โลกเคยเกิด “ฝนตกนาน 2 ล้านปี!” เป็นจุดเปลี่ยนให้ ไดโนเสาร์ ขึ้นครองโลก

ไดโนเสาร์ สัตว์ร้ายที่สุดในโลกอาจมีจุดเริ่มต้นที่ต่ำต้อยและต้องรอคอยเวลา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อภูเขาไฟของโลกได้เปลี่ยนสภาพอากาศและสร้างระบบนิเวศใหม่ของโลกขึ้นมา เหตุการณ์นี้เรียกว่า ‘Carnian Pluvial Event’ (CPE) งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Science Advances บ่งชี้ว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้สัตว์ทะเล 1 ใน 3 ของทั้งหมดสูญพันธุ์ รวมไปถึงพืชและสัตว์บกจำนวนมากเมื่อประมาณ 234 ล้านปีก่อน

จาโคโบ ดาล คอร์ซอ (Jacopo Dal Corso) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ภูเขาไฟได้ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น และทำให้เกิด ‘วงจรอุทกวิทยา’ ยาวนานเป็นเวลา 2 ล้านปี แม้จะดูเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาพริบตาเดียวทางธรณีวิทยา

หลักฐานคือปริมาณสารปรอทซึ่งเป็นสารที่ระเบิดจากภูเขาไฟได้เข้าสู่ทะเลสาบและแทรกซึมเข้าสู่ดินสะสมเป็นชั้น พร้อมกันนี้ ทีมวิจัยยังพบสัดส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในฟอสซิลที่เปลี่ยนไป ราวกับว่าสัตว์เหล่านั้นเคยเติบโตอยู่ในอากาศแห้งมาก่อน และกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตในสภาพอากาศที่อบอุ่นและชื้น

“เป็นครั้งที่ข้อมูลไอโซโทปของปรอทและคาร์บอนมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีใน CPE” แอนเดรีย มาร์โซลี (Andrea Marzoli) นักปิโตรวิทยาอัคนีจากมหาวิทยาลัยปาดัว ในอิตาลี กล่าว

รายงานระบุว่า CPE คือการหมุนเวียนปูทางไปสู่อำนาจของกลุ่มสิ่งมีชีวิตใหม่ เมื่อฝนตก สร้างให้สภาพแวดล้อมเปียกชี้น พืชและสัตว์ที่ชอบความชื้นเป็นหลักก็วิวัฒนาการขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กบ กิ่งก่า จระเข้ เต่า และไดโนเสาร์ ไม่เพียงเท่านั้น ต้นสนจำนวนมากปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงนี้เช่นกัน ดังนั้น CPE จึงเป็นการสร้างรากฐานของระบบนิเวศสมัยใหม่

การศึกษาก่อนหน้านี้ประเมินว่า ภูเขาไฟได้ปะทุและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 5,000 กิกะตันสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมากกว่าการปล่อยทั่วโลกต่อปีในปัจจุบันหลายร้อยเท่า ฝนตกหนักกลายเป็นเรื่องปกติ และสิ่งมีชีวิตก็ตายไปเป็นจำนวนมหาศาล

“หลังจากพืชและสัตว์กินพืชที่สำคัญบนบกสูญพันธุ์ไปในวงกว้าง ไดโนเสาร์เหมือนจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักในช่วงของการฟื้นฟู มันขยายตัวอย่างรวดเร็วในด้านความหลากลาย กระจายไปในภูมิภาค และทวีปต่าง ๆ” รายงานระบุ

จากข้อมูลฟอสซิล มีการพบไดโนเสาร์ในยุคก่อนหน้า CPE เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นจากจำนวนฟอสซิลทั้งหมดที่พบ แต่เมื่อฝนเริ่มตก ตัวเลขกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยฟอสซิลกว่าร้อยละ 80 ที่พบหลังจากเหตุการณ์นี้

หลังจากฝนหยุดตก อากาศบนทวีปแพนเจียก็แห้งอีกครั้ง แต่สิ่งมีชีวิตบนโลกได้เปลี่ยนไปตลอดกาล พืชได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ด้วยต้นสนซึ่งกระจายไปทั่ว ที่สำคัญกว่านั้น สิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและหลากหลายได้เริ่มต้นช่วงเวลาใหม่บนโลก และจะอยู่ไปอีกในหลายร้อยล้านปีต่อมา

“มันอาจเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชีวิต และยังเป็นต้นกำเนิดของชีวิตกลุ่มหลักที่จะก่อตัวเป็นสัตว์บกสมัยใหม่ เช่น เต่า จระเข้ กิ้งก่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” จาโคโบ ดาล คอร์ซอ กล่าว

ที่มา

https://www.science.org/doi/10.1126/sciadv.aba0099

https://www.livescience.com/carnian-pluvial-episode-mass-extinction.html

https://www.facebook.com/environman.th/posts/ pfbid02qG5WJc1a4o1E98K2Ad66JhEa1wgwc7Luj1ocni3AJqVXwbVa3NJbFrGXD5Uohzyvl

บทความที่เกี่ยวข้อง ที.เร็กซ์หลบไป! เผยโฉม สไปโนซอรัส ไดโนเสาร์ที่ใหญ่และร้ายกาจสุดบนพื้นพิภพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.