ดังนั้น การศึกษาถึงผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ต่อการดำรงชีวิตของวาฬจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเราทราบถึงผลกระทบของ

กิจกรรมของมนุษย์ต่อวาฬในท้องทะเลแล้ว เราก็จะสามารถหาแนวทางการอนุรักษ์และปกป้องวาฬในท้องทะเลให้อยู่กับมนุษยชาติไปได้อีกนานๆ

ท้ายที่สุด แม้พินอคคิโอจะถูกวาฬมอนสโตรกินเข้าไป แต่ด้วยความกล้าหาญ ความเสียสละ และสติปัญญา ทำให้พินอคคิโอสามารถหลุดออกมาจากท้องของวาฬได้พร้อมกับคุณเจปเปตโต้ แล้วพินอคคิโอก็กลายร่างเป็นมนุษย์และใช้ชีวิตอยู่กับคุณเจปเปตโต้อย่างมีความสุข

ความฝันจะเป็นจริงได้ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะขอพรอะไร ขอพรกับใคร แต่อยู่ที่ว่าเราจะเริ่มทำความฝันนั้นเมื่อไร

แล้วพบกันใหม่ในบทความตอนหน้าครับ

– – – –

ซีรี่ส์บทความ “ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตในการ์ตูนดิสนีย์

“จากสโนไวท์ที่หลับอยู่ในโรงแก้วถึงปลาการ์ตูนนีโม่ในแนวปะการังที่ออสเตรเลีย ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าในการ์ตูนทุกเรื่องของดิสนีย์จะมีสัตว์อย่างน้อย 1 ชนิดปรากฏมาเป็นตัวละครให้เราได้รู้จักกัน 

รู้หรือไหมว่าสัตว์ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์มีที่มาจากสัตว์ที่มีอยู่จริงและพฤติกรรมต่างๆที่สัตว์เหล่านั้นแสดงก็มีอยู่จริงเช่นกัน ซีรีส์บทความนี้จะเล่าถึงเรื่องราวชีววิทยาและพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในการ์ตูนดิสนีย์ที่ทุกท่านอาจจะยังไม่ทราบ พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสัตว์เหล่านั้น

หลังจากอ่านซีรีส์บทความนี้จบแล้วหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะรับชมการ์ตูนดีสนีย์ในมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปครับ”

วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เอกสารอ้างอิง

Mazancourt, V. D., Marquet, G., & Keith, P. (2017). The “Pinocchio-shrimp effect”: first evidence of variation in rostrum length with the environment in Caridina H. Milne-Edwards, 1837 (Decapoda: Caridea: Atyidae). Journal of Crustacean Biology37(3), 249–257.

Moliné, A., Dominguez, E., Salazar‐López, E., Gálvez‐García, G., Fernández‐Gómez, J., De la Fuente, J., … & Gómez Milán, E. (2018). The mental nose and the Pinocchio effect: Thermography, planning, anxiety, and lies. Journal of Investigative Psychology and Offender Profiling15(2), 234–248.

https://www.nationalgeographic.com/animals/article/most-whales-cant-really-swallow-a-human-heres-why.

https://www.sciencedaily.com/releases/2012/12/121203081834.htm

https://www.7seaswhalewatch.com/whales-marine-wildlife/how-many-whales-will-we-see

https://www.korea.net/NewsFocus/Culture/view?articleId=117635

http://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/3638853.stm

https://www.scran.ac.uk/packs/exhibitions/learning_materials/webs/40/index.htm

https://www.nhm.ac.uk/discover/what-is-ambergris.html

https://www.metmuseum.org/art/collection/search/82434

https://education.nationalgeographic.org/resource/big-fish-history-whaling

https://journals.openedition.org/apparences/3653

https://www.nationalgeographic.com/animals/article/most-whales-cant-really-swallow-a-human-heres-why

https://www.thenationalnews.com/world/asia/2021/10/03/whale-vomit-windfall-could-net-thai-fisherman-up-to-12-million/

https://www.nationalgeographic.com/science/article/science-word-of-the-day-involucrum

https://iwc.int/commission/members

https://www.earthday.org/beached-whale-found-with-220-pounds-of-trash-in-stomach/

https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-11463005/More-330-pounds-GARBAGE-stomach-whale-died-Nova-Scotia.html


อ่านเพิ่มเติม

จิ้งหรีด นำโชคของ ฟา มู่หลาน : จากแมลงตัวจิ๋วสู่โอกาสในการอยู่รอดของมนุษยชาติ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.