รู้ไหม? ต้นไม้พูดได้ นะ แล้วพวกพืชมีวีธีสื่อสารกันอย่างไร?

ต้นไม้พูดได้ “ช่วยที”, “ข้างล่างนี่”, “ออกไป” หรือ “ผลไม้ของฉันพร้อมกินแล้วนะ!” ข้อความเหล่านี้คือข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าพืชส่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นตะไคร่น้ำ ไปจนถึงต้นไม้ยักษ์ซีควอญา (Sequoia) ที่สูงเกือบ 100 เมตร อันที่จริง หากเราได้เคยกลิ่นหญ้าที่ถูกตัดใหม่ๆ แสดงว่าคุณกำลังสื่อสารกับพืช

งานวิจัยใหม่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่าพืชหลายชนิดสร้างเสียง “อัลตราโซนิก” เพื่อสื่อสารความเครียด ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าพืชสามารถพูดคุยกับทุกสิ่งรอบตัวได้

ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์สำคัญ เพราะจะช่วยให้เราปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับพืชเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้พวกมันได้ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

ศาสตราจารย์ ไซมอน กิลรอย (Simon Gilroy) นักพฤกษศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กล่าวว่าการส่งสัญญาณสื่อสารของพืชจะเหมือนกับ “ท่อประปา” ระหว่าง ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล มากกว่าจะเหมือนการเคลื่อนที่ผ่านระบบประสาทในมนุษย์

ใบไม้ตรวจจับผู้ล่าหรือการเปลี่ยนแปลงของแสงและเสียง ขณะที่รากก็จะคอยตรวจสอบสภาพใต้พื้นดินในเรื่องของสารอาหาร น้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อาจอยู่บริเวณนั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าได้ด้วยเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาพิเศษ

เมื่อพืชได้รับบาดเจ็บสัญญาณจะส่งออกมาจากบาดแผลนั้น ทั้งกับดักกินแมลงของพืชกาบหอยแครง (Venus flytrap) ไปจนถึงพืชไมยราบที่บอบบาง สารเคมีที่เปรียบเหมือนฮอร์โมนก็เช่นกัน เมื่อมีภัยคุกคามเร่งด่วน เช่นการคุกคามจากแมลง พืชหลายชนิดที่เกิดความเครียดนี้จะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า ‘จัสโมนิกแอซิด’ (Jasmonic Acid) เพื่อบอกให้ส่วนต่าง ๆ สร้างพิษในการป้องกันตัวเอง

ไม่เพียงเท่านั้น พืชยังร้องขอความช่วยเหลือจากสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติได้ด้วย จริง ๆ แล้วกลิ่นหญ้าที่ถูกตัดคือสัญญาณบอกเหตุ เมื่อพวกมันปล่อยกลิ่นนี้หลังจากถูกแมลงกัดกินใบ กลิ่นจะลอยไปไกลราวกับส่งสัญญาณร้องขอความช่วยเหลือจากแมลงอื่นให้สังเกตเห็นและมาจับตัวที่กำลังกินใบหญ้าของพวกมันอยู่

นาตาเลีย ดูดาเรวา (Natalia Dudareva) นักชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู (Purdue University) กล่าวว่าสารระเหย (กลิ่น) เหล่านี้มีหน้าที่แตกต่างกันไป ต้นไม้หลายชนิดใช้สารระเหยนี้เพื่อดึงดูดแมลงผสมเกสรให้มากินผลไม้หรือเกสรของมัน และหลายครั้งก็สามารถส่งข้อความ “มานี่” ไปยังเชื้อราที่อยู่ใต้ดินให้มาพันรอบรากเพื่อแลกเปลี่ยนสารอาหารกับน้ำตาลที่พืชสร้าง

พวกมันยังสื่อสารกับเครือญาติด้วยกันเองได้อีกด้วย แอนเดรีย คลาวิโจ แมคคอร์มิค (Andrea Clavijo McCormick) จากสาขาสิ่งแวดล้อมและการเกษตร มหาวิทยาลัยแมสซี่ (Massey University) กล่าวว่าพืชจะคอยตรวจจับลูกหลานของมันและช่วยให้พวกมันเติบโตไปด้วยกันแทนที่จะแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร

ในฐานะมนุษย์ เราอาจไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ด้วยหูของเราเอง แต่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในธรรรมชาติมีวิธีติดต่อสื่อสารกันมากมาย ไม่ว่าจะพืชด้วยกันเอง จุลินทรีย์ แมลง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างค้างคาวและหนูต่างคอยฟังอยู่

การทำความเข้าใจว่าธรรมชาติสื่อสารกันอย่างไร จะช่วยให้มนุษย์ปกป้องความอุดมสมบูรณ์ที่กำลังค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไปทุกวัน

“ผมคิดว่าเราเห็นถึงความซับซ้อนของการสื่อสารในต้นไม้นั้นยิ่งใหญ่พอ ๆ กับในสัตว์” แมมตา ราวัต (Mamta Rawat) นักจุลชีววิทยาจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation, NSF) กล่าว “ยังมีอีกมากให้ต้องเรียนรู้ และเราเพิ่งแตะยอดภูเขาน้ำแข็ง”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/plants-can-talk-yes-really-heres-how

อ่านเพิ่มเติม ทำไมเรามองไม่เห็น “พืช” ? ปรากฎการณ์ ตาบอดพืช ที่มนุษย์กำลังเผชิญ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.