อลิซในแดนมหัศจรรย์ (Alice in Wonderland) การ์ตูนของดิสนีย์ที่เล่าถึงเรื่องราวการผจญภัยของเด็กหญิงนามว่า อลิส ในดินแดนมหัศจรรย์ของเธอ การ์ตูนเรื่องนี้ถูกดัดแปลงมาจากงานเขียนของ Lewis Carroll นักเขียนและนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่ได้เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ไว้ในปี ค.ศ. 1865 หนึ่งในตัวการ์ตูนประกอบที่มีหลายคนพูดถึงความน่ารักของพวกมันก็คือ หอยนางรม
หอยนางรมปรากฏออกมาในฉากที่สองพี่น้องฝาแฝด Tweedledum and Tweedledee เล่านิทานให้อลิสฟังเพื่อเตือนว่า ความอยากรู้อยากเห็นอาจจะนำพาไปสู่ความหายนะได้ โดยพี่น้องฝาแฝดเล่าเรื่องราวของ วอลลัสและช่างไม้ที่อยากจะกินหอยนางรมที่อาศัยอยู่ใต้ท้องทะเล จึงพยายามหลอกล่อหอยนางรมว่าจะพาหอยนางรมขึ้นมาเดินเล่นบนบกและพาไปเลี้ยงอาหาร อย่างไรก็ตามแม่ของหอยนางรมเตือนลูกๆ ของเธอว่าตอนนี้คือเดือนมีนาคม หอยนางรมยังไม่ควรไปเดินเล่น ลูกๆ หอยนางรมที่มีความอยากรู้อยากเห็นมาก ไม่สนใจคำเตือนของแม่จึงตัดสินใจพากันออกไปเดินเล่นกับวอลลัสและช่างไม้ จนสุดท้ายลูกๆ หอยนางรมก็ถูกวอลลัสจับกินเป็นอาหารในตอบจบของเรื่อง
ทำไมเดือนมีนาคมจึงเป็นเดือนที่ลูกๆหอยไม่ควรไปเดินเล่น? หากดูการ์ตูนในฉากนี้จะเห็นว่าแม่หอยนางรมหันไปดูปฏิทินแล้วพบว่าตอนนั้นคือเดือน มีนาคม หรือ March ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีการเน้นตัวอักษรสีแดงที่ตัว R ทำไมจึงต้องเป็นตัว R ?
ถ้าท่านเคยเดินทางไปรับประทานหอยนางรมที่ประเทศแถบตะวันตกในเขตอบอุ่น (Temperate zone) อาจจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า เราควรจะทานหอยนางรมในเดือนที่มีตัวอักษร R อยู่ในชื่อเดือน ซึ่งก็คือเดือน กันยายน (September) ไปจนถึงเดือน เมษายน (April) นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมแม่หอยนางรมถึงเตือนลูกๆไม่ให้ไปเดินเล่นตอนเดือนมีนาคม (March) เนื่องจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนที่มนุษย์กำลังทานหอยนางรม จึงเป็นช่วงที่ไม่ปลอดภัยของหอยนางรม แต่อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังความเชื่อนี้?
ในทางวิทยาศาสตร์เราสามารถอธิบายความเชื่อนี้ได้ด้วยเหตุผลสองข้อคือ
(1) ช่วงฤดูร้อนในเขตอบอุ่น ซึ่งคือเดือนที่ไม่มีตัวอักษร R ในชื่อเดือน (May-August) สาหร่ายทะเลขนาดเล็ก หรือ แพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) จะมีโอกาสเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิและปริมาณแสงที่เหมาะสม เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า แพลงก์ตอนพืชสะพรั่ง (Plankton Bloom) การเพิ่มขึ้นของจำนวนแพลงก์ตอนพืชจำนวนมากมีข้อดีเนื่องจาก แพลงก์ตอนพืชเหล่านี้จะเป็นอาหารให้กับสัตว์ทะเลหลายชนิดรวมถึงหอยนางรมด้วย แต่ในทางกลับกัน แพลงก์ตอนพืชบางชนิดสามารถสร้างสารพิษที่มีผลเสียต่อสุขภาพได้ หอยนางรมที่กินแพลงก์ตอนพืชที่มีพิษเข้าไปก็จะสะสมพิษไว้ในตัว เมื่อเราทานหอยนางรมพวกนั้นก็จะทำให้เราป่วยได้
(2) อุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนในเขตอบอุ่นอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเจริญเติบโตได้เร็วว่าฤดูกาลอื่น ทำให้หอยนางรมที่ชาวประมงเก็บขึ้นมามีโอกาสที่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อยู่มาก เมื่อเราทานหอยนางรมที่ไม่สดและมีเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้อยู่มากเข้าไปอาจจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
ในปี ค.ศ. 2019 นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานชิ้นสำคัญว่าความเชื่อเรื่องการกินหอยนางรมในเดือนที่มีตัวอักษร R นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย 4,000 กว่าปีที่แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเมื่อขุดเปลือกหอยนางรมที่ถูกทับถมอยู่ในชั้นดินเมื่อสมัย 4,000 ปีที่แล้วจากที่รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นมาศึกษา พบว่าบริเวณซากเปลือกหอยนางรมที่พบ มีซากเปลือกหอยรูปทรงเจดีย์อีกชนิดหนึ่งอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าซากเปลือกหอยรูปทรงเจดีย์เป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับเรื่องตัวอักษร R
ซากเปลือกหอยรูปทรงเจดีย์ คือ หอยทะเลชนิดที่เรียกว่า Impressed odostome (Boonea impressa) หอยทะเลชนิดนี้เป็นปรสิต (Parasite) ของหอยนางรม โดยปกติแล้วหอยชนิดนี้จะเกาะอยู่ที่เปลือกของหอยนางรมและใช้อวัยวะพิเศษเจาะทะลุเปลือกหอยนางรมเข้าไปเพื่อไปกินเนื้อของหอยนางรม หอยปรสิตชนิดนี้มีอายุ 12 เดือน โดยหอยแต่ละเดือนจะมีขนาดที่แตกต่างกัน หากหอยนางรมซึ่งเป็นเจ้าบ้าน (Host) ตาย หอยที่เป็นปรสิตก็จะตายตามไปด้วย เมื่อนักวิทยาศาสตร์วัดขนาดของเปลือกหอยปรสิตพบว่า หอยปรสิตที่มาจากแหล่งสำรวจซากดึกดำบรรพ์ส่วนมากตายในช่วงเดือนกันยายน (September) ไปจนถึงเดือนเมษายน (April) ซึ่งนั้นหมายความว่า หอยนางรมที่เป็นเจ้าบ้านก็น่าจะตายในช่วงเวลานั้นเช่นกัน ดังนั้น หลักฐานชิ้นนี้จึงยืนยันได้ว่า ความเชื่อเรื่องการกินหอยในเดือนที่มีตัวอักษร R ในชื่อเดือน มีมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว
เมื่อพูดถึงเรื่องการทานหอยนางรม หอยนางรมก็เป็นหนึ่งในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกถกเถียงกันในกลุ่มผู้ที่กินเจ มังสวิรัติ (Vegetarian) และ วีแกน (Vegan) ว่า สรุปแล้วพวกเขาจะสามารถกินหอยนางรมได้ไหม?
ความเชื่อของชาวจีนบางกลุ่มกล่าวว่า เราสามารถทานหอยนางรมได้ในฤดูการกินเจ เนื่องจากในสมัยอดีต ขณะที่องค์หญิงเมี่ยวซ่าน (หรือเจ้าแม่กวนอิม) กำลังพาประชาชนหนีจากสงครามทางเรือ เสบียงอาหารบนเรือหมด องค์หญิงเมี่ยวซ่านจึงเอาไม้จุ่มลงไปในน้ำทะเลแล้วอธิษฐานว่าสัตว์ชนิดใดถึงฆาตขอให้ติดไม้ขึ้นมา และเมื่อดึงไม้ขึ้นมาก็มีหอยนางรมติดขึ้นมา อีกความเชื่อหนึ่งที่คล้ายๆ กันมาจากเรื่องของพระถังซำจั๋ง (จากละครทีวีเรื่อง ไซอิ๋ว) ในขณะที่กำลังเดินทางไปชมภูทวีป พระถังซำจั๋งไม่สามารถหาอาหารทานได้จึงอธิษฐานว่าหากทานสิ่งมีชีวิตชนิดใดแล้วไม่บาปขอให้สิ่งมีชีวิตนั้นปรากฏขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีหอยนางรมผุดขึ้นมาจากดิน สองเรื่องนี้เป็นที่มาที่ว่าทำไมจึงสามารถกินหอยนางรมได้ในช่วงเทศกาลเจ
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของทางตะวันตกแตกต่างออกไป มังสวิรัติบางกลุ่มเสนอว่าพวกเขาสามารถทานหอยนางรมได้ เนื่องจากหอยนางรมไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ใช้ในการรับความเจ็บปวด ดังนั้นหอยนางรมจึงไม่รู้สึกเจ็บ พวกเขาจึงสามารถทานหอยนางรมได้โดยไม่รู้สึกผิด แต่ความเชื่อนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากถึงแม้หอยนางรมจะไม่มีระบบประสาทส่วนกลาง แต่หอยนางรมมีปมประสาท (Ganglia) ขนาดเล็กกระจายอยู่ตามลำตัวซึ่งปมประสาทนี้อาจจะรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือ ความรู้สึกอื่นๆได้
หอยนางรมนอกจากจะมีบทบาทเป็นแหล่งอาหารให้กับมนุษยชาติมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว หอยนางรมยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นกำแพงกันคลื่นที่มีชีวิตให้กับระบบนิเวศชายฝั่งอีกด้วย ปัจจุบันปัญหาการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ นักชีววิทยาทางทะเลค้นพบว่าประชากรหอยนางรมที่โตขึ้นเป็นแนวที่ชายฝั่ง (Oyster reef) นอกจากจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากแล้ว มันยังสามารถช่วยลดความแรงของคลื่นที่มาปะทะกับชายฝั่งได้ ส่งผลให้ชายฝั่งมีอัตราการถูกกันเซาะที่ลดลง คุณสมบัตินี้เป็นสิ่งเดียวกับเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แต่ต่างกันที่ว่า เขื่อนกันคลื่นจะถูกทำลายลงไปเมื่อเวลาผ่านไปแต่แนวหอยนางรมที่ชายฝั่งจะสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้เอง เราจึงเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นกำแพงกันคลื่นที่มีชีวิตของท้องทะเล
อีกบทบาทสำคัญที่ทำให้หอยนางรมถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นก็คือ ไข่มุก (Pearl) อัญมณีที่ราชวงศ์ชั้นสูงหรือคนทั่วไปอยากครอบครองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หอยนางรมเป็นหนึ่งในหอยที่สามารถผลิตไข่มุกได้ ไข่มุกเกิดจากการที่เศษซากต่างๆ ที่หลุดเข้ามาในตัวของหอยนางรม หอยนางรมมีกลไกในการป้องกันตัวไม่ให้เศษซากเหล่านั้นมาบาดเนื้อเยื่อในลำตัว โดยการสร้างสารเคมีกลุ่มแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) และ โปรตีนคอนไคโอลิน (Conchiolin) ขึ้นมาเพื่อล้อมรอบเศษซากเหล่านั้นไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเศษซากเหล่านั้นจะกลายเป็นไข่มุกขึ้นมา โดยสีของไข่มุกที่แตกต่างกันขึ้นกับชนิดของหอยที่ผลิตไข่มุก
ไข่มุกปรากฏอยู่ในความเชื่อของจีนมายาวนาน หนึ่งในภาพที่หลายท่านอาจเคยเห็น แต่ไม่ทราบว่าคือไข่มุก คือภาพวาดมังกรที่กำลังถือ หรือ พยายามจับวัตถุทรงกลมที่มีไฟล้อมรอบ วัตถุทรงกลมนั้นบางความเชื่อกล่าวว่า คือ ไข่มุกไฟ (Flaming pearl) ซึ่งแสดงถึงพลังงานทางจิตวิญญาณ ภูมิปัญญา ความเจริญรุ่งเรือง อำนาจ และความเป็นอมตะ บางครั้งเราอาจจะเคยเห็นภาพวาดมังกรสองตัวที่กำลังแย่งไข่มุกไฟ หรือ มังกรหนึ่งตัวกำลังถือไข่มุกไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและสติปัญญา
แม้หลายคนจะมองว่าหอยนางรมเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้สำคัญอะไร เป็นเพียงแค่หอยตัวหนึ่งที่ไม่ต่างอะไรจากสัตว์อื่นในท้องทะเล แต่เราสามารถเรียนรู้สิ่งหนึ่งได้จากหอยนางรม ที่แม้เป็นเพียงสัตว์เล็กๆ ในมหาสมุทรอันยิ่งใหญ่ แต่หอยนางรมก็สามารถสร้างไข่มุกเม็ดงามที่มีคุณค่าให้กับผู้คน
เช่นเดียวกัน ผู้อ่านบางท่านอาจจะคิดว่าเราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆในสังคมอันกว้างใหญ่ แต่จริงๆแล้วเราอาจจะสามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับโลกใบนี้ได้ เฉกเช่นเดียวกับหอยนางรมที่สร้างไข่มุกขึ้นมาประดับไว้ให้กับโลกใบนี้ได้เช่นกัน
เรื่อง วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย