“มนุษย์ปลูกได้ในห้องแล็บ” นักวิทย์ฯ สร้างแบบจำลอง ‘ ตัวอ่อนมนุษย์ ’ อายุ 2 สัปดาห์ จากสเต็มเซลล์ ไม่ง้อสเปิร์ม-ไข่ มนุษย์

ตัวอ่อนมนุษย์ ปลูกได้ ทีมงานจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนน์ (Weizmann Institue of Science) ประเทศอิสราเอลได้ก้าวไปอีกขั้น

หลังจากปีที่แล้วที่พวกเขาได้สร้างตัวอ่อนสังเคราะห์จากเซลล์ของหนูเป็นตัวแรกในจานทดลอง และมีอยู่ได้ราวอายุ 8.5 วัน

แต่ในครั้งนี้ทีมงานได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘แบบจำลองตัวอ่อน’ ที่สร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์มนุษย์ โดยไม่ต้องใช้สเปิร์มหรือไข่ใด ๆ เลย กลายเป็นตัวเลียนแบบที่มีการจัดเรียงเซลล์เป็นโครงสร้างเหมือนตัวอ่อนมนุษย์ที่มีอายุ 14 วันในทุกด้าน

“นี่เป็นแบบจำลองเอ็มบริโอ (Embryo ; ตัวอ่อน) รุ่นแรกที่มีการจัดเรียงโครงสร้าง และมีความคล้ายคลึงด้านสัณฐานวิทยา (เกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต) กับตัวอ่อนมนุษย์ในวันที่ 14” ศาสตราจารย์ จอคอบ ฮันนา (Jacob Hanna) ผู้นำทีมวิจัยกล่าว “นี่เป็นภาพตัวอ่อนมนุษย์วันที่ 14 จริง ๆ”

แทนที่จะใช้สเปิร์มและไข่ตามปกติ ทีมวิจัยได้ใช้เซลล์ต้นกำเนิดมาจากมนุษย์ที่ไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ และยังไม่มีการพัฒนาให้กลายเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสเต็มเซลล์ จากนั้นพวกเขาก็กระตุ้นให้มันเติบโตกลายเป็นเซลล์ที่พบในระยะแรกสุดของตัวอ่อนมนุษย์

ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เอพิบลาสต์ (Epiblast Cells) ที่มักพบในระหว่างการพัฒนา เซลล์โทรโฟบลาสท์ (Trophoblast Cells) ที่กลายเป็นรก หรือเซลล์ไฮโปบลาสท์ (Hypoblast Cells) ที่กลายเป็นถุงไข่แดง ทั้งหมดนี้พบได้ในตัวอ่อนตัวนี้

กระบวนเหล่านี้ได้เผยให้เห็นความสามารถในการจัดระเบียบตัวเองที่น่าทึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงเป็นกล่องดำสำหรับนักวิทยาศาสตร์

แบบจำลองเหล่านี้จะช่วยให้ทีมวิจัยได้ศึกษาการเติบโตที่เกิดขึ้น เนื่องจากระยะแรกสุดของการตั้งครรภ์นั้นเป็นช่วงที่อ่อนไหว และอาจเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พีงประสงค์ได้

ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องบางอย่างที่มีมาตั้งแต่กำเนิด หรือแม้กระทั่งการแท้ง สิ่งเหล่านี้สามารถเข้าใจได้มากขึ้นด้วยการเจาะลึกรายละเอียดลงไปในทันทีที่ไข่กับสเปิร์มปฏิสนธิกันและฝังเข้าไปในเยื่อบุมดลูกในครรรภ์

โดยทีมงานเน้นย้ำว่า “นี่ยังไม่ใช่มนุษย์จริง ๆ” เป็นเพียงกลุ่มเซลล์ที่พวกเขาเรียกว่า ‘ไร้เดียงสา’ อยู่

“(การตั้งครรภ์) เดือนแรกนั้นส่วนใหญ่ยังคงเป็นกล่องดำสำหรับเรา ความรู้ของเรามีจำกัดมาก” ศาสตราจารย์ฮันนา กล่าว “แบบจำลองตัวอ่อนของมนุษย์ที่ได้มาจากสเต็มเซลล์ของเรานำเสนอวิธีการที่มีจริยธรรมและเข้าถึงได้ด้วยการมองเข้าไปในกล่องนี้”

ปัจจุบัน กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศได้อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างตัวอ่อนขึ้นมาโดยมีอายุไม่เกิน 14 วัน

แต่แน่นอนว่าทีมวิจัยต้องเจอกับความท้าทายและข้อคำถามมากมายเกี่ยวกับมนุษยธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ยิ่งแบบจำลองนี้เหมือนกับตัวอ่อนจริง ๆ มากเท่าไหร่ ความกดดันก็จะมีมากขึ้น

“บางคนยินดีกับสิ่งนี้ แต่บางคนจะไม่ชอบ” ศาสตราจารย์โรบิน โลแวล เบดจ์ (Robin Lovell Badge) นักวิจัยการพัฒนาตัวอ่อนที่สถาบันฟรานซิส คริก กล่าวและเสริมว่า “ควรมีการควบคุมแบบจำลองตัวอ่อนในลักษณะเดียวกันกับตัวอ่อนมนุษย์ปกติ หรือจะผ่อนคลายมากขึ้นอีกหน่อยเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อพวกเขาได้ไหม”

นี่เป็นความท้าทายที่นักวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบต่อไป เนื่องจากปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับด้านนี้กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมันเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษย์

“พวกเขา (ผู้ป่วย) มีสิทธิ์ที่จะให้เซลล์ผิวหนังของตัวเองสร้างแบบจำลองตัวอ่อนและสร้างเซลล์ที่จะช่วยชีวิตพวกเขา หรือแก้ปัญหาความต้องการทางการแพทย์ของพวกเขาได้หรือไม่? นั่นคือสถานการณ์ที่ควรได้รับการพิจารณา” ศาสตราจารย์ฮันนากล่าว

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Wikimedia

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41586-023-06604-5

https://wis-wander.weizmann.ac.il/life-sciences/human-embryo-models-grown-stem-cells

https://www.sciencealert.com/complete-2-week-old-human-embryo-models-grown-in-the-lab-for-the-first-time

https://www.theguardian.com/science/2023/sep/06/complete-models-of-human-embryos-created-from-stem-cells-in-lab

https://www.bbc.com/news/health-66715669

อ่านเพิ่มเติม นักวิทย์ฯ อ้าง สร้าง ตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์ ในห้องทดลองได้ครั้งแรกในโลก – อาจเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ในการวิจัย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.