ทำไมผู้สูงอายุถึงชอบ ตื่นเช้า ? อันที่จริง ผู้อายุไม่ได้อยากนอนลดลง แต่ไม่สามารถหลับสบายได้อย่างต่อเนื่อง

เรามักติดภาพผู้สูงอายุในบ้านหรือรอบข้างมักตื่นขึ้นในตอนเช้า บางครั้งก็ ตื่นเช้า ตรู่ จนทำให้หลายคนคิดว่าคนที่อายุมากอาจจะอยากนอนน้อยลง นั่นไม่เป็นความจริง ผู้ใหญ่ทุกคนไม่ว่าจะอายุแค่ไหนต่างก็มีความต้องการนอนหลับคืนละ 7 ถึง 9 ชั่วโมง

นักวิจัยมักพบว่า ผู้สูงอายุมีอาการหลับลึกน้อยลง ตื่นกลางดึกคืนละ 3-4 ครั้ง เข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อย หรือหลับไม่สนิท ต้องงีบระหว่างวัน เข้านอนหัวค่ำและตื่นตั้งแต่เช้า สิ่งเหล่านี้ขัดขวางการนอนอย่างมีคุณภาพ ทำให้การนอนหลับให้สนิทนั้นยากกว่าคนวัยหนุ่มสาวอย่างมาก และนั่นก็มีสาเหตุมาจากหลายเหตุผล

ปัจจัยใหญ่ 3 ประการที่ทำให้เปลี่ยนแปลงไปตามร่างกายที่อายุมากขึ้นได้ส่งผลต่อระยะเวลาและคุณภาพของการนอนหลับ ซึ่งก็คือ ฮอร์โมน, สภาวะสุขภาพ และ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุมักมีปัจจัยเหล่านี้อย่าง 1 อย่าง

– ฮอร์โมน เช่น เมลาโทนิน (Melatonin) และโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยในการนอนหลับ เมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายจะหลั่งทั้งสองชนิดนี้น้อยลง ทำให้มีปัญหาด้านการนอนมากขึ้น รวมถึงวัยหมดประจำเดือนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งรบกวนการนอนหลับเช่นเดียวกัน

– สภาวะสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้น มนุษย์จะมีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรังสูงขึ้น ความเจ็บป่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นโรคข้ออักเสบที่สร้างอาการปวดหลายครั้งตอนกลางคืน โรคเบาหวานที่ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย โรคหัวใจความดันโลหิตสูงอาจทำให้ต้องสะดุ้งตื่นจากการหายใจลำบาก หรือโรคทางจิตที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล ทั้งหมดขัดขวางการนอนอย่างมีคุณภาพ

– วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป กิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุมักเปลี่ยนไปจากวัยหนุ่มสาวเสมอ คนแก่ออกกำลังกายหรือขยับตัวน้อยลงซึ่งส่งผลต่อการพักผ่อน เมื่ออายุมากขึ้นก็ใช้เวลาในบ้านเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ร่างกายได้รับแสงแดดน้อยลงและไปมีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงการใช้ยารักษาโรคด้วยเช่นกันก็สามารถรบกวนการนอนได้

แล้วผู้สูงอายุสามารถปรับปรุงการนอนได้ไหม? คำตอบคือได้ ผู้เชี่ยชาญได้แนะนำวิธีเบื้องต้นไว้หลายวิธี แต่หากยังมีปัญหาด้านการนอนและต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ทางเราขอแนะนำให้พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพื่อระบุสาเหตุได้ตรงจุดตามความแตกต่างของผู้ป่วยแต่ละคน

– ตื่นและเข้านอนในเวลาเดิมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่รวมถึงคนทุกเพศทุกวัยจัได้ประโยชน์จากวิธีนี้ด้วยเช่นกัน

– จำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ก่อนนอน เนื่องจากแสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอสามารถรบกวนการนอนหลับได้

– ลดหรือหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนและนิโคตินก่อนนอน เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้นอนไม่หลับให้ได้มากที่สุด รวมถึงแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน เพราะแม้จะทำให้ง่วงแต่ก็ทำให้นอนหลับไม่สนิทในตอนกลางคืน

– เพิ่มการขยับตัว การออกกำลังกายเบา ๆ ตามสภาพอายุจะช่วยให้ร่างกายหลับได้ง่ายขึ้นและยังมีผลต่อสุภาพโดยรวมได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ เนื่องจากการออกกำลังกายบางชนิดอาจทำให้อาการแย่ลง

– รับแสงธรรมชาติให้เพียงพอ แสงแดดช่วยให้ร่างกายผลิตเมลาโทนิน พยายามรับแสงอาทิตย์อย่างน้อย 2 ชั่วโมงในแต่ละวัน การออกไปกลางแจ้งบ้างจะช่วยได้มาก

ท้ายที่สุดหากการนอนยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าอาจมีความผิดปกติ เช่น ภาวะสุขภาพที่ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ไม่ว่าจะเป็น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและโรคนอนไม่หลับ ควรเข้ารับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ การพูดคุยกับแพทย์จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.indy100.com/science-tech/sleep-wake-up-earlier-older

https://www.verywellhealth.com/sleep-and-aging-2224266

https://www.sleepfoundation.org/ aging-and-sleep/why-do-older-adults-wake-up-early

https://www.healthdigest.com/614970/the-real-reason-older-people-wake-up-earlier

อ่านเพิ่มเติม การนอนหลับ อย่างมีคุณภาพ มีความสำคัญอย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.