นักเรียนวัย 17 ปี ประดิษฐ์ “โมดูลพลังงานไฟฟ้า” ให้อุปกรณ์ติดตามช้าง โดยใช้พลังงานที่ยั่งยืน

ธนดล วังวิจิตร นักเรียนไทยอายุ 17 ปี ได้พัฒนา “โมดูลผลิตพลังไฟฟ้า” สำหรับอุปกรณ์ติดตามช้างป่า อุปกรณ์นี้ซึ่งยังอยู่ในช่วงต้นแบบ ใช้เซลล์แสงอาทิตย์และแม่เหล็กเพื่อสร้างพลังไฟฟ้า หวังช่วยลดงบประมาณนำเข้า – ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยป้องกันความขัดแย้งและความปลอดภัย ระหว่างช้างกับมนุษย์

ธนดล วังวิจิตร เป็นนักเรียนอายุ 17 ปีจากโรงเรียน Shrewsbury International School Bangkok Riverside เขาและครอบครัวเป็นเด็กที่ชื่นชอบกิจกรรมการท่องเที่ยวธรรมชาติบนผืนป่าและผืนน้ำ จากจุดนี้เองทำให้เขามีประสบการณ์ที่มองเห็นปัญหาของ ธรรมชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาของ “ช้างป่า” บุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน

เมื่อราว 4 ปีที่แล้ว เขามีโอกาส เดินทางท่องเที่ยวธรรมชาติในผืนป่าที่จังหวัดเชียงราย และมีโอกาสพูดคุยกับควาญช้างที่นั่น และได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่ช้างบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งส่งผลเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย หนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาที่ทำอยู่ในขณะนั้นคือการติด GPS ติดตามตัวช้างและสัตว์ป่า ซึ่ง ณ ตอนนั้น เป็นอุปกรณ์ที่ “ราคาแพง และมีข้อจำกัด ได้ประสิทธิภาพไม่มากเท่าที่ควร”

ธนดล วังวิจิตร นักเรียนอายุ 17 ปี ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ “โมดูลผลิตพลังงานไฟฟ้าติดตามตัวช้าง”

หลังจากจบทริปท่องเที่ยวในครั้งนั้น ธนดลกล่าวว่า “ผมได้เข้าไปพูดคุยเรื่องนี้กับกรมป่าไม้ ทำให้รู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวอุปกรณ์ติดตาม แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพของพลังงานที่อุปกรณ์ใช้ร่วมกัน” เขาจึงสืบติดตามปัญหาไป จนมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ซึ่งท่านรับผิดชอบดูแล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า จนมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของเครื่องมือที่ว่า อุปกรณ์ติดตามสัตว์ป่าต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศในราคาที่สูงถึง 300,000-350,000 บาทต่อเครื่อง มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี แต่อายุช้างป่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้งานและราคาที่สูง ซึ่งถ้าแบตเตอรี่หมด ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ติดตามช้างป่าใหม่ หรือต้องซื้อมาติดตั้งใหม่เท่านั้น

โมดูลผลิตไฟฟ้าอุปกรณ์ติดตามช้าง โดย ธนดล วังวิจิตร

“ปัญหา คือ อุปกรณ์ติดตามตัวช้างราคาสูง และแบตเตอรี่มีอายุการใช้งานต่ำ ซึ่งทั้ง 2 อย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผมจึงสอบถามและศึกษารายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับหลักการทำงานของแบตเตอรี่และ GPS นี้ และศึกษาหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและใช้ได้จริง” ธนดล กล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ธนดลใช้วิธีการศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ของช้างและรวบรวมข้อมูล เช่น การเคลื่อนไหวกิริยาขึ้นลงต่าง ๆ เล่นน้ำ พักผ่อน จากการสังเกตด้วยตนเองและพูดคุยปรึกษาควาญช้าง ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนา จนในที่สุดแนวคิดนี้ได้ถูกพัฒนาเป็น โมดูลพลังงานไฟฟ้าที่นำไปใช้กับอุปกรณ์ติดตามตัวช้างป่า เพื่อประหยัดงบประมาณ ในการจัดซื้ออุปกรณ์ติดตามตัวช้างป่าในกรณีที่แบตหมด

โมดูลผลิตไฟฟ้าไฟฟ้าขณะใช้งานบนหลังช้าง

โมดูลอุปกรณ์นี้มีทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1. ชุดผลิตพลังงานไฟฟ้า 2. ชุดเก็บพลังงานไฟฟ้า 3. ชุดวัดค่าพลังงานไฟฟ้า โดยภายในชุดผลิตพลังงานไฟฟ้าประกอบไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์แบบยืดหยุ่นได้ 1 แผง และชุดเหนี่ยวนำแม่เหล็กแนวนอน 3 ชุด โดยโมดูลผลิตพลังงานไฟฟ้านี้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 3.3 วัตต์ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาในกรณีที่แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ติดตามตัวช้างป่าหมดลงได้ โดยโมดูลผลิตพลังงานไฟฟ้านี้คิดค้นได้เสร็จสิ้นได้ตัวต้นแบบขั้นสุดท้าย (Final phototype) แล้ว

ในระหว่างการทดสอบ ธนดล พบปัญหา เรื่องการเชื่อมต่อสัญญาณของอุปกรณ์และปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ อย่างไรก็ตาม เขาพยายามศึกษาถึงวิธีการทำงานที่ยั่งยืน ประหยัด และสามารถทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมี การเพิ่มคุณสมบัติในการช่วยแจ้งเตือน ความเสี่ยงในการเกิดไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ครอบคลุม โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และค่า PM ทำให้นอกจากรายงานตำแหน่งของสัตว์ป่าได้แล้ว อุปกรณ์นี้ยังสามารถแจ้งเตือนหรือคาดการณ์ “ไฟป่า” ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ได้อีกด้วย

โมดูลผลิตไฟฟ้าดังกล่าว จะถูกทำการทดสอบภาคสนามในปลายเดือนสิงหาคม 2566 ร่วมกับ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบเบื้องต้นในห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังรอผลการทดสอบใช้จริงในภาคสนามต่อไป

“ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก ที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ สำหรับประเทศไทย และประหยัดงบประมาณของรัฐบาลโดยการลดการนำเข้า และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุด คือ โมดูลผลิตพลังงานไฟฟ้านี้ สามารถทำงานได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวมันเอง โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผมหวังว่า นวัตกรรมนี้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่า และช่วยให้สัตว์เหล่านี้ดำรงอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และสร้างสมดุลระหว่างมนุษย์” ธนดล กล่าว

เรื่อง กองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพ ธนดล วังวิจิตร

อ่านรายงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://tinyurl.com/Elephant-power-Thanadol

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.