กล้องเจมส์เวบบ์ เผยภาพ ‘ดวงดาวกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการตาย’ ที่สวยงาม และจะกลายเป็นซุปเปอร์โนวา การระเบิดที่ยิ่งใหญ่ของจักรวาล

กล้องเจมส์เวบบ์ เปิดเผยให้เห็น ดาวดวงนี้มีชื่อว่า WR 124 อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 15,000 ปีแสง ซึ่งเป็นดาวประเภท ‘วูล์ฟ-ราเยต์’ (Wolf-Rayet) ซึ่งเป็นดาวมวลมากที่หายาก นาซาประเมินว่าดาวดวงนี้มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 30 เท่า ส่งผลให้มันมีอายุขัยที่น้อยกว่า และในตอนนี้มันกำลังเข้าสู่กระบวนการตาย

เมื่อดาวฤกษ์ซึ่งไม่มีไฮโดรเจนเหลือพอที่จะเผาไหม้ในแกนกลาง ดาวฤกษ์จะเริ่มหลอมรวมธาตุที่หนักกว่าแทน และก่อให้เกิดการระเบิดทรงพลัง ซึ่ง WR 124 กำลังอยู่ในขั้นตอนนี้ และเปลือกฝุ่นรอบนอกของมันค่อย ๆ ลอกออกโดยมีปริมาณ 10 เท่าของดวงอาทิตย์สู่อวกาศ จากนั้นจะเข้าสู่การระเบิดที่เรียกว่า ‘ซุปเปอร์โนวา’ (Supernova)

“ดาวมวลมากเดินทางผ่านวัฏจักรชีวิตของมัน และมีเพียงบางดวงเท่านั้นที่ผ่านระยะ วูล์ฟ-ราเยต์ สั้น ๆ ก่อนจะกลายเป็นซุปเปอร์โนวา” นาซ่าแถลง “ทำให้การสังเกตโดยละเอียดของเวบบ์เกี่ยวกับระยะที่หายากนี้มีค่าสำหรับนักดาราศาสตร์”

พร้อมเสริมว่า “ดาววูล์ฟ-ราเยต์ กำลังอยู่อยู่ในกระบวนการลอกชั้นนอกออก ส่งผลให้มีรัศมีของก๊าซและฝุ่นตามลักษณะเฉพาะ” ซึ่งคุณอาจเปรียบเทียบเป็นภาพเม็ดฝุ่นบนตู้อันเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับจักรวาลแล้ว ฝุ่นคือสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

มันทำหน้าที่เป็นวัตถุดิบในการก่อตัวของดาวเคราะห์ ทำหน้าที่เป็นสิ่งเกาะเกี่ยวให้โมเลกุลเกาะกลุ่มกัน รวมไปถึงส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต และกลายเป็นมนุษย์เช่นเรา ฝุ่นในอวกาศนั้นเป็นรากฐานของเกือบทุกอย่าง และมันก็มาจากความตายของดวงดาวเช่นนี้

“ก่อนการมาของเจมส์ เวบบ์ นักดาราศาสตร์ที่รักฝุ่นไม่มีข้อมูลรายละเอียดเพียงพอที่จะหาคำถามเกี่ยวกับการสร้างฝุ่นเลยในสภาพแวดล้อมแบบดาว WR 124” นาซ่ากล่าว “และคำถามที่ว่า เม็ดฝุ่นจะมีขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์พอที่จะรอดจากกระบวนการซุปเปอร์โนวา กลายเป็นส่วนสำคัญต่อฝุ่นโดยรวมแทนหรือไม่ ตอนนี้คำถามเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้ด้วยข้อมูลจริงแล้ว”

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ได้เปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการศึกษารายละเอียดในฝุ่นคอสมิก ซึ่งสังเกตได้ดีที่สุดในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรดของแสง และเวบบ์ก็สร้างมาเพื่อสิ่งนั้น นักดาราศาสตร์ได้เห็นโครงสร้างที่จับตัวกันเป็นก้อนของเนบิวลาก๊าซ และฝุ่นที่ล้อมรอบดาวฤกษ์

นอกจากนี้ มันยังช่วยทำหน้าที่เป็นตัววัดให้นักดาราศาสตร์เข้าใจช่วงเวลาที่ดาวฤกษ์กำลังตายขณะที่อยู่ในประวัติศาสตร์ยุคแรกของเอกภพ ซึ่งสร้างธาตุหนักในแกนกลางของพวกมันและส่งต่อมาถึงยังปัจจุบัน รวมทั้งโลกด้วย เจมส์ เวบบ์ กำลังค่อย ๆ เปิดเผยความลึกลับของจักรวาลให้มนุษยชาติได้เรียนรู้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nasa.gov/feature/goddard/2023/nasa-s-webb-telescope-captures-rarely-seen-prelude-to-supernova

https://www.space.com/james-webb-space-telescope-star-soon-go-supernova-photos

https://www.newscientist.com/article/2364388-jwst-took-a-stunning-picture-of-a-star-thats-about-to-go-supernova

https://phys.org/news/2023-03-webb-captures-rarely-prelude-supernova.html

อ่านเพิ่มเติม กล้องเจมส์เวบบ์ ถ่ายภาพ กาแล็กซีที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาล เผยความลึกลับใหม่เรื่องวิวัฒนาการของเอกภพ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.