แอนโทรโพซีน การก้าวเข้าสู่ยุคที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อโลก

แอนโทรโพซีน (Anthropocene) คือคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของการแบ่งช่วงเวลาตามหลักธรณีกาล (Goelogic time) ที่มนุษย์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนสร้างอิทธิพล และผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อโลกใบนี้

ตามการแบ่งช่วงเวลาของประวัติศาสตร์โลก นักธรณีวิทยาถือว่า ปัจจุบันนี้เป็นสมัยโฮโลซีน (Holocence) ของยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 12,000 ปีหลังยุคน้ำแข็ง โดยอารยะธรรมมนุษย์ได้เติบโตและพัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างผลกระทบกับโลกอย่างเห็นได้ชัด จึงมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มได้นำเสนอว่า สมัยโฮโลซีนได้สิ้นสุดลงแล้ว และควรประกาศให้เป็นสมัย แอนโทรโพซีน

คำว่า “ธรณีกาล” ตามความหมายทางธรณีวิทยา แบ่งออกเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ โดยในแต่ละยุคสมัยทางธรณีวิทยานั้นจะแตกต่างกัน เช่น สิ่งมีชีวิตที่โดดเด่นในช่วงนั้น หรือสภาพภูมิอากาศ โดยส่วนใหญ่นักวิจัยจะใช้วิธีการวิเคราะห์ชั้นหิน เพื่อระบุช่วงเวลาทางธรณีกาล

                                                                            ภาพถ่าย Joseph Chan

แอนโทรโพซีนหมายความว่าอย่างไร

สมัยแอนโทรโพซีน ถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยคำว่า anthropo- แปลว่ามนุษย์ และ –cence แปลว่าใหม่

สถาบันมานุษยวิทยาสิรินธรได้อธิบายถึงคำนี้ไว้ว่า แอนโทรโพซีนเป็นศัพท์ทางวิชาการที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์

โดยผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในอากาศ น้ำ และตะกอนดินที่ทับถมกัน ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ด้วยวิธีการทางธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์แขนงอื่น

ดังนั้น ในมุมของ “แอนโธรพอซีน” มนุษย์จึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา และนิเวศวิทยา ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนเกินกว่าระบบของโลก (Earth System) จะรักษาสมดุลไว้ได้ และผันผวนไปจากเดิมเพื่อหาสมดุลใหม่ตามระบบของโลกเอง

โดยกลายเป็นผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนั้น หากแปลตามนัยยะที่แฝงอยู่ “Anthropocene epoch” จึงแปลได้ว่า “สมัยมนุษย์ผันผวนโลก”

                                                             ภาพถ่าย  Antoine GIRET

กิจกรรมของมนุษย์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกจนเลยจุดที่จะหวนกลับ

นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้นำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์หลายประการ ที่มนุษยชาติได้ทิ้งร่องรอยไว้ในระบบนิเวศต่างๆ บนโลก เช่น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ การเกิดมลพิษทางทะเลจากอนุภาคพลาสติก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลในชั้นบรรยากาศ และการรบกวนวัฏจักรไนโตรเจนด้วยการใช้ปุ๋ยในกิจกรรมทางการเกษตร

โดยนักวิชาการที่นำเสนอประเด็นดังกล่าวไม่สามารถระบุเวลาที่ชัดเจนของการเริ่มต้นสมัยแอนโทรโพซีนได้ ส่วนมากให้ความเห็นตรงกันว่า อาจเริ่มต้นในช่วงปี 1800 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมของทวีปยุโรป

ภาพถ่าย  Robin Sommer 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางกลุ่มก็มีความเห็นแย้งว่า โลกของเราเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนในช่วงเวลาอื่นๆ เช่น ช่วงต้นของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ช่วงปฏิวัติสีเขียว นอกจากนี้ยังมีนักเคมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องชั้นบรรยากาศ และเจ้าของรางวัลโนเบล พอล ครุตเซน ได้กล่าวถึงช่วงปลายปี 1950 ว่า ช่วงนี้เป็น “การเร่งครั้งใหญ่”

เขาได้นำเสนอข้อมูลทางสถิติหลายชุดที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น เช่น จำนวนประชากรของมนุษย์ และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เป็นต้น โดยเขานำหลักฐานสภาวะชั้นบรรยากาศมาเปรียบเทียบ และได้กล่าวว่า โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศขั้นรุนแรงจนถือได้ว่าเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีน

นับตั้งแต่ปี 2000 คำว่าแอนโทรโพซีนตามนิยามของพอล ครุตเซน จึงได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งปี 2009 ได้เกิดการก่อตั้งกลุ่ม Anthropocene Working Group เพื่อวิจัยและค้นหาหลักฐานที่เป็นตัวชี้วัดการเกิดสมัยใหม่ และได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับคณะกรรมการลำดับชั้นหิน (Commission on Stratigraphy) เพื่อพิจารณาการประกาศให้โลกปัจจุบันก้าวเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีนอย่างเป็นทางการ

ภาพถ่าย Dave Herring

แต่ด้วยหลักการทางธรณีวิทยา หลักฐานที่เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนยังคงต้องพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม อย่างหลักฐานของชั้นดินที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้อย่างแน่ชัด ในขณะที่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบเพียงหลักฐานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เช่น ชั้นดิน และชั้นตะกอนใต้ทะเล จึงทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มยังไม่เก็นด้วยกับการประกาศเข้าสู่สมัยใหม่

ปัจจุบัน คำว่าแอนโทรโพซีนถูกยกระดับขึ้นไปอยู่เหนือประเด็นว่า โลกของเราจะเข้าสู่สมัยแอนโทรโพซีน หรือไม่ แต่กลายเป็น “กรอบแนวคิดแอนโทรโพ” (Anthropocene concept) นั่นคือ จาก “สมัยทางธรณีวิทยา” (geologic epoch) ให้กลายเป็น “กรอบแนวคิดประยุกต์” (applied concept) สำหรับทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโลก ด้วยการประยุกต์ใช้เชิงระบบและติดตามตรวจสอบเชิงบูรณาการข้ามศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

นับตั้งแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์ได้วิวัฒน์ผ่านกาลเวลาบนโลกใบนี้มาจนถึงปัจจุบัน ระบบนิเวศของโลกไม่เคยตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในสมัยนี้ ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำความเข้าใจผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมของพวกเรา ในขณะที่ปัจจุบัน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมบนโลก กำลังชี้ให้เราเห็นว่า มนุษย์ได้ทำอะไรกับโลกไปแล้วบ้าง

สืบค้นและเรียบเรียง ณภัทรดนัย

ภาพถ่าย Joseph Chan

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5875
https://www.nhm.ac.uk/discover/what-is-the-anthropocene.html
https://education.nationalgeographic.org/resource/anthropocene/
https://www.smithsonianmag.com/science-nature/what-is-the-anthropocene-and-are-we-in-it-164801414/

อ่านเพิ่มเติม กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม กำลังอ่อนกำลังลง

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.