เผยความคิดช่วงสุดท้ายในชีวิตของ สตีเฟ่น ฮอว์คิง ต่อจักรวาลและชีวิต โดยเพื่อนร่วมงานของเขาที่ร่วมกันพัฒนามานาน 20 ปีในเรื่อง ‘ทฤษฏีควอนตัมใหม่ของบิ๊กแบง”

สตีเฟ่น ฮอว์คิง ในประเด็นที่ว่า บิ๊กแบงสามารถสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการสนับสนุนชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้อย่างไร? คำตอบของรายละเอียดทั้งหมดอยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ โทมัส เฮอร์ท็อก (Thomas Hertog) ผู้ร่วมทำงานกับ สตีเฟ่น ฮอว์คิง (Stephen Hawking) ที่ชื่อว่า ‘On the Origin of Time: Stephen Hawking’s Final Theory’

ด้วยการศึกษา ทดลอง และปรับเปลี่ยน ‘กฎฟิสิกส์’ เหล่านั้นเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณของสสารและพลังงานในจักรวาล อัตราส่วนที่ละเอียดอ่อนของแรง หรือจำนวนมิติเชิงพื้นที่ ทำให้นักฟิสิกส์รู้ว่าหากเงื่อนไขเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จะทำให้จักรวาลแทบจะไร้ซึ่งชีวิต

แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ค่าต่าง ๆ ในจักรวาลของเรา ‘ถูกออกแบบตั้งค่า’ มารึเปล่า?

ฮอว์คิงและเฮอร์ท็อกจึงได้มองจักรวาลในมุมของ ‘กลศาสตร์ควอนตัม’ แทนที่พิจาณาในมุมของเอกภพซึ่งมีขนาดมหึมา “เราไม่ใช่พระเจ้าที่มองเห็นจักรวาลจากภายนอก” ฮอว์คิงกล่าว

ตามกลศาสตร์ควอนตัม อนุภาคสามารถอยู่ในตำแหน่งที่เป็นไปได้หลายแห่งในเวลาเดียวกัน พวกมันโผล่ออกมาจากพื้นที่ว่างเปล่าและหายไปตลอดเวลา พวกเขาระบุว่าในจักรวาลควอนตัมนี้ อดีตและอนาคตที่จับต้องได้เกิดขึ้นเป็นหมอกควันแห่งความเป็นไปได้ต่าง ๆ นา ๆ ในช่วงเริ่มต้นของบิ๊กแบง

ความแปรปรวนเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างอนุภาค ซึ่งทำให้เอกภพยุกดึกดำบรรพ์ก่อเกิดต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาของกฎทางกายภาพ และเมื่อเอกภพดำเนินไปตามทางของมัน กฏของฟิสิกส์หรือกฎทางกายภาพก็เปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปพร้อมกับจักรวาลที่ก่อตัวขึ้น

พวกเขาเสนอว่ากระบวนการนั้นเป็นไปตามสิ่งที่คล้ายกับ ‘กฎวิวัฒนาการของดาร์วิน’ หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าตัวเลขทางฟิสิกส์ต่างๆ ปัจจุบันเกิดจากวิวัฒนาการ แทนที่จะถูกกำหนดมาตั้งแต่เริ่มต้นหลังบิ๊กแบง ผลเหล่านี้ทำให้จักรวาลค่อย ๆ มั่นคงขึ้นตามกาลเวลา มิติ แรง และอนุภาค เปลี่ยนรูปและกระจายตัวในเตาหลอมของบิ๊กแบง

คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสปีชีส์ต่าง ๆ ทางชีววิทยาในอีกหลายพันล้านปีต่อมา ที่สร้างสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทั้งคู่ใช้สนับสนุนสมมุติฐานนี้คือเหตุผลในการย้อนเวลา (reasoning backward in time) เพราะวิวัฒนาการจะเดินทางไปสู่ความเรียบง่ายและมั่นคง

จากนั้นมองย้อนเวลากลับไป ภาพที่เคยชัดเจนจะเริ่มคลุมเครือ และท้ายที่สุด ข้อมูลทั้งหมดจะสูญเสียไปในจุดกำเนิดของเวลาที่เริ่มต้นเมื่อเกิดบิ๊กแบง ฮอว์คิงและเฮอร์ท็อกมองว่าเวลาและเหตุปัจจัยนี้เป็น “คุณสมบัติที่เกิดขึ้นใหม่” ซึ่งไม่เคยมีก่อน แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคควอนตัมจำนวนนับไม่ถ้วน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ชุดความสุ่มที่เป็นผลลัพธ์ของวิวัฒนาการจักรวาลที่ทำให้ค่าฟิสิกส์เป็นตัวเลขเฉพาะซึ่งดำรงอยู่ในเอกภพปัจจุบันอย่างที่ควรจะเป็นนั้น สามารถเข้าใจได้เมื่อเรามองย้อนกลับไปเท่านั้น เอกภพในยุคแรกเริ่มเป็นการซ้อนทับของโลกที่เป็นไปได้จำนวนมหาศาล

ทั้งคู่หวังว่าการสังเกตการณ์ทางจักรวาลวิทยาในอนาคตจะพบหลักฐานในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น การสังเกตอย่างแม่นยำของคลื่นความโน้มถ่วง หรือระลอกคลื่นในโครงสร้างของกาลอวกาศ อาจเปิดเผยลายเซ็นของกิ่งก้านสาขาในยุคแรก ๆ ของเอกภพ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.iflscience.com/stephen-hawkings-collaborator-reveals-his-final-thoughts-on-the-cosmos-68896

อ่านเพิ่มเติม ปริศนาหลุมดำ สตีเฟน ฮอว์คิง “Hawking information paradox” อาจถูกไขคำตอบได้ ด้วย ‘เส้นควอนตัม’ ข้อมูล-ร่องรอยดาวไม่หายในหลุมดำ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.