อุกกาบาตทำลายล้างไดโนเสาร์ ตกลงในจุดสังหารพอดิบพอดี

อุกกาบาตทำลายล้างไดโนเสาร์ ตกลงในจุดสังหารพอดิบพอดี

ในโลกยุคโบราณ บริเวณคาบสมุทรยูกาตัง ของเม็กซิโก คือจุดเลวร้ายที่สุดหากอุกกาบาตดันตกลงมา

หลักฐานดังกล่าวถูกแสดงให้เห็นแล้วผ่านเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อน หลังอุกกาบาตความกว้าง 12 กิโลเมตรพุ่งเข้าชนกับโลก จนปรากฏเป็นหลุมอุกกาบาตชีคซูหลุบบริเวณเมืองท่าของเม็กซิโกในปัจจุบัน ผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นส่งผลให้อาณาจักรของไดโนเสาร์ที่ครองโลกมานานต้องถึงกาลอวสาน ประมาณการณ์ว่าสิ่งมีชีวิตราว 3 ใน 4 จากทั้งหมดบนโลกสูญพันธุ์ไปจากอุกกาบาตลูกนั้น

จากการศึกษาระบุว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เป็นผลมาจากเขม่าควันจากการพุ่งชนที่ลอยขึ้นปกคลุมชั้นบรรยากาศ จนทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลง ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในตอนนั้นอยู่ที่ -10 ถึง -7.8 องศาเซลเซียส ลดลงจากเดิมที่ -7.8 ถึง -1.7 องศาเซลเซียส

ทั่วพื้นผิวโลกมีเพียง 13% เท่านั้นที่เป็นผืนดิน นั่นหมายความว่าหากอุกกาบาตลูกนั้นตกห่างไปจากจุดเดิม ไดโนเสาร์อาจไม่ล้มหายตายจากไปหมดก็ได้

“ความน่าสนใจก็คือในรายงานระบุว่า ต่อให้อุกกาบาตมีขนาดใหญ่กว่านี้ ผลกระทบจากการทำลายล้างก็อาจไม่รุนแรงเท่าหากอุกกาบาตไปตกที่อื่น” Paul Chodas ผู้จัดการศูนย์การศึกษาวัตถุใกล้โลก จากนาซ่ากล่าว “เราตั้งข้อสังเกตหลายครั้งมากว่าบรรดาไดโนเสาร์โชคร้ายขนาดไหน และพวกเราโชคดีแค่ไหน ในฐานะที่ปัจจุบันเราอยู่เหนือสุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งปวง”

โครงกระดูกของไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ตั้งตระหง่านอยู่ในศูนย์ความหลากหลายทางชีววิทยาในธรรมชาติ ประเทศเนเธอร์แลนด์

 

ธรณีวิทยาเป็นเหตุ

Kunio Kaiho หัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้เปิดเผยว่า การพุ่งชนของอุกกาบาตดังกล่าวก่อให้เกิดการเผาไหม้น้ำมันที่อยู่ในชั้นหิน ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยเขม่าควันดำที่มีปริมาณมากถึง 1.7 พันล้านตัน หรือมากพอที่จะเติมลงในสนามกีฬาเบสบอลจนเต็ม

แม้ว่าฝนที่ตกตามลงมาอย่างรวดเร็วจะช่วยชะล้างเขม่าควันออกไปจากชั้นบรรยากาศ แต่ยังคงเหลืออีกราว 385 ล้านตัน ซึ่งทำให้แสงแดดไม่สามารถสาดส่องผ่านลงมาได้

ข้อมูลเหล่านี้เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์แผนที่ทางธรณีวิทยาซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณจุดตกของอุกกาบาต ในปลายยุคครีเตเชียสเต็มไปด้วยตะกอนของไฮโดรคาร์บอนในชั้นหิน สอดคล้องกับการที่ชายฝั่งในภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน

Kaiho ยังมองหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพุ่งชนในชั้นหินอื่นๆ ทั่วโลก เขาพบว่าตัวอย่างตะกอนของเขม่าควันที่พบในเฮติมีความคล้ายคลึงกับที่พบในบริเวณหลุมอุกกาบาตชีคซูหลุบ และยังพบรูปแบบเดียวกันนี้ในสเปน ซึ่งห่างออกไปไกลหลายพันไมล์

“ความคล้ายคลึงกันของตะกอนที่พบเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากอุกกาบาตที่พุ่งชนในครั้งนั้น” เขากล่าว “ปริมาณของไฮโดรคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการพุ่งชนอาจทำให้อุณหภูมิของผืนดินและน้ำทะเลทั่วโลกเย็นลง”

อย่างไรก็ตามทฤษฎีปัจจุบันอ้างว่าการที่พบตะกอนเขม่าควันดังกล่าวในหลายพื้นที่เป็นผลมาจากไฟป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งลุกลามไปทั่วโดยมีสาเหตุจากหินร้อนที่ตกลงมาจากท้องฟ้าเมื่อเกิดการระเบิด ซึ่ง Kaiho รายงานว่าการศึกษาของเขาปฏิเสธทฤษฎีนี้ เนื่องจากลำพังไฟป่าไม่สามารถทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงได้ ทั้งนี้เขากล่าวเพิ่มเติมว่าเขม่าควันไม่ได้ถูกกระจายออกไปทั่วโลกในปริมาณที่เท่าๆ กัน เนื่องจากข้อมูลจากการศึกษาในนิวแฮมเชียร์ ที่ตั้งอยู่ทางซึกโลกเหนือเผชิญกับอากาศหนาวที่มากกว่า ในขณะที่ซีกโลกใต้มีการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่า

 

กำมะถันต่างหาก ไม่ใช่เขม่าควัน?

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการศึกษานี้ก็คือ ผลการวิเคราะห์ชั้นหินในบริเวณหลุมอุกกาบาตชีคซูหลุบ ไม่พบปริมาณของตะกอนไฮโดคาร์บอนมากนัก ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลงอาจเกิดขึ้นจากกำมะถัน ไม่ใช่เขม่าควัน รายงานจาก Sean Gulick นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน ผู้เป็นส่วนหนึ่งของการขุดเจาะเอาชั้นดินจากหลุมอุกกาบาตส่วนที่จมอยู่ในทะเลมาตรวจกล่าว

ในอีกการศึกษาหนึ่ง ที่เพิ่งถูกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Joanna Morgan ผู้ช่วยของเขาพบว่าการพุ่งชนก่อให้เกิดกำมะถันปริมาณมากถึง 325 กิกกะตัน ซึ่งมากพอที่จะลดอุณหภูมิโลก และการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

Gulick เชื่อว่า การที่เขม่าควันในเฮติคล้ายกับในชีคซูหลุบ น่าจะเป็นผลมาจากไฟป่า ซึ่งผลการวิเคราะห์จากชั้นดินของแกนกลางจุดพุ่งชนในซีคซูหลุบจะช่วยไขความกระจ่างต่อหลายข้อสงสัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตัวเขายอมรับทฤษฎีของ Kaiho ที่ว่าอุกกาบาตดันตกลงในจุดที่โชคร้ายที่สุดของโลกเพราะก่อนหน้านี้โลกเองก็เคยเผชิญกับการตกของอุกกาบาตที่ใหญ่กว่านี้มาแล้ว เช่นหลุมอุกกาบาต  Chesapeake bay ทางตะวันตกของแคว้นบาวาเรีย ในเยอรมนี และไม่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์แต่อย่างใด

“มีพื้นที่บนโลกที่ค่อนข้างน้อยที่คุณจะปล่อยอุกกาบาตขนาด 12 กิโลเมตรลงไปแล้วหวังผลว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเหมือนในตอนนั้น” Gulick กล่าว

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นเพราะกำมะถันหรือเขม่าควัน การศึกษาของ Kaiho ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับการศึกษาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคโบราณ “เราจะใช้ปัจจัยเหล่านี้ในการจำลองเพื่อหาคำตอบว่าจะเป็นอย่างไรกับสภาพอากาสในปัจจุบันของเราหากถูกปกคลุมไปด้วยกำมะถัน, เขม่าควัน หรือคาร์บอนไดออกไซด์” Gulick กล่าว “มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะหาคำตอบว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างกับอากาศในตอนนี้”

เรื่อง Michelle Z. Donahue

อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์วางไข่เป็นสีฟ้า!ไดโนเสาร์มีขนพันธุ์ใหม่ มีสี่ปีกแต่บินไม่ได้

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.