ดวงอาทิตย์ มีสีอะไร? คำถามง่าย ๆ ที่คำตอบไม่ง่าย! เพราะสิ่งที่เราเห็นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด

ดวงอาทิตย์ โผล่พ้นขอบฟ้าด้วยสีเหลืองอมส้มในยามเช้า จากนั้นมันก็ขาวขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปก็สิ้นสุดวันด้วยสีส้มแดงอันสวยงาม

แต่หากเราคิดถึงคำถามที่ว่า ‘แท้จริงแล้ว ดวงอาทิตย์สีอะไร?’ ภาพการขึ้นลงของดาวฤกษ์ดวงนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ เพราะสีของมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ดวงอาทิตย์ได้รับการจัดประเภทอย่างเป็นทางการว่า เป็นดาวแคระเหลือง (yellow dwarf star) โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวระหว่าง 5,300 เคลวิน ถึง 6,000 เคลวิน และในแง่ของมวล ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งบนสุดของดาวฤกษ์ประเภทนี้ แต่นั่นหมายความว่า ดาวฤกษ์ของเราเป็นสีเหลืองจริง ๆ หรือไม่?

ดวงอาทิตย์เป็นวัตถุที่เปล่งแสงอย่างสมบูรณ์ นั่นหมายความว่าดาวฤกษ์ของเราเปล่งแสงในทุกช่วงคลื่นอย่างที่มันเป็น ทั่วทั้งสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งแต่คลื่นวิทยุไปจนถึงรังสีแกมมา แต่เมื่อเราจะระบุสีของวัตถุอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะบอกสีของมันตามช่วงคลื่นที่เราเห็นหรือก็คือช่วงแสงที่ตามองเห็น

ดวงอาทิตย์เปล่งแสงที่มีพลังงานสูงสุดในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นตามที่นาซา (NASA) ระบุว่า 500 นาโนเมตร ซึ่งอยู่ในช่วงของส่วนสีเขียว แต่เมื่อเรามองไปทั่วทั้งจักรวาล เราไม่เห็นดาวฤกษ์ดวงไหนเป็นสีเขียวเลย จะมีก็แต่ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติบางอย่างมีสีเขียวเช่นออโรร่าบนโลก หรือเนบิวลา

พวกมันมีสาเหตุมาจากอิเล็กตรอนที่แตกตัวออกมาจากภายในไอออนของออกซิเจน ซึ่งเกิดขึ้นที่ความยาวคลื่นสีเดียวนั่นคือที่ 500.7 นาโนเมตร เป็นความยาวคลื่นที่มีสีเขียวมาก

แต่สำหรับดวงอาทิตย์นั้นไม่ใช่ มันไม่ได้เปล่งแสงเฉพาะความยาวคลื่นสีเขียวเท่านั้น แต่ยังเปล่งแสงสีน้ำเงิน เหลือง ส้ม และแดงจำนวนมากด้วยเช่นกัน

แต่เหตุผลใหญ่สุดที่ดวงอาทิตย์ไม่เป็นสีเขียวนั่นก็คือ “วิวัฒนาการของเราเอง” มนุษย์พัฒนาขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์รับภาพ แสง และสี นั่นคือเซลล์พิเศษที่เรียกว่า เซลล์แท่ง (Rod Cell) และเซลล์กรวย (Cone Cell) โดยเซลล์แท่งไวต่อความสว่าง แต่เซลล์กรวยช่วยให้เรารับรู้เรื่องสี

Cone Cell มี 3 ประเภทนั่นคือ L (Long, ไวต่อช่วงคลื่นยาว), M (Medium, ไวต่อช่วงคลื่นกลาง) และ S (Short, ไวต่อช่วงคลื่นสั้น) การตอบสนองของเซลล์ทั้ง 3 ชนิดช่วยให้สมองตีความสีของวัตถุได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น สีม่วงคือแสงที่เกิดจาการผสมระหว่างสีน้ำเงินที่อยู่ในช่วงคลื่นสั้น และสีแดงที่อยู่ในช่วงคลื่นยาว

แม้ดวงอาทิตย์จะเปล่งพลังงานสูงสุดที่ ‘สีเขียว’ แต่สำหรับดวงตาของเราแล้ว ดวงอาทิตย์เปล่งแสงของมันสว่างไปทุกช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ ดังนั้นดาวฤกษ์ของเราจึงเป็นส่วนผสมของสีต่าง ๆ ที่มีแสงที่แท้จริงเป็น ‘แสงสีขาว’ คำตอบที่แท้จริงตามการรับรู้ของมนุษย์คือ ดวงอาทิตย์เป็นสีขาว

แต่สีแดง ส้ม หรือเหลืองที่เราเห็นบนโลกนั้น เป็นแสงที่ถูกกรองโดยชั้นบรรยากาศของโลก อนุภาคและโมเลกุลต่าง ๆ กระจายแสงไปทั่วท้องฟ้า นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ท้องฟ้า เป็นสีฟ้า เพราะช่วงคลื่นสีน้ำเงินเป็นคลื่นสั้นซึ่งกระจายได้ได้ง่ายกว่า จนมีแต่แสงสีแดง ส้ม เหลือง เท่านั้นเข้ามาถึงดวงตาของเรา

ทำให้มนุษย์ที่ยืนอยู่บนพื้นผิวโลกมองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีเหล่านั้น แต่หากคุณได้ลองออกไปในอวกาศ ดวงอาทิตย์ที่ตาเรามองเห็นจะเห็นเป็นสีขาวจริง ๆ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.iflscience.com/what-color-is-the-sun-a-simple-question-with-complex-answers-68844

http://solar-center.stanford.edu/SID/activities/GreenSun.html

https://www.space.com/what-color-is-the-sun

https://eclipse2017.nasa.gov/what-color-sun

https://bigthink.com/starts-with-a-bang/what-color-is-the-sun

อ่านเพิ่มเติม ดาวอังคาร มีแกนกลางเป็นอย่างไร? นักวิทย์ฯ ระบุว่า แกนกลางเล็ก-เป็นของเหลว จึงรักษาสนามแม่เหล็กไม่ได้เหมือนโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.