วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความน่ารัก

วิทยาศาสตร์ว่าด้วยความน่ารัก

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนในที่นี้คงใช้เวลาในแต่ละวันหลายชั่วโมงไปกับการดูวิดีโอของสัตว์น่ารักๆ บนโลกออนไลน์ ว่าแต่ทำไมเราถึงชื่นชอบความน่ารักกันนัก? เกิดอะไรขึ้นกับสมองของเราเมื่อดูอะไรที่น่ารัก? เบื้องหลังพฤติกรรมนี้มีที่มาและเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว

ลองจินตนาการถึงสิ่งที่น่ารัก คุณจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก อาจเป็นลูกสุนัขหรือลูกแมว ทีนี้ลองมองสิ่งที่น่ารักเหล่านี้ให้ดีว่ามีองค์ประกอบร่วมกันของอะไรบ้าง ตาโต ใบหน้ากลม รูปร่างอ้วน ขนปุยน่าสัมผัส ลักษณะเหล่านี้เรียกว่า “kinderschema” หรือรูปลักษณ์แบบเด็กๆ ซึ่งตรงกับลักษณะของเด็กทารกในมนุษย์ เมื่อมนุษย์เห็นเด็กทารก สัญชาตญาณจะกำหนดให้รู้สึกรักและอยากดูแลขึ้นมา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของเรา นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงชอบอะไรๆ ที่มันน่ารัก

ว่าแต่เกิดอะไรขึ้นบ้างกับสมองของเรา เมื่อเห็นบางสิ่งบางอย่างที่น่ารัก แรกเริ่มสมองส่วน Orbitofrontal Cortex จะทำงานโดยอัตโนมัติให้เรารู้สึกอยากปกป้องสิ่งนั้นๆ หรืออยากเลี้ยงดู ใส่ใจ ส่วนที่สองคือ Nucleus Accumbens จะปล่อยสารเคมีที่ชื่อโดปามีนออกมา ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่ร่างกายได้รับเมื่อตกหลุมรัก มีเซ็กส์ หรือใช้ยาเสพติด ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกดีและมีความสุข และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงชอบอะไรน่ารักๆ นัก ลักษณะเหล่านี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ในช่วงที่ยังเด็ก ดังนั้นเราจึงไม่รู้สึกว่าสัตว์อย่างลูกปลา หรือลูกจระเข้นั้นน่ารัก เพราะสัตว์เหล่านี้ต้องเอาชีวิตรอดด้วยตนเองตั้งแต่แรกเกิด

รู้อย่างนี้แล้วครั้งหน้าถ้าคุณเห็นอะไรก็ตามที่น่ารักก็ปล่อยให้ตนเองได้มีความสุขกับมันไปเลยตามสัญชาตญาณ….

 

อ่านเพิ่มเติม

สัตว์เหล่านี้มีดวงตาโต๊โต!

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.