ในขณะที่เด็กเกือบร้อยละ 10 จากเด็กทั้งหมดทั่วโลกได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคสมาธิสั้น แต่การวิเคราะห์จากการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่เกือบร้อยละ 6.8 เป็นโรค ADHD ซึ่งเพิ่มขึ้นขึ้นจากร้อยละ 4.4 เมื่อปี 2003
“ปัจจุบัน มีผู้ใหญ่ประมาณ 366 ล้านคนทั่วโลกที่อาศัยอยู่กับผู้ป่วยสมาธิสั้น ซึ่งเป็นจำนวนประชากรโดยประมาณของสหรัฐอเมริกา” รัสเซลล์ แรมซีย์ (Russell Ramsay) ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ ‘วิจัยและรักษาโรค ADHD เพนน์’ (Penn Adult ADHD Treatment and Research) ของโรงเรียนการแพทย์เพเรลแมน ในมหาวิทยาลัยแพนซิลเวเนีย กล่าว
ADHD หรือ Attention deficit hyperactivity disorder เป็นโรคทางระบบประสาทเรื้อรังที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่อง ความไม่ตั้งใจ ขาดการควบคุมแรงกระตุ้น ซึ่งเราจะรู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘โรคสมาธิสั้น’ แม้ในกลุ่ม ADHD นั้นมีอยู่หลายโรคหลายอาการก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานที่อธิบายการเพิ่มขึ้นของโรคนี้ด้วยความรู้จากงานวิจัยก่อนหน้าและบางสิ่งที่อาจถูกมองข้าม ซึ่งชี้ไปสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคสมาธิสั้น นั่นคือ “เทคโนโลยี” แต่โดยรวมแล้ว นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุจริงกันแน่
“การใช้เทคโนโลยีมากเกินไป” คือปัจจัยที่ได้รับการศึกษามากที่สุดในโรคสมาธิสั้นที่เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร ‘Journal of the American Medical Association’ เผยให้เห็นว่า การใช้สื่อดิจิทัลหลายครั้ง เกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย การเล่นเกม การส่งข้อความ และการรับชมภาพยนตร์ เพลง หรือละคร ต่างเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการ ADHD เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์
ขณะเดียวกัน การศึกษาอื่น ๆ ที่ได้วัดความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับ ADHD รวมถึงความแตกต่างการใช้เทคโนโลยีระหว่างชายและหญิงในประชากรจำนวนมาก ต่างแนะนำว่าควรจำกัดการใช้สมาร์ทโฟนไว้ที่ 60 นาทีต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะสมาธิสั้น
“เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการเกิดภาวะสมาธิสั้น” จอห์น เรตีย์ (John Ratey) แพทย์และนักประสาทวิทยา รองศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงเรียนการแพทย์ของฮาร์วาร์ด กล่าว
เขาตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนในปัจจุบันถูกผลักดันให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกันมากเกินไป และถูกโจมตีด้วยเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง (เขาหมายถึงได้รับสื่อจากเทคโนโลยีรอบตัวเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้ง) รวมถึงสร้างอาการติดหน้าจอ “สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่สมาธิที่สั้นลงได้” เขาเสริม
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นเชื่อว่า ผู้คนใช้เทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาจนทำให้สมองไม่มีโอกาสได้ผ่อนคลาย เอเลียส อบัวจาโอวด์ (Elias Aboujaoude) จิตแพทย์ด้านพฤติกรรมและหัวหน้าแผนกโรควิตกกังวล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อธิบายว่ามีการสงสัยในประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน
“เป็นเวลานานแล้วที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ADHD กับการใช้งานเทคโนโลยีออนไลน์เป็นเหมือนกับคำถาม ‘ไก่กับไข่’ ในสาขาของเราว่า ผู้คนบริโภคสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก เพราะพวกเขาเป็นโรค ADHD หรือ โรค ADHD พัฒนาขึ้นจากการบริโภคสื่อออนไลน์มากเกินไป?” พร้อมเสริมว่า จากประสบการณ์ทางคลินิกและการวิจัยของเขา “ชี้ให้เห็นมากขึ้นว่า สถานการณ์แบบหลังอาจมีความเป็นไปได้มากขึ้น”
แอนดรูว์ ฮูเบอร์แมน (Andrew Huberman) เพื่อนร่วมงานของ เอเลียส อบัวจาโอวด์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เช่นกัน ก็ได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่า “การใช้สมาร์ทโฟนสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะ ADHD ในผู้ใหญ่ได้”
แม้นักวิชาการบางคนจะยังไม่แน่ใจ แต่หากการใช้เทคโนโลยีทำให้เกิดสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ได้จริง ๆ แรมซีย์ชี้ว่า มันจะผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแน่นอน เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันนี้ระบุว่าโรคนี้คืออาการผิดปกติจากพัฒนาการทางระบบประสาท “โรคสมาธิสั้นที่ ‘ได้มา’ (จากการใช้เทคโนโลยีมากเกินไป) มีแหล่งที่มาแตกต่างกัน (จากเดิมคือพัฒนาการทางระบบประสาท) และอาจต้องมีการแทรกแซงและการสนับสนุนที่แตกต่างกัน”
ไม่ว่าสาเหตุใดมีส่วนทำให้เกิด ADHD ในแต่ละคน โรคนี้มักเป็นโรคที่ถูกมองข้ามในเด็ก และอาจไม่สามารถระบุได้จนกว่าบุคคลนั้นจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต (DSM) ฉบับล่าสุดซึ่งเป็นแนวทางที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยและรักษาภาวะสุขภาพทางจิต ระบุจะต้องชี้อาการเฉพาะในบุคคลให้ได้ก่อนอายุ 12 ปี แต่นั่นไม่ได้หมายความจะมีอาการเกิดขึ้นก่อนอายุ 12 ปี เท่านั้น
ส่วนใหญ่แล้ว อาการจะถูกระบุย้อนหลังหลายปี หรือหลายทศวรรษต่อมาด้วยการทบทวนบันทึกเก่า ๆ ของครู การพูดคุยสมาชิกในครอบครัว หรือจากความทรงจำของผู้ป่วยเอง
“บางครั้ง ADHD จะไม่สามารถระบุได้จนกว่าจะมีอายุมากขึ้น เพราะอาการหายไปตั้งแต่อายุยังน้อย หรือถูกปัจจัยอื่นบดบัง” มาร์กาเร็ต ซิบลีย์ ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าว
ปัจจัยนั้นเป็นไปได้ตั้งแต่พ่อแม่ หรือครูต่างไม่รับรู้ถึงความผิดปกติ ไปจนถึงการที่เด็กพยายามหาวิธีแก้ไขด้วยตัวเอง (จนแสดงอาการออกมาไม่ชัด) “ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเด็กไม่ตั้งใจเรียน แต่ก็ไม่ก่อกวนอะไรในห้องเรียน จนเด็กถูกมองข้ามไป” ลิเดีย ไซโลวสกา (Lidia Zylowska) จิตแพทย์จากโรงเรียนการแพทย์ มหาวิทยาลัยมินนิโซตากล่าว
ตารางที่ตายตัว กิจกรรมที่มีโครงสร้างชัดเจน และความช่วยเหลือจากผู้ปกครองทำให้การระบุความปกติได้ยาก จนกว่าบุคคลนั้นจะสูญเสียโครงสร้างสนับสนุนดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ในวัยผู้ใหญ่ และเมื่อนั้นหลายคนถึงเพิ่งจะสังเกตเห็นความผิดปกติ
บางคน “ต้องทำงานหนักขึ้นถึง 2-3 เท่าเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในระดับเดียวกันกับเพื่อนของพวกเขา” จิล ราชบีเซล (Jill RachBeisel) แพทย์และหัวหน้าแผนกจิตเวชศาสตร์จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ กล่าว
ไม่ว่าจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ADHD เมื่อไหร่ แต่อาการในผู้ใหญ่มักจะแตกต่างจากเด็กค่อนข้างมาก เครก ชัวร์แมน (Craig Surman) แพทย์และจิตแพทย์ผู้ดำเนินโครงการวิจัยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์เจนเนอรัล กล่าวว่า แม้ธรรมชาติของความผิดปกติในด้านหุนหันพลันแล่น และการใช้ความพยายามมากกว่าปกติมักจะลดลงในวัยผู้ใหญ่ แต่ “ลักษณะความไม่ตั้งใจมักจะยังคงมีอยู่”
ผู้ใหญ่มักจะควบคุมความกระวนกระวายใจได้ดีกว่า และมักจะมีระเบียบวินัยมากกว่าในการทำงานให้เสร็จ “เด็กไม่สามารถนั่งอย่างสงบในห้องเรียน และลุกจากที่นั่งเป็นประจำ ขณะที่ผู้ใหญ่ก็อาจร้อนใจมากขึ้นเมื่อติดไฟแดง หรือรอคิวในร้านขายของชำ” ราชบีเซล บอก
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน หรือวัยหมดประจำเดือนก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่มักนำอาการ ADHD ซึ่งแอบแฝงอยู่ในผู้หญิงออกมา “ผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่ในกลุ่มประชากรที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดของโรคสมาธิสั้น และมักได้รับยาต้านอาการซึมเศร้ากับยาแก้วิตกกังวลแทน (โรคสมาธิสั้น)” จอห์น เรเทย์ (John Ratey) นักประสาทจิตแพทย์ของฮาร์วาร์ด กล่าว
“ทั้งที่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังทุกข์ทรมานจากอาการที่เกี่ยวข้องกับการเป็นโรคสมาธิสั้น” เรเทย์ เสริม แต่เช่นเดียวกันโรคทางสุขภาพจิตอื่น ๆ อาการ ADHD ไม่ได้มีเฉพาะในผู้หญิง รวมถึงสามารถทับซ้อนกับภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
พฤติกรรมและปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด ผลข้างเคียงของยา หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ ต่างก็อาจส่งผลให้มีสมาธิยากได้เช่นกัน แม้แต่อาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หยุดหายใจขณะหลับ การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาที่เกี่ยวข้องกับอายุ และปัญหาต่อมไทรอยด์ ก็อาจสร้างอาการเลียนแบบ ADHD ได้
มีหลายวิธีที่สามารถขอความช่วยเหลือได้หลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ADHD อย่างถูกต้องแล้ว มาร์ก สเทน (Mark Stein) แพทย์และผู้อำนวยการโครงการ ADHD และความผิดปกติที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลเด็กซีแอตเทิล กล่าวว่า “โรคสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษานั้นมักมาพร้อมกับปัญหาอื่น ๆ” พร้อมเสริมว่า “ดังนั้น คำแนะนำที่สำคัญที่สุดของฉันคือการได้รับการประเมินที่ดี”
ราชบีเซล เห็นด้วยและตั้งข้อสังเกตว่า ADHD นั้น “เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้” ด้วยการใช้ยาหรือแนวทางอื่น ๆ อย่างการบำบัดพฤติกรรม แต่สิ่งสำคัญคือที่ แรมซีย์ เน้นย้ำคือ ผู้ใหญ่ที่เป็น ADHD ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งอาจหมายถึงการใช้เวลากับสมาร์ทโฟนน้อยลง
“ADHD มีความท้าทาย แต่ก็ยังมาพร้อมกับความสามารถมากมา ยซึ่งรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ ความกระตือรือร้น ความอยากรู้อยากเห็น และการมุ่งเน้นอื่น ๆ เมื่อมีสิ่งที่น่าสนใจกว่า” เรเทย์ บอก “มันเกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสม เพื่อนที่เหมาะสม และคู่ชีวิตที่เหมาะสม เพื่อสร้างจุดแข็งของสมอง ในภาวะ ADHD ให้ทะยานขึ้นไป”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/premium/article/adhd-rising-adults-technology