กระบวนการกลืนกินดาวเคราะห์นี้ เป็นขั้นตอนการตายของดาวฤกษ์อายุมาก หลังจากที่เชื้อเพลิงในแกนกลางของมันหมดลง มันจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นจนบางครั้งก็ใหญ่พอที่จะครอบดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้มันจนหมด สิ่งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยถูกพบเห็นโดยตรงมาก่อน
“มีการทำนายเหตุการณ์ลักษณะนี้มานานหลายทศวรรษ แต่จนถึงขณะนี้เราไม่เคยพบเห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร” คิชาเลย์ เดอ (Kishalay De) นักดาราศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ในเคมบริดจ์กล่าว
ดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 12,000 ปีแสง ในทิศของกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ในขณะที่ดาวเคราะห์ที่ถูกกลืนกินดวงนี้น่าจะมีขนาดพอ ๆ กับดาวพฤหัสบดี โดยมันมีวงโคจรที่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันมากกว่าดาวพุธที่โคจรรอบดวงอาทิตย์
มันอยู่ในจุดเริ่มต้นของช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือที่เรียกว่า ‘ดาวยักษ์แดง’ นาซ่าระบุว่าอาจอยู่ในขั้นตอนนี้มานานกว่า 100,000 ปี ข้อมูลของดาวเทียม NEOWISE เผยว่า ดาวสว่างขึ้นเกือบ 1 ปี ก่อนที่เหตุการณ์ ZTF SLRN-2020 จะสร้างแสงสว่างวาบออกมา ซึ่งก็คือสัญญาณว่าดาวเคราะห์เริ่มถูกกินแล้ว
และแสงสว่างวาบเหล่านั้นคือฝุ่นที่สังเกตได้ในช่วงคลื่นอินฟราเรด โดยการที่ NEOWISE สังเกตมันทุก ๆ 6 เดือน ช่วยให้นักดาราศาสตร์พบเห็นความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และข้อมูลบ่งชี้ว่าดาวฤกษ์ไม่ได้ดึงดาวเคราะห์ลงไปทีเดียว แต่มันค่อย ๆ ดึงก๊าซร้อนออกจากพื้นผิว
ขณะที่ดาวฤกษ์บวมขึ้นเรื่อย ๆ ช่องว่างระหว่างวงโคจรก็ลดลงเช่นกัน ทำให้ดาวเคราะห์หมุนวนเข้าสู่ความตายเร็วขึ้นพร้อมกับถูกดึงฝุ่นออกไปมากขึ้น ก๊าซฝุ่นจำนวนมากจากการชนกันนี้กระเด็นสู่อวกาศจนนักวิทยาศาสตร์บนโลกสามารถตรวจจับได้ทั้งหอสังเกตการณ์ภาคพื้นและดาวเทียมในอวกาศ
“มีเพียงไม่กี่สิ่งในจักรวาลที่สว่างขึ้นด้วยแสงอินฟราเรด แล้วสว่างขึ้นด้วยแสงที่ตาเห็นในเวลาต่าง ๆ กัน” เดอกล่าว “ดังนั้นการที่ NEOWISE มองเห็นดาวสว่างขึ้นหนึ่งปีก่อนที่จะมีการปะทุของแสง (สว่างวาบ) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิจารณาว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร”
เหตุการณ์นี้จะเป็นแบบอย่างให้เราเรียนรู้ เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับดวงอาทิตย์ของเราในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า เมื่อดวงอาทิตย์ของเราหมดเชื้อเพลิง มันจะกลายเป็นดาวยักษ์แดงที่จะกลืนกินดาวพุธ ดาวศุกร์ และ อาจเป็นไปได้ว่ารวมถึง ‘โลก’ ด้วยเช่นกัน
“ถ้าผมเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มองดูระบบสุริยะในอีก 5 พันล้านปีจากนี้ไป ผมอาจเห็นดวงอาทิตย์สว่างขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอะไรน่าทึ่งเท่านี้ แม้ว่ามันจะเป็นการทำงานของฟิสิกส์แบบเดียวกันก็ตาม” เดอระบุ
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Image credit: K. Miller/R. Hurt (Caltech/IPAC)
ที่มา
https://www.space.com/astronomers-spot-star-devouring-planet
https://www.jpl.nasa.gov/news/caught-in-the-act-astronomers-detect-a-star-devouring-a-planet
https://phys.org/news/2023-05-astronomers-witness-star-devouring-planet.html
https://www.nature.com/articles/s41586-023-05842-x.epdf