แอสปาร์แตม สารแทนความหวาน กับประเด็นเรื่องความปลอดภัย

สารแทนความหวานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่าง แอสปาร์แตม ได้ถูกประกาศให้เป็นสารที่ “มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง” โดยองค์การอนามัยโลก

แอสปาร์แตม (aspartam) คือสารแทนความหวานชนิดหนึ่งที่ให้พลังงานต่ำ ถูกใช้ในแทนน้ำตาลตามธรรมชาติมานานกว่าทศวรรษ เพื่อเพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่เสียอรรถรสการรับประทาน สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคน้ำตาลธรรมชาติ

แอสปาร์แตมเป็นสารสังเคราะห์ที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลอ้อยกว่า 200 เท่า และนั่นหมายความว่า เมื่อผู้ผลิตเติมแอสปาร์แตมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มเพียงเล็กน้อย ก็จะได้รสชาติหวานเหมือนน้ำตาลธรรมชาติ

ดังนั้น อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่มีส่วนผสมของแอสปาร์แตมจึงให้พลังงานต่ำกว่าการใช้น้ำตาลธรรมชาติ แต่ยังคงความหวาน และรสชาติโดยรวมยังคงมีรสชาติ ซึ่งบนฉลากผลิตภัณฑ์มักระบุว่า “ศูนย์แคลลอรี” “ปราศจากน้ำตาล” หรือ “ไดเอต”

โครงสร้าง และการย่อยแอสปาร์แตม ในระบบทางเดินอาหารมนุษย์

เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างของแอสปาร์แตมพบว่าประกอบด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิด ได้แก่ กรดแอสปาร์ติก และฟีนิลอะลานีน เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ระบบย่อยอาหารจะย่อยแอสปาร์แตมจนได้กรดอะมิโนสองชนิดนี้ และดูดซึมเข้าสู่กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนต่อไป

นอกจากนี้ การย่อยสลายแอสปาร์แตมจะได้กรดอะมิโนแล้ว ยังเกิดเมทานอลขึ้นในปริมาณเล็กน้อย ซึ่งพบได้ในธรรมชาติ เช่น ผลไม้ ผัก และน้ำผลไม้ เป็นต้น โดยปริมาณของเมทานอลจากการย่อยแอสปาร์แตมมีปริมาณน้อยกว่าห้าถึงหกเท่าเมื่อเทียบกับน้ำมะเขือเทศในปริมาณเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกายจะได้รับกรดอะมิโนจากการย่อยแอสปาร์แตม แต่องค์การอาหารและยางของสหรัฐอเมริกาก็ได้จำแนกให้แอสปาร์แตมเป็น “สารแทนความหวานที่ไม่มีโภชนาการ” (non-nutritive sweeteners, NNS)

ความนิยมสารแทนความหวานที่กลายเป็นวัฒนธรรมการรับประทานเพื่อสุขภาพ

การศึกษาเกี่ยวกับแอสปาร์แตมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผลการสำรวจเมื่อปี 2017 พบว่า โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 17,000 คน พบว่า ประชาชนอเมริกันในวัยผู้ใหญ่จำนวนร้อยละ 41 และวัยรุ่นจำนวนร้อยละ 25 บริโภคสารแทนความหวานที่อยู่ทั้งในอาหารและเครื่องดื่ม และไม่จำกัดเฉพาะสารแทนความหวานที่เป็นแอสปาร์แตมเท่านั้น

ในขณะที่ปัจจุบัน ผู้คนทั่วโลกยังนิยมบริโภคแอสปาร์แตม เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกได้รับรองว่า การรับประทานแอสปาร์แตมในปริมาณที่เหมาะสมต่อวันไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ ผู้คนจึงบริโภคแอสปาร์แตมด้วยแนวคิดว่า การบริโภคแอสปาร์แตมไม่ทำให้อ้วน

ในทางกลับกัน ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยที่มเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องนี้ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การบริโภคแอสปาร์แตมมีผลข้ามเคียงต่อสุขภาพในระดับที่ไม่พึงประสงค์ และยังตั้งสมติฐานเชิงลบเกี่ยวกับผลของการบริโภคแอสปาร์แตมในระยะยาว

สอดคล้องกับการวิจัยล่าสุด โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า แอสปาร์แตมที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จัดเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2B ซึ่งเป็นระดับที่แสดงถึง “ความเป็นไปได้” หรือ “ความน่าจะเป็น” ของการเกิดมะเร็งในมนุษย์

“ความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง” มีความหมายว่าอย่างไร

ในวงการวิทยาศาสตร์ทางอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร จะมีองค์ความรู้และการประเมินความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อประเมินผลกระทบของสารเจือปนในอาหารต่อสุขภาพของมนุษย์

ในการแบ่งระดับความรุนแรงของสารเจือปนในอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกได้ใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ แบ่งตามประเภทของการเกิดผลกระทบต่อมนุษย์ หนึ่งในนั้นคือการจำแนกตามหลักเกณฑ์ สารก่อมะเร็ง

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบทอดสอบ ประเมิน และระบุสารก่อมะเร็ง โดยได้แบ่งสารต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง คือสารก่อมะเร็ง เป็นสารที่ได้รับการศึกษาพิสูจน์แล้วว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์
กลุ่มที่สองเอ มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง โดยยังไม่มีหลักฐานบางชี้อย่างชัดเจนว่าส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ แต่มีการวิจัยว่า ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง
กลุ่มที่สองบี มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง เช่นเดียวกับกลุ่มสองเอ แตกต่างกันในจุดที่ยังไม่มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในสัตว์ทดลอง
กลุ่มที่สาม คือสารที่ไม่ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

ในปีนี้ แอสปาร์แตมถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสองบี ซึ่งมีสารในกลุ่มเดียวที่เคยรายงานก่อนหน้านี้ เช่น สารสกัดจากใบว่านหางจระเข้ ยารักษาโรคหัวใจกลุ่มไดออกซิน และไอเสียจากยานพานะ เป็นต้น โดยสารทั้งหมดที่กล่าวมา ยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง และข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่น่าเชื่อถือ

การจัดกลุ่มในลักษณะนี้อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชนได้ เพราะอ้างอิงถึงงานวิจัยจำนวนน้อยที่รายงานคุณสมบัติในการก่อมะเร็งของสารเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่ระดับของความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และข้อมูลเชิงประจักษ์ยังน้อยกว่าสารมะเร็งในกลุ่มที่หนึ่ง เช่น การสูบบุหรี่ แอลกอฮอลล์ เนื้อสัตว์แปรรูป และโลหะหนัก ที่มีหลักฐานการวิจัยที่น่าเชื่อถือว่า สารในกลุ่มนี้ก่อให้เกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับสารก่อมะเร็งด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งสูงกว่าผูัที่ไม่สูบบุหรี่

การศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับแอสปาร์แตม

ในปี 2013 องค์กรด้านความปลอดภัยของอาหารในยุโรปได้ศึกษาทบทวนความปลอดภัยของแอสปาร์แตมต่อสุขภาพมนุษย์ พบว่า แอสปาร์แตมไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ และยืนยันว่าการวิจัยที่ให้ผลการทดลองที่คล้ายกันนี้มีความน่าเชื่อ

หนึ่งในสารประกอบที่เกิดขึ้นจากการกะบวนการย่อยแอสปาร์แตมในระบบทางเดินอาหารคือ เมทานอล ซึ่งจะทำปฏิกิริยาก่อตัวเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์คือ ฟอร์มัลดีไฮด์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณของฟอร์มัลดีไฮด์ที่มีสารตั้งต้นจากแอสปาร์แตมก็น้อยกว่าปริมาณที่ร่างมนุษย์ผลิตได้เองตามธรรมชาติ

การศึกษาวิจัยของทีมนักวิจัยในประเทศฝรั่งเศสที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้บริโภค และติดตามผลสุขภาพหลังจากนั้นอีกหลายปี พบว่า การบริโภคแอสปาร์แตมในปริมาณสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม การประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ซับซ้อนกว่านั้นมาก และไม่สามารถใช้ปัจจัยทางด้านอาหารเพียงอย่างเดียวมาเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งได้

ดังนั้น หากอ้างอิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแอสปาร์แตมที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ผู้บริโภคยังไม่ควรวิตกกังวลเรื่องความเกี่ยวโยงของแอสปาร์แตมกับการก่อมะเร็ง เนื่องจาก คำว่า “ความเป็นไปได้ที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง” ยังไม่ได้บ่งชี้ว่า สารแทนความชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็ง

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

อ้างอิง

https://theconversation.com/aspartame-popular-sweetener-could-be-classified-as-a-possible-carcinogen-by-who-but-theres-no-cause-for-panic-208895
https://www.efsa.europa.eu/en/press/news/131210
https://journals.plos.org/plosmedicine/article?id=10.1371/journal.pmed.1003950
https://www.theguardian.com/australia-news/commentisfree/2023/jul/06/does-diet-coke-cause-cancer-aspartame
https://www.webmd.com/diet/what-to-know-about-aspartame
https://www.healthline.com/health/aspartame-side-effects#side-effects
https://www.who.int/news/item/15-05-2023-who-advises-not-to-use-non-sugar-sweeteners-for-weight-control-in-newly-released-guideline

อ่านเพิ่มเติม สารให้ความหวานแทนน้ำตาล อันตรายต่อสุขภาพ หรือไม่

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.