ฟอสซิลอสุรกายแห่งท้องทะเลถูกพบในอินเดีย

เรื่อง มิคาเอล เกรสโค

กระดูกที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นฝังอยู่ในผืนดินของภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ในอินเดียนี้ เป็นของ “อสุรกายแห่งท้องทะเล” มันมีขนาดประมาณเรือลำเล็กลำหนึ่ง ออกว่ายน้ำหาอาหารไปทั่วผืนมหาสมุทรเมื่อราว 150 ล้านปีก่อน

ฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่ถูกค้นพบนี้เป็นของอิกทิโอซอรัส (Ichthyosaur) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในน้ำในยุคสมัยที่ไดโนเสาร์ครองโลก มันมีลักษณะคล้ายกับโลมาและวาฬ กินสัตว์น้ำชนิดอื่นเป็นอาหาร และล่าเหยื่อด้วยดวงตาขนาดใหญ่ ขากรรไกรแคบทว่าเต็มไปด้วยฟันแหลมคม

สำหรับอิกทิโอซอรัสตัวนี้ที่พบในอินเดียน่าจะมีชีวิตอยู่ราว 152 – 157 ล้านปีก่อน และเป็นไดโนเสาร์ใต้น้ำตัวแรกที่ถูกค้นพบยังภูมิภาคนี้ ซึ่งการค้นพบของมันจะช่วยให้บรรดานักบรรพชีวินวิทยาทำความเข้าใจได้ว่าอิกทิโอซอรัสแพร่กระจายสายพันธุ์ไปทั่วผืนมหาสมุทรในโลกยุคโบราณได้อย่างไร

“มันเป็นการค้นพบที่มหัศจรรย์มาก และเป็นโครงกระดูกของอิกทิโอซอรัสที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้” Steve Brusatte นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการค้นพบครั้งนี้กล่าว

“ฟอสซิลของอิกทิโอซอรัสเป็นที่รู้กันดีว่ามักพบในทวีปทางตอนเหนือ แต่กลับทวีปทางตอนต้มันเป็นเรื่องที่หายากมาก” Brusatte กล่าวเสริม ซึ่งฟอสซิลอื่นๆ ของพี่น้องร่วมสายพันธุ์มันถูกพบในทวีปอเมริกาเหนือและในยุโรป “ดังนั้นแล้วฟอสซิลใหม่นี้จะช่วยเปิดเผยความลับที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับลักษณะทางชีวภาพและวิวัฒนาการของมัน”

ครีบซ้ายของอิกทิโอซอรัส

 

ฟอสซิลสมบูรณ์

นักบรรพชีวินวิทยาโชคดีพบเข้ากับฟอสซิลนี้ที่ทางตอนใต้ของหมู่บ้าน Lodai ในรัฐคุชราตเมื่อปี 2016

ฟอสซิลของอิกทิโอซอรัสถูกฝังอยู่ในหินตะกอนที่แข็งมากๆ และการขุดค้นก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากภูมิอากาศของภูมิภาคนี้แห้งแล้งอย่างรุนแรง รวมถึงอุณหภูมิในช่วงนั้นก็สูงถึง 95 องศาฟาเรนไฮต์

แรงงานทั้งหมดใช้เวลาถึง 1,500 ชั่วโมง ในที่สุดพวกเขาก็สามารถเข้าถึงโครงกระดูกอันสมบูรณ์สวยงาม กระดูกสันหลังของมันยังเห็นเป็นเส้นต่อเนื่อง และกระดูกส่วนอื่นๆ ที่เหลือก็ยังคงมีรูปร่างเช่นเดียวกับตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่

Guntupalli V.R. Prasad นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดลี ผู้ศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์กล่าวว่าการค้นพบนี้เป็นดังเซอร์ไพร์ “ผมไม่ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการค้นพาไดโนเสาร์ที่มีกระดูกสันหลังในภูมิภาคนี้นักเนื่องจากตามที่ผมพิจารณาพวกมันน่าจะมีอยู่น้อยมากๆ” เขากล่าว

Prasad ตระหนักถึงประโยชน์ของการค้นพบนี้ เพราะไม่เพียงแต่เป็นการค้นพบอิกทิโอซอรัสแบบสมบูรณ์แต่นี่ยังเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบฟอสซิลจากยุคจูแรสสิกในประเทศนี้ ฟอสซิลก่อนหน้าที่พบมักมีอายุน้อยกว่านี้ราว 50 ล้านปี และประกอบด้วยฟัน หรือบางส่วนของกระดูกสันหลังเท่านั้น

กระบวนการขุดค้นเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะหินในบริเวณนี้แข็งมาก รวมถึงอุณหภูมิระหว่างวันก็สูงถึง 95 องศาฟาเรนไฮต์

 

เหยื่อในเปลือกแข็ง

ในช่วงเวลาที่อิกทิโอซอรัสยังมีชีวิตอยู่ อินเดียปกคลุมไปด้วยท้องทะเล เมื่อเจ้าสัตว์เลื้อยคลานขนาด 16 ฟุตออกล่าอาหาร บางครั้งมันเจอเข้ากับเหยื่อที่อาสัยอยู่ในเปลือกอย่างปลาเปลือกแข็งหรือแอมโมไนต์ ส่งผลให้ฟันของมันมีรอยแตก

นอกจากนั้นทีมนักวิจัยยังพบว่า อิกทิโอซอรัสที่พบในอินเดียตัวนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิกทิโอซอรัสที่พบในทวีปทางตอนเหนือ จึงเกิดสมมุติฐานตามมาว่าพวกมันอาจมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน เนื่องจากทวีปในยุคนั้นแตกต่างกับปัจจุบัน ในเวลานั้นผืนแผ่นดินกอนด์วานายังไม่ได้แยกตัวออกจากกกัน ส่งผลให้พวกมันสามารถเดินทางจากตะวันตกของอินเดียไปยังมาดากัสการ์และอเมริกาใต้ได้

หากเป็นเช่นนั้นจริง การค้นพบนี้จะช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยามองเห็นภาพมากขึ้นว่าสัตว์ทะเลเหล่านี้แพร่กระจายสายพันธุ์ไปทั่วมหาสมุทรของยุคจูแรสสิกได้อย่างไร

“การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าอิกทิโอซอรัสกระจายไปทั่วโลกในยุคไดโนเสาร์” Brusatte กล่าว “ดูเหมือนว่าพวกมันจะอยู่ทุกที่ในมหาสมุทร ในเวลาเดียวกันกับที่ไดโนเสาร์เองก็เปล่งเสียงกัมปนาทไปทั่วแผ่นดินเช่นกัน”

 

อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์วางไข่เป็นสีฟ้า!ไดโนเสาร์มีขนพันธุ์ใหม่ มีสี่ปีกแต่บินไม่ได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.