วัตถุนี้ในจักรวาลมีชื่อว่า HH 797 โดย HH นั้นย่อมาจาก ‘เฮอร์บิก-ฮาโร’ (Herbig Haro) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ถูกกระแสพายุและไอพ่นก๊าซอันรุนแรงของ ดาวฤกษ์เกิดใหม่ ทำให้เกิดคลื่นกระแทกวัสดุต่าง ๆ ให้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง
HH 797 นั้นตั้งอยู่ใกล้กับกระจุกดาวฤกษ์อายุน้อยที่ชื่อ IC 348 ซึ่งตั้งอยู่ขอบด้านตะวันออกของกลุ่มเมฆมืดเพอร์ซีอุซ (Perseus Dark Cloud Complex) ด้วยความทรงพลังของด้านอินฟราเรดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เวบบ์ ช่วยให้นักดาราศาสตร์มองผ่านม่านฝุ่นที่บดบังทะลุไปยังดาวฤกษ์ใหม่ดวงนี้
มันเผยให้เห็นความร้อนแรงในกระบวนการเกิดหลายพันองศาเซลเซียส โมเลกุลไฮโดรเจนและคาร์บอนมอนอกไซด์ ได้สร้างไดนามิกของการไหลออก ซึ่งสามารถพุ่งขยายออกไปได้หลายปีแสง สิ่งที่พิเศษก็คือเมื่อตรวจสอบลึกลงไปแล้ว วัตถุนี้ไม่ใช่การเกิดดาวฤกษ์แค่เพียงดวงเดียว แต่กลับเป็น “2 ดวง” โดยแต่ละดวงต่างสร้างไอพ่นของตัวมันเองไหลออกขนานกัน และสร้างแรงกระแทกใส่กันและกัน นักวิจัยแนะนำว่าลักษณะเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นว่าดาวฤกษ์เหล่านั้นกำลังโคจรอย่างรวดเร็วเช่นกัน
“จากการสังเกตครั้งก่อน ไม่ใช่ดาวดวงเดียว แต่เป็นดาวคู่ โดยดาวฤกษ์แต่ละดวงมีการไหลออกอันน่าทึ่งของตัวเอง” นาซาระบุผ่านเว็บไซต์
ข้อมูลยังเผยอีกว่า จากการสังเกตโดยภาคพื้นดินก่อนหน้านี้เชื่อกันว่า พวยก๊าซเหล่านี้กำลังเคลื่อนห่างออกจากโลกเรื่อย ๆ เนื่องจากความยาวคลื่นเคลื่อนไปทางสีแดงมากขึ้น เป็นเพราะการขยายตัวของจักรวาล ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงของดอปเปลอร์ (the Doppler shift)
ซึ่งเปรียบเหมือนกับเสียงไซเรนของรถพยาบาลที่จะเปลี่ยนไปหากรถพยาบาลเข้ามาใกล้หรือออกไปจากคุณ โดยถ้ารถเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ เสียงที่ได้ยินจะสั้นลง แต่เมื่อรถเคลื่อนห่างออกไป เราจะได้ยินว่าเสียงนั้นเหมือนจะยืดยาวออกเล็กน้อย
แสงสว่างก็เปลี่ยนแบบนี้เช่นกัน ช่วงคลื่นแสงที่เคลื่อนที่เข้ามาใกล้เรา (หรือจุดสังเกตการณ์) จะเลื่อนไปทางสีน้ำเงินมากขึ้น กลับกัน หากคลื่นแสงเคลื่อนตัวออกไปจากเรามากขึ้น มันก็จะเลื่อนไปทางสีแดงมากยิ่งขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่ากลไกใดเป็นตัวการที่ทำให้เกิดไอพ่น หลายคนเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสสารบางส่วนที่ล้อมรอบดาวฤกษ์เกิดใหม่อยู่ใกล้ ๆ กับสนามแม่เหล็กแรงสูงของดาวฤกษ์เกิดอีกดวง
สสารเหล่านี้บางส่วนอาจถูกผลักออกไปตามแกนการหมุนของมัน และเมื่อสสารพบกับวัตถุมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกมันก็กระจายออกไป ทำให้เกิดโครงสร้างที่น่าตื่นตาตื่นใจ
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ และฮับเบิลได้ศึกษาระบบดาวต่าง ๆ ที่อายุน้อยและน่าสนใจจำนวนมากเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดของดาวฤกษ์ที่ยังเป็นหนึ่งในปริศนาสำคัญของจักรวาล
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nasa.gov/missions/webb/webb-telescope-a-prominent-protostar-in-perseus/
https://www.iflscience.com/incredible-new-jwst-image-looks-like-art-what-does-it-actually-show-71774
https://www.space.com/james-webb-space-telescope-herbig-haro-object-nov-2023
https://interestingengineering.com/science/james-webb-telescope-image-star