ทำไม มนุษย์ต่างดาว ไม่เคยมาเยือนโลก บทความวิเคราะห์ปัญหานี้เผยแพร่ในวารสาร Royal Society Open Science เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับ ‘ข้อขัดแย้งของเฟอร์มี’ หรือ Fermi Paradox ว่า สิ่งมีชีวิตอารยธรรมต่างดาวขั้นสูงหายไปอยู่ที่ไหนกันหมด ท่ามกลางดาวเคราะห์นับล้านล้านดวงในจักรวาล โดยสมมติฐานใหม่ระบุว่า พวกเขาอาจตายหรือมีอาการเบิร์นเอาท์ (Burnout) ไปแล้ว
รายละเอียดคือ ทีมวิจัยได้สังเกตการเติบโตของอารยธรรมในประวัติศาสตร์โลกและนำมาเปรียบเทียบกับมนุษย์ต่างดาวในมุมเดียวกัน จะเห็นได้ว่า เมื่ออารยธรรมเติบโตไปได้ถึงจุดจุดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปถึง “จุดวิกฤต” ที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการด้านทรัพยากรต่าง ๆ ได้อีกแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ “จุดพลิกผัน” ที่ต้องเลือกว่าจะอยู่รอดหรือตายไป ด้วยสาเหตุเหล่านี้ทำให้มนุษย์ไม่สามารถหาพวกเขาพบได้
“อารยธรรมอาจล่มสลายจากความเหนื่อยหน่าย หรือเปลี่ยนเส้นทางตัวเองไปสู่การจัดลำดับความสำคัญเพื่อสภาวะสมดุล ซึ่งเป็นสภาวะที่การขยายอาณานิคมตัวเองในจักรวาลไม่ใช่เป้าหมายอีกต่อไป ทำให้ยากต่อการตรวจจับจากระยะไกล” ไมเคิล หว่อง (Michael Wong) จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีกล่าว
ความหมายก็คือ เมื่อถึงจุดวิกฤต อารยธรรมต่างดาวที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังเกิดปัญหาอยู่ (เทียบกับเหตุการณ์บนโลกคือภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือสงคราม) จะยังพยายามสร้างการเติบโตต่อไปและท้ายที่สุดปัญหาเหล่านั้นจะทำให้เกิดการล่มสลายจนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์
หากอารยธรรมใดที่รู้ถึงสภาวะที่แท้จริงของตัวเอง พวกเขาจะทราบว่ามีการเติบโตที่มากและเร็วเกินไป อารยธรรมนั้นจะยุติการทุ่มทรัพยากรกับการขยายดินแดนในอวกาศ กลับมาแก้ปัญหาบนโลกของพวกเขาเองเพื่อสร้างสมดุลก่อนที่จะพังทลายลง
จากตัวเลือกทั้งสองนี้ ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนก็สร้างผลลัพธ์เหมือนกันคือ “ความเงียบงัน” ถ้าพวกเขาตายไปแล้วก็คือตายไปแล้ว แต่ถ้าพวกเขาเลือกที่จะสร้างสมดุล ก็ไม่อาจขยายอาณานิคมตัวเองในอวกาศอย่างยิ่งใหญ่จนมนุษย์บนโลกสามารถตรวจจับได้ จึงยังไม่มีอารยธรรมมนุษย์ต่างดาวใดๆ มาเยี่ยมเยือนโลก
“ผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเน้นสร้างภาวะสมดุล (บนดาวของตัวเอง) หรือการล่มสลายของอารยธรรม ก็จะสอดคล้องกับการไม่มีอารยธรรมเกิดขึ้น” สตรว์ด บาร์ทเล็ตท์ (Stuart Bartlett) จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (CalTech) กล่าว
เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะ อารยธรรมอาจเปลี่ยนทิศทางจากการเดินทางข้ามดวงดาวไปสู่ความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม และความเท่าเทียม แม้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ละทิ้งการสำรวจอวกาศไปเสียทีเดียว แต่ก็จะไม่ขยายตัวเองให้ใหญ่พอจนเราสามารถสังเกตเห็น
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยได้เน้นย้ำว่าข้อเสนอของพวกเขาเป็นเพียง “สมมติฐาน” ที่นำมาจากการสังเกตสิ่งมีชีวิตบนโลก และต้องการกระตุ้นให้เกิดการอภิปราย วิเคราะห์ และศึกษาในอนาคตต่อไป ‘ข้อขัดแย้งของเฟอร์มี’ นั้นมีนักวิทยาศาสตร์เสนอแนวทางมากมาย เพื่อตอบคำถามที่ว่า “มนุษย์ต่างดาวหายไปไหนกันหมด”
จนกว่าเราจะได้เห็นพวกเขาโบกมือให้กับเรา สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือ “ค้นหาต่อไป” ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ และหวังว่าพวกเขาอาจซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง เพื่อที่เราจะไม่ต้องโดดเดี่ยว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsif.2022.0029
https://www.universetoday.com/ 155896/maybe-we-dont-hear-from-aliens-because-they-choose-to-go-silent
https://phys.org/news/2022-05-planetary-scientists-solution-fermi-paradox.html
https://www.livescience.com/alien-civilizations-doomed-to-collapse