เรื่องและภาพ ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก
ข่าวคราวการเสียชีวิตเป็นเรื่องเศร้า แม้ว่าความตายจะเป็นสัจธรรมที่เราทุกคนต้องพบเจอ แต่ถ้าเป็นคุณเองจะสามารถทำใจและใช้ชีวิตต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างไร หากคนที่คุณรักจากโลกใบนี้ไปแบบไม่ทราบสาเหตุ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ความตายกลายเป็นหัวข้อหลักของการสนทนาและการติดตามในสังคมไทย ความตายของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ภาพความเจ็บปวดของครอบครัวผู้เสียชีวิตถูกเผยแพร่ผ่านโทรทัศน์และโลกออนไลน์
The Perspective พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกระบวนการ ชันสูตรศพ ศาสตร์ที่ว่านี้ย้อนอายุได้ไกลเป็นพันปี และในปัจจุบันกระบวนการชันสูตรพัฒนาไปไกลจากเดิมมาก การ ชันสูตร มีความสำคัญอย่างไร? มีขั้นตอนอะไรบ้าง? ต้องขอขอบคุณความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ที่นำพาไปสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ความตายเองก็เช่นกัน จริงที่ว่าคนตายไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้ แต่องค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ สามารถพาเราย้อนเวลากลับไปเพื่อหาคำตอบของปริศนาที่ยังคงติดค้างอยู่ในใจคนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ช่วยให้พวกเขาหมดข้อกังขา และก้าวเดินต่อไปได้
ชันสูตรศพนี้มีมาช้านาน
ย้อนกลับไปในอดีต กระบวนการผ่าศพไม่ได้มีขึ้นเพื่อช่วยไขคดีปริศนาความตายเช่นในปัจจุบัน แต่ศาสตร์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยให้แพทย์ได้ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของร่างกายได้มากขึ้น องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกายวิภาคศาสตร์และกระบวนการผ่าศพนี้มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ในสมัยอียิปต์ หรือหลายพันปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าวิทยาการที่โด่งดังของชาวอียิปต์นั่นคือการทำมัมมี่ หรือการดองศพตามความเชื่อของพวกเขา ดังนั้นแล้วการผ่าศพเพื่อความรู้จึงมีส่วนสนับสนุนให้การทำมัมมี่ของพวกเขานั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นศาสตร์ที่ว่าด้วยการผ่าศพก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาหยุดชะงักในยุคกลาง เมื่อศาสนจักรครองอำนาจ การผ่าศพถูกมองว่าเป็นบาป เนื่องจากศาสนาคริสต์มีความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตาย ว่าทุกคนจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในวันพิพากษาดังนั้นในทรรศนะของพวกเขาแล้ว การผ่าศพจึงเป็นการทำลายร่างกายซึ่งเป็นของขวัญจากพระเจ้า และอาจปิดโอกาสที่คนๆ นั้นจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า
เมื่อสิ้นสุดยุคกลาง วิทยาการหลายแขนงกลับมาเป็นที่สนใจและพัฒนาอีกครั้งในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ รวมถึงการผ่าศพเองเช่นกัน ในช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 ในอังกฤษและสกอตแลนด์เริ่มมีโรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ของเอกชนก่อตั้งขึ้นสำหรับบรรดานักเรียนแพทย์ แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีการบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เมื่อเช่นสมัยนี้ ดังนั้นศพที่พวกเขาจะได้ศึกษาจึงเป็นศพของนักโทษประหารเท่านั้น จำนวนศพจึงไม่เพียงพอสำหรับความต้องการศึกษา ในขณะที่โรงเรียนกายวิภาคศาสตร์ของฝรั่งเศสรับเอาศพไร้ญาติจากโรงพยาบาลของรัฐมาให้นักเรียนของเขาได้ศึกษา จะเห็นได้ว่ากระบวนการผ่าศพในอดีตเป็นเรื่องจำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัย หากมิฉะนั้นแล้วแพทย์ผู้รักษาอาการป่วยจะทราบได้ทราบกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ได้อย่างไร หากไม่ได้เปิดดู “ข้างใน” จริงๆ เหนือสิ่งอื่นใดการผ่าศพนี้นอกจากจะช่วยให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์แล้ว ยังเป็นเครื่องมือช่วยให้พวกเขาเผชิญหน้าและรับมือกับความตายอีกด้วย เพราะในฐานะว่าที่แพทย์ในอนาคต พวกเขาจะต้องไม่เกิดความรู้สึกอ่อนไหวไปกับผู้ป่วยหรือผู้ตายที่กำลังนอนอยู่ตรงหน้า แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีภาพสามมิติช่วยให้นักเรียนแพทย์รุ่นใหม่ๆ เรียนรู้ศาสตร์วิชากันได้ง่ายขึ้นแล้ว แต่การผ่าศพเพื่อเห็นอวัยวะของจริงก็ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น องค์ความรู้ที่ถ่ายเทส่งต่อกันมาหลายยุคหลายสมัยนี้ ต้องขอขอบคุณร่างของผู้เสียชีวิตมากมายที่เสียสละร่างกายของพวกเขาทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจให้ถูกผ่า เฉือน หรือหั่นเป็นชิ้นๆ ตั้งแต่เนื้อเยื่อไปจนถึงกระดูก
ผ่าดูแล้ว ทำไมยังต้องเอาอวัยวะออก?
สำหรับกระบวนการชันสูตรนั้นแบ่งออกเป็นสองวิธี หนึ่งคือการชันสูตรพลิกศพแต่ภายนอก คือการตรวจภายนอกของศพเพื่อเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลและสาเหตุของการเสียชีวิต ที่ต้องใช้คำว่าพลิกศพก็เพราะการดูด้วยภายนอกนี้ต้องพิจารณาศพทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แต่หากศพดังกล่าวไม่มีร่องรอยใดๆ ที่บ่งชี้ว่าจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต กระบวนการชันสูตรจะถูกนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป คือการตรวจสอบศพด้วยวิธีการผ่าดูภายใน ซึ่งนอกจากจะช่วยไขปริศนาการเสียชีวิตแล้วยังช่วยยืนยันข้อมูลจากการชันสูตรพลิกศพให้มีน้ำหนักมากขึ้นอีกด้วย เช่นในกรณีที่เมื่อพลิกศพแล้วพบบาดแผลเป็นรูลึกเข้าไปในร่างกาย การผ่าศพจะทำให้ทราบว่าบาดแผลนั้นเกิดจากอาวุธหรือวัตถุอะไร และได้ข้อมูลเพิ่มว่าอาวุธหรือวัตถุนั้นไปถูกอวัยวะสำคัญใดจึงทำให้บุคคลนี้เสียชีวิต
แพทย์หญิงปาริชาติ ภิญโญศรี พยาธิแพทย์ ไขข้อสงสัยในกรณีที่ว่าเหตุใดจึงต้องนำอวัยวะภายในออกจากศพว่า ในการผ่าศพนั้นดูด้วยตาเปล่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตได้แน่ชัด เหตุตายบางอย่างต้องดูการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ ดังนั้นอวัยวะภายในช่องอก ช่องท้อง รวมถึงสมอง แม้แต่ไขสันหลัง รวมถึงไขกระดูกจะถูกนำออกมาดองในน้ำฟอร์มาลินเพื่อรักษาสภาพเซลล์ให้ไม่เน่าเปื่อยกระบวนการนี้เรียกว่า fixation เนื้อที่ถูกแช่จนอยู่ตัว (fixed) นี้จะถูกเลือกบริเวณที่มีรอยโรคมาตัดเป็นชิ้นเนื้อเล็กๆ ขนาดเพียง 3 ไมครอนสำหรับจัดวางบนสไลด์แก้วเพื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตามขั้นตอนปกติของกระบวนการชันสูตร เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ลึกลงไปอีกในระดับการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ เราจะเห็นอะไรบ้างในกล้องจุลทรรศน์? สิ่งเหล่านี้มีมากมายตั้งแต่ร่องรอยของโรค, การตายของเซลล์สมองเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการบาดเจ็บของเซลล์จากผลของสารพิษ ความร้อนจัด ความเย็นจัด และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยไขปริศนาการเสียชีวิตของศพนั้นๆ ให้กระจ่างชัดแจ้งขึ้น
ทั้งนี้ในบางรายที่การเสียชีวิตมีความซับซ้อนหรือเกี่ยวพันกับคดีความ แพทย์สามารถเลือกที่จะเก็บอวัยวะภายในนั้นๆ ไว้ได้ เพื่อใช้ในการตรวจสอบซ้ำในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งบางกรณีนั้นกระบวนการพิจารณาคดีอาจใช้เวลายาวนานเป็นปีๆ การเก็บหลักฐานเหล่านี้ไว้จะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไปได้และเป็นผลประโยชน์ต่อญาติผู้เสียชีวิตเอง โดยแพทย์จะแจ้งกับญาติผู้เสียชีวิตให้เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีการเก็บอวัยวะไว้ และมีอวัยวะใดบ้างที่ถูกเก็บเอาไว้
ปัญหาจากความไม่รู้
กระแสปริศนาการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา นอกเหนือจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในกระบวนการชันสูตรของคนทั่วไปแล้ว หนึ่งประเด็นที่นายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิวิทยากายวิภาคมองเห็นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดจาก กรอบความคิดของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่วิธีการเดิมๆ ยังไม่ได้เปลี่ยนตาม “มันเป็นขั้นตอนตามปกติของกระบวนการชันสูตรศพครับ แต่ในปัจจุบันมโนทัศน์ของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลตั้งคำถามกันมากขึ้น” ย้อนกลับไปเมื่อ 10 – 20 ปีก่อน หน่วยงานรัฐทำอะไรผู้คนอาจไม่ได้สนใจที่จะรับรู้เท่าใดนัก เนื่องจากยังติดกับความคิดในรูปแบบเก่าที่ว่ารัฐมีหน้าที่ทำเพื่อประชาชน “ประชาชนอยู่เฉยๆ เดี๋ยวรัฐจัดการเอง” คุณหมอสุรณรงค์ขยายความ แต่ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงไป ในยุคของข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลไปมาข้ามทวีปอย่างรวดเร็วประชาชนต้องการทราบข้อมูล ดังนั้นการที่หน่วยงานรัฐจะยังคงทำงานในรูปแบบ หรือขั้นตอนเดิมๆ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์
เมื่อถามว่าในความเป็นจริงแล้ว การนำอวัยวะภายในออกไปเก็บไว้เช่นนี้ ต้องแจ้งญาติของผู้เสียชีวิตหรือไม่? กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้อย่างที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมออกมาแถลง แต่หากมองในมุมของสิทธิมนุษยชนแล้ว สิทธิในการรับรู้ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นแล้วการไม่แจ้งข้อมูลแก่ญาติผู้เสียชีวิต แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน “ปัจจุบันหลักของสิทธิมนุษยชนมันขยายมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก่อนแค่ไม่ไปทำร้ายร่างกายใครก็ถือว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วคุณต้องให้ข้อมูล ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ เหล่านี้ก็คือการที่กรอบของสังคมกับกรอบของกระบวนการมันไม่ไปด้วยกัน” คุณหมอกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ขับเคลื่อนไปด้วยโซเชียลมิเดียแล้ว อุปกรณ์ที่ช่วยให้เข้าถึงสังคมออนไลน์เหล่านี้ยิ่งช่วยให้ข้อมูลถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วและกลายเป็นกระแสได้มากยิ่งขึ้น “เอาใจเขามาใส่ใจเราครับ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ก็ตาม”
เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการชันสูตร
เทคโนโลยีภาพสามมิติเข้ามามีส่วนช่วยให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคมากขึ้น ในกระบวนการผ่าศพเองก็เช่นกัน ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพิ่งจะรับเอาเทคโนโลยีซีทีสแกนมาช่วยในการวินิจฉัยเพื่อเอื้อให้กระบวนการผ่าศพมีประสิทธิภาพมาขึ้น ซีทีสแกนคือการตรวจอวัยวะภายในด้วยการใช้ลำแสงเอ็กซ์ ภาพที่ปรากฏออกมาจะเป็นภาพสามมิติ แสดงความลึกซึ่งช่วยให้ข้อมูลกับแพทย์มากกว่าการสแกนด้วยการเอ็กซเรย์ที่จะได้เพียงภาพสองมิติ ในกระบวนการชันสูตรศพ ด้วยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถทราบได้ว่าศพดังกล่าวมีร่องรอยกระดูกหักตรงไหน เลือดออกในช่องท้องส่วนใด หรือมีอวัยวะใดที่ผิดปกติ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวมเพื่อนำไปวางแผนสำหรับการผ่าชันสูตร หรืออาจจะนำซีทีสแกนไปใช้กับศพที่มีข้อจำกัดในกระบวนการผ่าเช่น ศพจมน้ำ ศพเด็ก หรือศพเน่า เป็นต้น
นอกจากนั้นในปัจจุบันหลายประเทศเองก็นำเทคโนโลยีกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscope) มาใช้กับกระบวนการผ่าศพมากขึ้น ปกติแล้ว เทคโนโลยีนี้นิยมใช้กับการผ่าตัดในส่วนลึกที่ยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่า เช่นเส้นประสาท กล้องเอ็นโดสโคปซึ่งมีเลนส์ติดอยู่ที่ปลายของเครื่องมือจะช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้แม่นยำมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็เสียเลือดในการผ่าตัดน้อย มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อต่ำ และเกิดรอยแผลเพียงขนาดเล็กๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของศพผู้ที่นับถืออิสลาม ที่มีความเชื่อกันว่าการผ่าศพเป็นการทำลายศพ คุณหมอสุรณรงค์สมมุติสถานการณ์ว่าศพดังกล่าวถูกยิงเสียชีวิต เทคโนโลยีนี้ช่วยให้แพทย์สามารถได้ข้อมูล ด้วยการใช้กล้องเอ็นโดสโคปล้วงเอากระสุนปืนออกมาจากร่างเพื่อหาตัวฆาตกร ในขณะเดียวกันฝ่ายญาติเองก็สบายใจมากขึ้น เพราะรอยแผลจากการผ่าเหลือเพียงรอยเล็กๆ
นอกเหนือจากการผ่าศพแล้ว ในประบวนการนิติวิทยาศาสตร์เอง การตรวจหาดีเอ็นเอ รอยพิมพ์นิ้วมือ ฯลฯ ก็มีเทคโนยีใหม่ๆ มากมายที่เข้ามามีบทบาทช่วยไขปริศนามากยิ่งขึ้น แต่สุดท้ายแล้วคุณหมอสุรณรงค์ย้ำว่า กระบวนการผ่าศพยังคงเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีเหล่านี้มีส่วนช่วยในการวินิจฉัยเท่านั้นไม่อาจทดแทนได้
ขอบคุณข้อมูลจาก
แพทย์หญิงปาริชาติ ภิญโญศรี
นายแพทย์สุรณรงค์ ศรีสุวรรณ
บทเรียนด้านนิติเวชศาสตร์ สถาบันนิติเวชวิทยา
Autopsy by Dr. Dinesh Rao
How Is An Autopsy Performed? by BrainStruff
หนังสือ Stiff เรื่องลับที่ไม่รู้ของศพ
หนังสือ Body The complete Human
และเพจเนติบัณฑิตไทย
อ่านเพิ่มเติม : ยินดีต้อนรับสู่ฟาร์มศพ, ฤาความตายหาใช่การลาจาก