นับตั้งแต่ภารกิจอะพอลโลของนาซา (NASA) ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1972 ยานโอดิสซีอุส ’ (Odysseus) ของบริษัทเอกชน Intuitive Machines ลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ
ท่ามกลางความวิตกกังวลของทีมงานขณะที่พวกเขาเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อเป็นเวลากว่า 73 นาทีในการลงจอด ยานโอดิสซีอุสก็ค่อย ๆ ‘ตั้งตรงและเริ่มส่งข้อมูล’ ความกังวลก็เปลี่ยนกลายเป็นความตื่นเต้นดีใจในทันที พร้อมกับเสียงปรบมือที่ดังก้องไปทั่วห้องควบคุม
“ผมรู้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ชวน ‘กัดเล็บ’ (nail-biter สื่อถึงความวิตก) แต่เราต้องอยู่เฉย ๆ และทำได้แค่รอการส่งสัญญาณ” สตีฟ อัลเทมัส (Steve Altemus) ซีอีโอของ Intuitive Machines กล่าว “ยินดีต้อนรับกลับสู่ดวงจันทร์”
ยานลงจอดสำเร็จด้วยโครงยานคาร์บอนไฟเบอร์และไททาเนียมสูง 4.267 เมตร (14 ฟุต) ตกลงมาจากวงโคจรสำรวจดวงจันทร์และเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นผิว โดยค้นหาจุดที่ค่อนข้างราบเรียบระหว่างหน้าผาและหลุมอุกกาบาตเพื่อพยายามใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ให้ได้มากที่สุด
นี่คือช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองซึ่งนาซายกย่องว่าให้เป็น “การก้าวกระโดดครั้งใหญ่” แม้จะยังไม่มีการยืนยันสถานะหรือสภาพของยาน ณ การลงจอดในทันที นอกจากระบุว่ายานได้ไปถึงจุดลงจอดตามแผนที่วางไว้ตรงปล่องภูเขาไฟมาลาเพิร์ต เอ แล้ว แต่ท้ายที่สุด ยานก็ทำงานตามที่พวกเขาตั้งใจไว้
บริษัทโพสต์ผ่าน X ว่ายานกำลังทำภารกิจ “เพื่อส่งต่อภาพแรกจากพื้นผิวดวงจันทร์” อยู่ในตอนนี้ พร้อมกับเสริมว่ามันเป็น “การลงจอดแบบนุ่มนวล” โดยคาดว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จอยู่ที่ 80% ในตอนแรก ยานได้รับการออกแบบมาเพื่อเปิดยุคใหม่ของการสำรวจดวงจันทร์ ขณะเดียวกันนาซาเองกำลังมุ่งสู่ภารกิจตามกำหนดในช่วงปลายปี 2026 เพื่อส่งมนุษย์กลับไปที่นั่น
นี่นับเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศซึ่งผลิตโดยสหรัฐฯ ได้ลงจอดบนดวงจันทร์นับตั้งแต่การเยือนครั้งสุดท้ายของของนาซาในภารกิจอะพอลโล 17 เมื่อเดือนธันวาคมปี 1972 และยังมีความพยายามครั้งล่าสุดของยานเพเรกรินวัน (Peregrine One) โดยเอเจนซี่และบริษัทเอกชน Astrobotic แต่ล้มเหลวไปอย่างน่าเสียดาย โอดิสซีอุส จึงกลายเป็นยานแรกของช่วงประวัติศาสตร์นี้
“วันนี้ เป็นครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่สหรัฐฯ ได้กลับสู่ดวงจันทร์แล้ว วันนี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่บริษัทพาณิชย์ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันได้เปิดตัวและเป็นผู้นำการเดินทางไปที่นั่น” บิล เนลสัน ผู้บริหาร นาซา กล่าว
“ถือเป็นชัยชนะจริง ๆ โอดิสซีอุสได้อยู่บนดวงจันทร์แล้ว ความสำเร็จนี้ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ”
ไม่มีภาพวิดีโอการลงจอดอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ของโอดิสซีอุสที่ค่อย ๆ ตกลงด้วยความเร็วประมาณ 3.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ความสูง 10 เมตรหนือพื้นผิว แต่ภาพจริงถ่ายขณะตกทันทีก่อนจะแตะพื้นทำให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยการบินเอ็มบรี-ริดเดิ้ลในรัฐฟลอริดาสร้างการจำลองการเคลื่อนไหวของยานได้
ยานลำนี้มีรูปร่าง 6 เหลี่ยม 6 ขาและมีความสูงทั้งหมด 4.3 เมตร โดยมีชื่อเล่นที่เรียกขานกันอย่างลำลองในหมู่พนักงานว่า ‘โอดี้’ (Odie) โดย Intuitive Machines ได้ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มบริการบรรทุกสัมภาระบนดวงจันทร์เชิงพาณิชย์ (CLPS) ของนาซา ที่ได้มอบสัญญาให้กับบริษัทพันธมิตรเอกชน เพื่อสนับสนุนโปรแกรมอาร์เทมิส
นาซาได้มอบเงิน 118 ล้านดอลลาร์ (4,244 ล้านบาท) เพื่อให้โครงการลุล่วง โดย Intuitive Machines ออกทุนเองเพิ่มอีก 130 ล้านดอลลาร์ (4,676 ล้านบาท) และปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 จากบริษัท SpaceX ของ อีลอน มักส์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา
ยานได้บรรทุกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จำนวนมากที่ออกแบบมาเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ บนดวงจันทร์ โดยเฉพาะในบริเวณที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ลงจอดสำหรับภารกิจอาร์เทมิส 3 ของนาซา เนลสันกล่าวว่า ตรงนั้นเป็นพื้นที่อันตราย “เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตเหล่านี้”
แต่ก็มีความสำคัญและถูกเลือกเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเชื่อกันว่ามีน้ำแช่แข็งอยู่มากมาย ซึ่งสามารถเป็นทรัพยาการของฐานดวงจันทร์ถาวรในภารกิจสำรวจอวกาศต่อไปในอนาคตเช่น การไปดาวอังคาร การมีน้ำอยู่บนนั้นจะช่วยให้ลูกเรือทำงานง่ายขึ้นอย่างมาก
นักวิทยาศาสตร์ได้คาดว่าน้ำที่เก็บไว้ในรูปแบบเม็ดแก้วเล็ก ๆ อาจมี “หลายพันล้านตัน” ซึ่งสามารถสกัดและนำไปใช้ในภารกิจต่อไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการยืนยันก่อนที่จะเริ่มต้นทำสิ่งใหญ่ ทว่าความเสี่ยงนั้นคุ้มค่า โดยเนลสันบอกกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันพฤหัสบดีว่า
“ต้องการยืนยันว่ามีน้ำอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์หรือไม่ เพราะถ้ามีน้ำ ก็มีเชื้อเพลิงจรวด ไฮโดรเจน และออกซิเจน และเราอาจจะมี “ปั๊มน้ำมัน” อยู่ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ก็ได้” เนลสัน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยานมีอายุการใช้งานจากพลังงานแสงอาทิตย์อยู่เพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ก่อนที่จุดลงจอดจะเคลื่อนเข้าสู่เงาของโลก แต่ทางทีมงานเองหวังว่านานพอที่รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ว่าดินมีปฏิกิริยาอย่างไร รวมถึงผลกระทบของอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์
“Odysseus ซึ่งขับเคลื่อนโดยบริษัท Intuitive Machines ถูกส่งขึ้นไปด้วยจรวด SpaceX พร้อมด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์มากมายของ นาซา กำลังแบกรับความฝันของการผจญภัยครั้งใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และความเป็นผู้นำของอเมริกาในอวกาศ” เนลสันกล่าว
ในส่วนของอาร์เทมิสนั้นเป็นโครงการส่งมนุษย์กลับสู่ดวงจันทร์ของนาซา ซึ่งโครงการระยะยาวที่จะเกิดขึ้นภายในสองทศวรรษข้างหน้า แม้สงครามเย็นจะจบลงไปแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงพยายามที่จะนำหน้ารัสเซียและจีน ในการสำรวจอวกาศ
ปัจจุบันมี 5 ประเทศที่ได้ส่งยานอวกาศไร้คนขับไปยังดวงจันทร์แล้ว ประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และอินเดีย ทาง Intuitive Machines เองก็มีกำหนดปล่อยตัวยานอีก 2 ลำในปลายปีนี้ ซึ่งสำรวจการขุดเจาะน้ำแข็งเพื่อสกัดส่วนผสมสำหรับเชื้อเพลิงจรวด และบรรทุกรถแลนด์โรเวอร์ขนาดเล็กของนาซา พร้อมกับหุ่นยนต์ขนาดเล็กอีก 4 ตัวเพื่อสำรวจสภาพพื้นผิว
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
.
https://www.theguardian.com/science/2024/feb/22/us-moon-landing-odysseus-intuitive-machines
.
https://news.sky.com/story/us-lander-successfully-touches-down-on-moon-for-first-time-in-over-50-years-13078510#:~:text=The%20Odysseus%20lander%20has%20successfully,NASA’s%20Apollo%20programme%20in%201972.
.
https://www.sciencealert.com/success-us-lander-odysseus-makes-space-history-with-lunar-touchdown