วัคซีนใครว่าไม่สำคัญ

เรื่อง ซินเทีย กอร์นีย์

ภาพถ่าย วิลเลียม ดาเนียลส์

ซามีร์ ซาฮาเป็นนักจุลชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงในระดับโลกจากผลงานวิจัยแบคทีเรียที่มีชื่อว่า นิวโมคอกคัส ห้องปฏิบัติการที่เขาก่อตั้งขึ้นอยู่ตรงมุมหนึ่งของโรงพยาบาลธากาชิชู โรงพยาบาลเด็กที่ใหญ่ที่สุดในบังกลาเทศ ภายในห้องปฏิบัติการ ชายหญิงในชุดกาวน์สีขาวกำลังง่วนกับการศึกษาเซลล์นิวโมคอกคัส

แบคทีเรียนิวโมคอกคัสมีอยู่ทุกแห่งหนในโลก และแพร่กระจายได้อย่างง่ายดายผ่านการจามหรือการสัมผัส พวกมันสามารถอาศัยอยู่ในช่องจมูกของคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยใดๆ แต่ทันทีที่ระบบป้องกันของเราอ่อนแอลง นิวโมคอกคัสจะเคลื่อนย้าย แบ่งตัว และทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กเล็กยิ่งมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็กในถิ่นที่เข้าถึงยาปฏิชีวนะและการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้ยากจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด โรคที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอกคัสคร่าชีวิตเด็กทั่วโลกไปกว่า 800,000 คนต่อปี การเสียชีวิตนี้ซึ่งส่วนใหญ่กำลังเกิดขึ้นในประเทศยากจนอย่างบังกลาเทศ

ในปี 2015 เมื่อวัคซีนนิวโมคอกคัสแบบคอนจูเกตหรือพีวีซี (pneumococcal conjugate vaccine: PCV) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้สำหรับเด็กมาถึงบังกลาเทศ ทีมวิจัยของซาฮาก็ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด หากพีวีซีแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพ ทั่วโลกอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนคาดหวัง มันจะช่วยทั้งลดอัตราการตายลงได้อย่างมาก  ซึ่งหมายถึงเด็กเล็ก ๆหลายพันคน จะรอดชีวิตแทนที่จะเสียชีวิตก่อนถึงวัยเรียน และลดความเจ็บป่วยที่ไม่ถึงแก่ชีวิตได้อีกมาก

ทว่าสิ่งที่เร่งด่วนยิ่งกว่า ทะเยอทะยานมากกว่า สลับซับซ้อนมากกว่า ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายรัฐบาลและเงินบริจาคหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็คือความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีนใหม่ๆสำหรับเด็กในประเทศกำลังพัฒนา ความทุกข์ทรมานของคนในประเทศเหล่านี้อันเกิดจากโรคที่วัคซีนป้องกันได้เป็นเรื่องจริงและชัดเจนมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน

เบลเยียม ถังเหล็กกล้าในอาคารใหม่ของบริษัทจีเอสเคใกล้กรุงบรัสเซล เริ่มสายการผลิตส่วนประกอบหลักๆสำหรับทำวัคซีนโปลิโอในปี 2017 เพื่อคงความปราศจากเชื้อ คนงานต้องเข้าและออกผ่านทางห้องแอร์ล็อก

 

วัคซีนเกือบทั้งหมดในโลกผลิตโดยบริษัทเอกชนในธุรกิจที่หวังผลกำไร  กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ การผลิตวัคซีนอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทยายักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งในสหรัฐฯและยุโรป เมื่อองค์กรรณรงค์เคลื่อนไหว เช่น แพทย์ไร้พรมแดน (Doctors Without Borders) กดดันให้ลดราคาวัคซีนลง บริษัทเหล่านี้มักอ้างว่า การพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก และกระบวนการทั้งหมดกินเวลานานหลายปี

สำหรับวัคซีนนิวโมคอกคัสที่ใช้ได้ผลในเด็กใช้เวลาพัฒนาหลายสิบปี วัคซีนที่ใช้ได้ดีในผู้ใหญ่ออกสู่ตลาดในช่วงต้นทศวรรษ 1980 แต่ไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กได้เลย ต้องรอจนถึงปลายทศวรรษ 1990 นักวิจัยจึงค้นพบหนทางในการ “ปรับปรุง” (conjugate) ส่วนประกอบทางชีวภาพของวัคซีนในผู้ใหญ่  เพื่อทำให้ภูมิคุ้มกันที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ (ในเด็ก) จดจำวัคซีนได้

วัคซีนนิวโมคอกคัสสำหรับเด็กชนิดแรกเป็นวัคซีนที่มีราคาแพงที่สุดตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์ วัคซีนที่มีชื่อว่า เพรฟนาร์ (Prevnar) ออกสู่ท้องตลาดในช่วงต้นปี 2000 ผลิตโดยบริษัทยาไวเอตของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาถูกไฟเซอร์ซื้อกิจการไป เพรฟนาร์พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทำงานต่อต้านเชื้อ 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยจากนิวโมคอกคัสส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งสามารถจ่ายค่าวัคซีนสำหรับเด็กที่มีสนนราคา 232 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการฉีดตามกำหนด 4 ครั้งได้

“ตอนที่ผมเริ่มจับเรื่องนี้  สิ่งที่ทำให้ผมหลับไม่ลงคือความไม่เสมอภาคครับ” โอริน เลวายน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขนส่งวัคซีนของมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์  บอกเมื่อหลายปีก่อน เพื่อนร่วมงานของเขาเห็นแม่คนหนึ่งที่โรงพยาบาลในประเทศมาลีสูญเสียลูกสาวไปเพราะภาวะปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอกคัส ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ เธอเสียลูกสาวอีกคนไปด้วยสาเหตุเดียวกัน เลวายน์ยังจำชื่อแม่ของเด็กได้เป็นอย่างดี ลูกสาวของเขามีอายุไล่เลี่ยกัน

“โอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อนิวโมคอกคัสในประเทศที่ร่ำรวยนั้นต่ำกว่าเป็นร้อยเท่า” เขาบอก “ทำไมลูกผมจึงได้รับวัคซีน แต่เด็กชาวมาลี ลูกของไดอาร์รา ไทมานี ที่ต้องการวัคซีนมากกว่า กลับไม่ได้รับละครับ”

แน่นอน เขารู้คำตอบ นั่นเป็นเพราะผลกำไรเห็นๆ ที่กลับคืนสู่ผู้ผลิตวัคซีน ไม่ได้มาจากการตอบสนองความต้องการขั้นวิกฤตินั่นเอง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ในช่วงที่โรคหัดระบาด คนงานจากองค์กรแพทย์ไร้พรมแดนข้ามแม่น้ำใกล้กับเมืองมองกา พร้อมกล่องเก็บความเย็นที่เต็มไปด้วยวัคซีน ในการเดินทางตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาจใช้เวลาถึง 10 ชั่วโมง พวกเขาต้องแน่ใจได้ว่า วัคซีนได้รับการแช่เย็นไว้ตลอดเวลา

 

ลองนึกถึงความคับข้องใจของเลวายน์ที่สะท้อนออกมาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนระดับโลก และคุณจะเข้าใจแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังองค์กรพันธมิตรทั่วโลกด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือเกวี (Global Alliance for Vaccines and Immunisation: Gavi) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2000 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วัคซีนนิวโมคอกคัสชนิดคอนจูเกตหรือพีซีวีออกสู่ตลาดสหรัฐฯ มูลนิธิเกตส์ ของมหาเศรษฐีบิล เกตส์  ประเดิมด้วยเงินบริจาค 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  เกวีดึงแหล่งเงินทุนของประเทศที่ร่ำรวย อีกทั้งองค์กรการกุศลและการช่วยเหลือจากรัฐบาลของประเทศอย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ ไปสนับสนุนงานด้านวัคซีนในประเทศที่ยากจนกว่า ซึ่งแจ้งความจำนงขอรับการช่วยเหลือ เกวียังช่วยต่อรองกับบริษัทวัคซีนให้ลดราคาลงมาโดยเฉพาะกรณีการจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การอุดหนุนจากกองทุนผู้บริจาคทำให้ราคาวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาลดลงไปอีก ทำให้พวกเขาจ่ายเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งจากราคาเต็มในท้องตลาด

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าจริงๆค่ะ ทั้งความแข็งแกร่งทางการเงิน และความมุ่งมั่นทุ่มเทที่ผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ตลอดจนผู้ผลิตวัคซีน และประเทศต่างๆ เห็นพ้องต้องกัน” แคเทอรีน โอไบรอัน กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนิวโมคอกคัสที่กำกับดูแลศูนย์การเข้าถึงวัคซีนสากลที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์บอก

 

อ่านเพิ่มเติม : เบาะแสใหม่ชี้ ยีนจากนีแอนเดอร์ทัลส่งผลถึงสุขภาพเราจูจุ๊บสุนัขและแมวของคุณอาจนำไปสู่ความตายได้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.