กรณี ดัชนีความร้อน แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่หลายพื้นที่ก็ยังสัมผัสกับความร้อนอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมา ประชาชนได้ติดตามการรายงานสภาพอากาศ และ ดัชนีความร้อน อย่างใกล้ชิด
การรายงานสภาพอากาศของหน่วยงานต่างๆ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา นอกจากจะรายงานตัวเลขระบุอุณหภูมิอากาศในแต่ะช่วงของวัน หลายคนอาจเคยได้คำว่า “ดัชนีความร้อน” ผ่านๆ มาบ้าง แต่ในทางอุตุนิยมวิทยา คำนี้มีความหมายแท้จริงว่าอย่างไร
ดัชนีความร้อนหมายความว่าอย่างไร
ดัชนีความร้อนคือ อุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ว่าในขณะนั้นอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นอย่างไร โดยนำค่าอุณภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริง และความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ มาวิเคราะห์หาค่าที่เป็นตัวแทนของอุณหภูมิที่มนุษย์รู้สึกได้ในสภาวะอากาศขณะนั้น
ในอดีต นักวิทยาศาสตร์ จอร์จ วินเทอร์ลิง เป็นผู้ที่เริ่มสนใจศึกษาในหัวข้อดัชนีความร้อน ในปี 1978 และได้ตั้งสมสมติฐานว่า ดัชนีความร้อนเกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ เช่น น้ำหนัก ความสูง ชนิดของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ประเภทและจำนวนของกิจกรรมที่ทำระหว่างวัน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยทั้งหมดส่งผลถึงความไม่แน่นอนของอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์แต่ละคน
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ และส่งผลต่อค่าดัชนีความร้อนโดยตรงคือ ความชื้นสัมพันธ์ในอากาศ (Relative humidity) ซึ่งเป็นค่าร้อยละที่บ่งชี้ถึงปริมาณไอน้ำในอากาศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ปริมาณไอน้ำในอากาศหารด้วยปริมาณไอน้ำในอากาศที่มีได้ในอุณหภูมินั้นๆ ซึ่งแปรผันตามอุณหภูมิของอากาศ
เช่น อุณหภูมิด้วยเช่นที่ 30 องศาเซลเซียส ปริมาตรของอากาศสามารถมีไอน้ำได้ถึงร้อยละ 4 ในขณะที่อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส อากาศสามารถเก็บไอน้ำได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 และในธรรมชาติ อากาศที่เย็นกว่าจะมีไอน้่ำระเหยน้อยกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนอุณหภูมิของอากาศจึงสามารถเปลี่ยนแปลงค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้ได้ แม้ว่าปริมาณไอน้ำในอากาศจะคงที่ก็ตาม
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทราบอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ขณะนั้น ก็จะนำไปสู่การวิเคราะห์หาค่าดัชนีความร้อน และสร้างเป็น “ตารางดัชนีความร้อน” จากตารางดัชนีความร้อน อธิบายได้ว่า “ระดับความชื้นสัมพัทธ์ส่งผลโดยตรงให้ค่าดัชนีความร้อนสูงกว่าอุณหภูมิที่แท้จริง”
ตัวอย่างเช่น เมื่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีค่าร้อยละ 40 เท่ากันทั้งสองค่าอุณหภูมิ ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส (80 องศาฟาเรนไฮต์) ค่าดัชนีความร้อนจะมีค่าใกล้เคียงอุณหภูมิที่แท้จริง
แต่ถ้าพิจารณาที่อุณภูมิ 43 องศาเซลเซียส (110 องศาฟาเรนไฮต์) ค่าดัชนีความร้อนที่อ่านได้จะสูงกว่าอุณหภูมิที่แท้จริง คือ 58 องศาเซลเซียส (136 องศาฟาเรนไฮต์) จึงทำให้ร่างกายมนุษย์รู้สึกร้อนกว่าปกติ
เมื่อความร้อนในอากาศสูงขึ้น อาจส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์
ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา สำหนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า มีประชาชนได้รับผลกระทบจากดัชนีความร้อนในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ซึ่งบางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนติดตามการรายงานค่าดัชนีความร้อน และดูแลตัวเองและสมาชิกในบ้าน ให้ปลอดภัยจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ โดยได้แบ่งระดับความรุนแรงของค่าดัชนีความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์ไว้ ดังนี้
ค่าดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส จัดเป็นระดับสีเขียว คือ ระดับเฝ้าระวัง ถ้าทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ท่ามกลางอากาศร้อนระดับนี้ จะรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ
ค่าดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส จัดเป็นระดับสีเหลือง ระดับเตือนภัย เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด ถ้าสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานาน
ค่าดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียส จัดเป็นระดับสีส้ม มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้องและไหล่ ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเป็นลมแดดได้
ค่าดัชนีความร้อน 54 องศาเซลเซียส ขึ้นไป จัดเป็นระดับสีแดง ระดับอันตรายมาก เกิดภาวะลมแดด ตัวร้อน ตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ ถ้าสัมผัสอากาศร้อนมากติดต่อกันหลายวัน
นอกจากนี้ อากาศร้อนยังส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง อย่างสุนัขและแมว ได้เช่นกัน ดังนั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรงดพาสุนัขและแมวไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงกลางวัน ให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ร่ม หรือในบ้านตลอดเวลา และเพิ่มปริมาณน้ำให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำมากขึ้น
สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย
ภาพเปิด Tobias Tullius
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.weather.gov/ama/heatindex
https://www.clearias.com/ heat-index/
https://ambientweather.com/heind.html
https://weather.com/safety/heat/news/2018-06-18-heat-index-feels-like-temperature-summer