เบาะแสใหม่ชี้ ยีนจากนีแอนเดอร์ทัลส่งผลถึงสุขภาพเรา

โดย Michelle Z. Donahue

หากทุกวันนี้ไขข้อของคุณไม่ค่อยดีนัก หรือผิวของคุณไหม้ง่ายจากแสงแดด บางทีคุณอาจจะอยากกล่าวโทษมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล

นักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงขั้นตอนที่สองของการตรวจจีโนมจากกระดูกอายุ 52,000 ปี ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเพศหญิง ที่พบในถ้ำ Vindija ของประเทศโครเอเชีย

ด้วยจีโนมจากยุคโบราณและจีโนมของมนุษย์เพศชายในปัจุบัน ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าดีเอ็นเอของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลนั้นมีส่วนช่วยในการต่อเติมยีนของมนุษย์อย่างไร และอาจส่งผลต่อเรามาจนถึงในปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Science เสนอว่า ยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลคิดเป็นสัดส่วนราว 1.8 – 2.6% ในยีนของบรรพบรุษมนุษย์ในยูเรเซีย จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากที่ตอนแรกเคยคาดกันไว้ที่ 1.5 – 2.1%

ผลการศึกษาเดียวกันยังพบว่าจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจับคู่กันพอดีกับจีโนมของมนุษย์สมัยใหม่ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ระดับคอเลสเตอรอลสูง, โรคจิตเภท, ความผิดปกติของการกินตลอดจนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

แต่อย่าเพิ่งกล่าวโทษมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลสำหรับโรคภัยทั้งหมดที่คุณมี Kay Prüfer หัวหน้าการศึกษาครั้งนี้จากสถาบันวิวัฒนาการมานุษยวิทยา Max Planck ในเมืองไลพ์ซิก ของเยอรมนีกล่าว “มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นมันไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณมีตัวแปรดังกล่าวคุณจะป่วย หรือคุณจะไม่ป่วยเลย มันเป็นอะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ต่างหาก”

นอกจากนั้นการมียีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเป็นส่วนหนึ่งในตัว อาจเป็นประโยชน์ก็เป็นได้ “เมื่อเรามองไปที่ยีน เราพบตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อไขมันคอเลสเตอรอล LDL ยีนจากถ้ำ Vindija มีตัวป้องกันไขมันดังกล่าว” Prüfer กล่าว ไขมันเลวชนิดนี้จะส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดและหลอดเลือด ดังนั้นแล้วยีนดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้

“ความคิดทั่วไปก็คือ ผู้คนมักคิดว่าอะไรที่มาจากนีแอนเดอร์ทัลมักไม่ดีไปเสียหมด” Prüfer กล่าว “ซึ่งไม่ถูกต้องซะทีเดียว”

ดีเอ็นเอที่ใช้ในการก่อร่างสร้างจีโนมใหม่ขึ้นมานี้มีชื่อว่า Vindija 33.19 ตั้งชื่อตามถ้ำที่พบกระดูกดังกล่าว แม้ว่าจีโนมนี้จะเกิดขึ้นมาจากจีโนมของอีกบุคคลอย่างน้อย 5 คนรวมกัน แต่กระดูกที่พบในถ้ำ Vindija นั้นเก็บรายละเอียดของอีเอ็นเอไว้มากพอที่จะช่วยให้ Prüfer และทีมงานทำการวิเคราะห์ในขั้นสูงได้

จากตัวอย่างดังกล่าวช่วยให้พวกเขาสามารถแยกยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเพศหญิงออกจากพ่อแม่ของเธอได้ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้เคยสำเร็จในครั้งเดียว กับตัวอย่างอายุ 122,000 ปีจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล อัลไต จากไซบีเรีย และขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังหาว่ามียีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลในมนุษย์สมัยใหม่มากน้อยแค่ไหน และพวกมันมาได้อย่างไร

“มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลผสมผสานเข้ากับบรรพบรุษของเรา ที่มาจากยุโรป” Prüfer กล่าว “และมันไม่เกี่ยวว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลก แม้ว่าคุณจะเป็นคนเอเชีย แต่คุณก็อาจเป็นญาติที่ใกล้ชิดกับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลได้เช่นกัน” แม้ว่าในความเป็นจริงมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล อัลไต จะมีความใกล้ชิดกับคุณมากกว่าก็ตาม ในทางภูมิศาสตร์

ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ใน Human Genetics วารสารอเมริกัน Michael Dannemann และ Janet Kelso ผู้ร่วมงานของ Prüfer มีมุมมองที่ต่างออกไปเล็กน้อย แทนที่จะมองไปที่โรคพวกเขามองว่ายีนจากบรรพบรุษเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายและพฤติกรรมของเรา

ทีมงานเปรียบเทียบยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล อัลไต เป็นครั้งแรกกับข้อมูลทางสรีรวิทยาของชาวยุโรปตอนเหนือจำนวน 112,000 คน จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ใน UK ไบโอแบงค์ Dannemann และ Kelso พบว่ามียีน 15 ยีนที่ทับซ้อนได้พอดีกับกลุ่มจีโนมจากไบโอแบงค์ ยีนเหล่านี้กำหนดสีผม สีตา ตลอดจนความไวของผิวต่อแสงแดด แม้กระทั่งจำนวนชั่วโมงของการนอนหลับวว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบตื่นเช้า หรือถ่างตาได้ตลอดคืน

และต้องขอย้ำอีกครั้ง ยีนไม่ได้เป็นตัวกำหนดทุกอย่างของคุณ ยีนจากมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลก็เหมือนกับยีนของมนุษย์ยุคใหม่ที่ส่งผลในด้านต่างๆ แต่ที่น่าสนใจก็คือมันยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ Dannemann และ Kelso มีแผนว่าจะตรวจสอบจีโนมจากถ้ำ Vindija กับตัวอย่างจากผู้คนจำนวน 500,000 คนโดยไบโอแบงค์ใหม่อีกครั้ง ด้วยความหวังว่าจะพบกับคำตอบที่ยังคงซ่อนเร้นอยู่มากยิ่งขึ้น

“ข้อมูลขณะนี้ยังคงบางเบา แต่เราคาดหวังว่าจะใช้เวลาไม่นานเท่าไหร่ในการพบจีโนมของนีแอนเดอร์ทัลอีกครั้ง” Dannemann กล่าว “การมีข้อมูลให้อ้างอิงมากยิ่งขึ้นจะช่วยให้เราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของยีนเกิดขึ้นในยุคของนีแอนเดอร์ทัลจริงหรือไม่”

Miguel Vilar นักวิทยาศาสตร์จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวว่า ตัวอย่างจากถ้ำ Vindija เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการสร้างประวัติศาสตร์ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลให้เห็นภาพรวมสมบูรณ์ ตลอดจนความเข้าใจที่ว่าบรรพบรุษส่งผลอย่างไรต่อเรา ซึ่งตัวเขาคาดหวังว่าข้อมูลทางพันธุกรรมจากห้องปฏิบัติการทั่วโลกจะช่วยให้เราได้พบคำตอบ

“ความจริงก็คือองค์ความรู้ที่เรามีก้าวหน้าไปไกลกว่าแต่ก่อนมาก” Vilar กล่าว และงานวิจัยชิ้นใหม่ยังจะช่วยไขปริศนาที่ว่า เหตุใดยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลยังคงอยู่นจีโนมของเรามานาน 40,000 – 50,000 ปี

“เรารู้มานาน 10 – 12 ปีแล้ว ว่ายีนของเราและนีแอนเดอร์ทัลมีการผสมกัน เรากำลังหาคำตอบว่าทำไมยีนเหล่านี้ยังคงอยู่รอดมาได้” Vilar กล่าว “ความจริงที่กำลังจะมาถึงเร็วๆ นี้ คือการอธิบายว่าเหตุใดยีนเหล่านี้จึงสำคัญในวิวัฒนาการของเรา”

 

อ่านเพิ่มเติม : เด็กของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเติบโตไม่ต่างจากเรานักสำรวจถ้ำค้นพบฟอสซิล ไขปริศนาญาติมนุษย์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.