ภาพใหม่จาก กล้องเจมส์เวบบ์ เผยรายละเอียดใหม่ของ เนบิวลาวงแหวน ที่บ่งบอกถึง “ฉากสุดท้ายของดวงอาทิตย์”

ภาพใหม่ เนบิวลาวงแหวน จาก กล้องเจมส์เวบบ์ จักรวาลสร้างสรรค์สิ่งสวยงามให้เราเฝ้ามองและศึกษามันอย่างไม่รู้เบื่อ อย่าง เนบิวลาวงแหวน (Ring Nebula) ที่ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1764 โดย ชาล์ส เมซิเออร์ (Charles Messier) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ต่อมา ชื่อของเขากลายมาเป็นอีกชื่อหนึ่งของวัตถุนี้ว่า Messier 57 (M57)

ตั้งแต่นั้นมา มันกลายเป็นจุดสนใจของทั้งนักดูดาวมือสมัครเล่นและนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ แม้แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็เคยศึกษามันอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยความทรงพลังทางด้านช่วงแสงอินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (JWST) ก็ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ดังที่เราได้เห็นในภาพนี้

“เรารู้อยู่เสมอว่าเนบิวลาดาวเคราะห์นั้นสวยงาม แต่สิ่งที่เราเห็นตอนนี้มันงดงามมาก” อัลเบิร์ต ซิจล์สตรา (Albert Zijlstra) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กล่าว

เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebulae) มีอยู่ทั่วกาแล็กซีของเราและมีรูปร่างแตกต่างกันไป บางอันเป็นเหมือนวงแหวนเรืองแสง บางอันก็มีโครงสร้างคล้ายฟองสบู่ สำหรับเนบิวลาวงแหวนนั้นมีความคล้ายเยลลี่โดนัท แม้จะถูกเรียกว่าเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ แต่ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดาวเคราะห์

สาเหตุที่มันได้ชื่อนี้เป็นเพราะว่าในอดีต ผู้คนที่มองเห็นมันมักเข้าใจผิดว่าเป็นดาวเคราะห์ เนื่องจากรูปร่างกลมสวยของมันนั้นเหมือนกับดาวเคราะห์ แต่ความเป็นจริงแล้วมันเป็น “การตายของดาวฤกษ์” ที่คล้ายดวงอาทิตย์ของเรา

“เรากำลังเห็นบทสุดท้ายของชีวิตของดาวดวงหนึ่ง เป็นการเกริ่นให้เห็นถึงอนาคตอันไกลโพ้นของดวงอาทิตย์ และการสังเกตการณ์ของ JWST ได้เปิดหน้าต่างบานใหม่เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ในจักรวาลที่น่าเกรงขามนี้” ไมค์ บาร์โลว (Mike Barlow) นักวิทยาศาสตร์หลักในโครงการเนบิวลาวงแหวนกล่าว

นักดาราศาสตร์เชื่อว่า เนบิวลานี้เคยเป็นดาวที่มีขนาดใกล้เคียงดวงอาทิตย์ที่เริ่มดีดชั้นนอกออกมาเมื่อราว 4,000 ปีก่อน มันขยายตัวเป็นดาวยักษ์แดงแล้วก็ผลัดเปลือกชั้นนอกออกไปสู่อวกาศแล้วสร้างเป็นกลุ่มก๊าซที่ขยายตัวออกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อวินาที

สีสันและโครงสร้างเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ มันได้ให้ข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์มากมาย นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับธาตุหนักที่ก่อตัวขึ้นในช่วงชีวิตของดาวฤกษ์ที่ตายแล้วนี้ แต่ในที่สุดแล้วมันจะส่งต่อชีวิตให้ดวงดาวใหม่ๆ ต่อไปได้

สสารส่วนใหญ่จะถูกรวมเข้าเป็นเมฆก๊าซและฝุ่นขนาดมหึมาที่เรียกว่า ‘เมฆระหว่างดวงดาว’ (Interstellar Clouds) เมื่อพวกมันควบแน่นกันภายใต้แรงโน้มถ่วงของมันเอง มันจะก่อกำเนิดดาวฤกษ์ดวงใหม่ต่อไป

“ด้วยการศึกษาเนบิวลาวงแหวนกับ JWST เราหวังว่าจะได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับวัฏจักรชีวิตของดาวฤกษ์และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่พวกมันปล่อยสู่จักรวาล” นิค ค็อก (Nick Cox) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการอีกท่านหนึ่งกล่าว

เนบิวลาวงแหวนอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,000 ปีแสงในทิศของกลุ่มดาวพิณ (Constellation Lyra) สามารถมองเห็นด้วยกล้องดูดาวทั่วไปได้

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph Courtesy by JWST/University of Manchester

ที่มา

https://www.universetoday.com/162662/yes-a-jwst-image-of-the-ring- nebula

https://www.npr.org/2023/08/04/1192120347/ring-nebula-james-webb-telescope

https://edition.cnn.com/2023/08/04/world/webb-telescope-ring-nebula-scn/index.html

https://www.space.com/james-webb-space-telescope-ring-nebula-dead-star

อ่านเพิ่มเติม เนบิวลาแมงมุม ในห้วงอวกาศ อาจให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับสสารมืด

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.