เจมส์เวบบ์ พบ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” บ่งชี้ว่ามหาสมุทรใต้พื้นน้ำแข็ง “ยูโรปา” ดาวบริวารดาวพฤหัสบดี อาจมีสิ่งมีชีวิตซ่อนอยู่

กล้อง เจมส์เวบบ์ ยูโรปา (Europa) ดาวที่มีขนาดเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย เป็นดาวบริวารที่ถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งหนาหลายกิโลเมตร แต่ลึกลงไป กลับมีมหาสมุทรที่มีน้ำเป็นของเหลวไหลเวียนอยู่ด้วย

ความพิเศษนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจยูโรปาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีการตรวจพบโมเลกุลต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดของชีวิตเรื่อยมา

กระนั้น ก็ยังไม่มีใครบอกได้อย่างชัดเจนว่ายูโรปามี ‘คาร์บอน’ จริง ๆ หรือไม่ และถ้าตรวจพบคาร์บอนจริง มันเกิดจากอุกกาบาตที่มีคาร์บอนเข้ามาชน หรือยูโรปามีคาร์บอนเป็นของตัวเองกันแน่

คำถามนี้มีความสำคัญ เนื่องจากคาร์บอนเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต เพราะอย่างน้อยก็บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก เราทุกคน สัตว์ทุกตัว สิ่งมีชีวิตทุกเซลล์ ต่างก็มีพื้นฐานเป็นคาร์บอน

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ จึงได้รับหน้าที่สืบหาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คิดว่า กล้องนี้ทรงพลังพอที่จะมองลึกลงไปในมหาสมุทรของยูโรปา
.
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้วงการดาราศาสตร์ตื่นเต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของชีวิตนอกโลก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

“การสำรวจก่อนหน้านี้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลแสดงหลักฐานเกี่ยวกับเกลือที่ได้มาจากมหาสมุทรใน ‘เทรารีเจีย’ (Tara Regio ; ลักษณะภูมิประเทศที่วุ่นวาย)” ซาแมนธา ทรัมโบ (Samantha Trumbo) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์กล่าว

“แต่ตอนนี้เราเห็นคาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นอย่างมากที่นั่นแล้ว สิ่งนี้หมายความว่า คาร์บอนฯ อาจมีต้นกำเนิดจากในมหาสมุทรของมันเอง”

Tara Regio หรือลักษณะภูมิประเทศที่วุ่นวายนั้นเป็นบริเวณทางธรณีวิทยาที่ยังมีอายุน้อย มันเป็นแผ่นธรณีที่เคลื่อนไหวไปมาระหว่างเปลือกโลกภายนอกและมหาสมุทรภายใน ซึ่งต่างถูกทำลายลงและถูกสร้างขึ้น จึงกลายเป็นบริเวณที่ไม่มีความสงบ

เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์จะไม่อยู่บนพื้นผิวของยูโรปานาน พวกเขาจึงเชื่อว่าคาร์บอนนั้นขึ้นมาจากมหาสมุทรแล้วกระจุกอยู่ในเทรารีเจีย และเจมส์ เวบบ์ ก็ตรวจจับได้ หรือพูดอีกอย่างคือ “ยูโรปามีคาร์บอนเป็นของตัวเอง” เพราะดังที่กล่าวไปข้างต้น คาร์บอนคือพื้นฐานของชีวิต อย่างน้อยก็บนโลกของเรา

การค้นพบนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นไปได้ว่ายูโรปาอาจมี “ชีวิตเล็ก ๆ” ที่มีพื้นฐานเป็นคาร์บอนซ่อนอยู่ในโลกอันหนาวเหน็บ เมื่อนักวิทยาศาสตร์มองหาชีวิตบนดาวอื่น พวกเขามักจะมองหา 6 ธาตุสำคัญก่อนนั่นคือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์

ปัจจุบันมี 4 ธาตุที่ตรวจพบแล้วในยูโรปา ได้แก่ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน และซัลเฟอร์ (ก่อนหน้านี้ก็ตรวจพบฟอสฟอรัสบน ‘เอนเซลาดัส’ (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์) การค้นพบเหล่านี้กำลังสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการชีวดาราศาสตร์ (Astrobiology) อย่างยิ่ง

“บนโลก ชีวิตชอบความหลากหลายทางเคมี ยิ่งหลากหลายมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น การทำความเข้าใจเคมีของมหาสมุทรยูโรปาจะช่วยให้เราระบุได้ว่าดาวดวงนี้เอื้อต่อการมีชีวิตหรือไม่” เจโรนิโม วิลลานูเอวา (Geronimo Villanueva) นักวิทยาศาสตร์จากนาซา กล่าว

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเราอาจเรียนรู้พื้นฐานบางอย่างเกี่ยวกับองค์ประกอบของมหาสมุทรได้ก่อนที่เราจะเจาะน้ำแข็งเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์”

และภารกิจในอนาคตจะตอบคำถามสำคัญว่า ‘เราอยู่ลำพังในจักรวาลหรือไม่’ โดยการกิจ ‘JUICE’ (Jupiter Icy Moon Explorer) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) กำลังเดินทางไปเพื่อสำรวจอะไรก็ตามที่อาจมีอยู่

ขณะเดียวกัน ทางนาซาก็มีแผนจะปล่อยภารกิจ ‘Europa Clipper’ ในเดือนตุลาคมปี 2024 เพื่อสำรวจยูโรปาอย่างละเอียดต่อไป

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

NASA’s Webb Finds Carbon Source on Surface of Jupiter’s Moon Europa

https://www.space.com/europa-jupiter-moon-james-webb-space-telescope-carbon

https://www.livescience.com/space/jupiter/james-webb-telescope-finds-potential-signature-of-life-on-jupiters-icy-moon-europa

อ่านเพิ่มเติม ยานสำรวจจีน-สหรัฐ เผย น้ำบนดาวอังคาร มีมากกว่าที่คิด! มันมีที่มาอย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.