NASA จับมือ GISTDA ศึกษาคุณภาพอากาศในไทย

NASA GISTDA ร่วมศึกษาคุณภาพอากาศในไทยร่วมกัน ถือเป็นการนำเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการและลดมลพิษทางอากาศ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมมือกับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) ได้ร่วมกันศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย

โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) คือ โครงการที่ริเริ่มโดย NASA เรื่องของวิทยาศาสตร์และงานวิจัยที่ต้องการศึกษามลภาวะ คุณภาพอากาศ และในเรื่องปัญหาที่แก้ไม่ได้คือ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบจนมีประชากรเสียชีวิตทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ ASIA – AQ เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงปัจจัยที่ควบคุมคุณภาพทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ ของเอเชีย ผ่านการสังเกตและการสร้างแบบจำลองโดยการใช้แนวคิดที่หลากหลาย โดยจะมีแนวทางในการใช้เก็บตัวอย่างอนุภาคในอวกาศจากหลากหลายพื้นที่

ความร่วมมือระหว่าง NASA และ GISTDA เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เป็นความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศที่สะท้อนถึงความสำเร็จ จากความทุ่มเทที่ต้องการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาตร์ในการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกวันนี้มลพิษทางอากาศนับว่ามีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

การบินสำรวจสภาพอากาศในประเทศไทย

โครงการ ASIA-AQ มีการขึ้นบินสำรวจเป็นเวลา 10 วัน โดยจะบิน 2 รอบต่อวัน เที่ยวบินละ 8 ชั่วโมง ตั้งแต่ 16-25 มีนาคม 2567 ในวันดังกล่าวประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณที่เครื่องบินผ่าน อย่างกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ สามารถมองเห็นและได้ยินขณะที่เครื่องบินดำเนินการการเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศ พฤติกรรมฝุ่น พฤติกรรมของประชากรในประเทศ และมีเครื่องบินบินสำรวจด้วยกันอยู่ 2 ลำ คือ NASA DC-8 ขึ้นชื่อว่าเป็นห้องปฏิบัติการลอยฟ้า จะทำหน้าที่บินสำหรับวิเคราะห์คุณภาพอากาศอย่างละเอียดเหนือพื้นผิวและวัดองค์ประกอบทางเคมีโดยละเอียดของบรรยากาศชั้นล่าง NASA GIII ตรวจจับระยะไกลของคุณภาพอากาศ นอกจากนี้โครงการ ASIA – AQ เป็นภารกิจท้าย ๆ ของเครื่องบิน NASA DC-8 ที่ถูกผลิตมาตั้งแต่ปี 1969 ปัจจุบันมีเครื่องบินแบบนี้อยู่ 2-3 ลำทั่วโลก

มีการสังเกตจากหลายมุมมอง โดยใช้ดาวเทียม Geostationary Environment Monitoring Spectrometer (Gems)  ในการสังเกต วิจัยปฐมภูมิและทุติยภูมิกับประเทศอื่น ๆ ดาวเทียม Gems เครื่องวัดแบบวงจรค้างฟ้า วัดผลได้ตามพิกัด ละอองฝุ่น และสามารถยังใช้เครื่องมือจาก Gems ในการดูชั้นบรรยากาศ ดวงจันทร์ ดูดาวดวงอื่น ๆ การเจาะทะลุชั้นบรรยากาศ และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัย ทั้งนี้ดาวเทียมเหล่านี้มีการเก็บข้อมูล 1 ครั้ง ต่อ 1 วัน เพื่อศึกษาข้อมูลสภาพพื้นดินและอวกาศ ข้อมูลจากดาวเทียมนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลหรือคำตอบเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศได้ทั้งหมดจึงมีการนำเครื่องบินมาขึ้นบินเพื่อสำรวจคุณภาพอากาศ

PM 2.5 กับปัญหาที่ตามมา

PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งมี 3-4 ปีที่ผ่าน ได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ขึ้นอยู่แต่ละสภาพอากาศ และฤดูกาล ในตอนนี้ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการประสบปัญหานี้ ปัญหาของมลพิษไม่ได้อยู่แค่ที่จุดกำเนิด สามารถเดินทางเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ ทำให้ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่ได้ประสบปัญหาอยู่ ณ ตอนนี้

เมื่อจบภารกิจจะมีการนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาและทำการวิจัย และจะมีการนำมาเปิดเผย เพื่อวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ดำเนินงานวิจัย หลังจากทำการวิจัยเสร็จสิ้นจะมีการตีพิมพ์ เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบถึงข้อมูล ปัญหาของมลภาวะ และแนวทางการแก้ไข โดยผ่าน NASA

ภายใต้โครงการ ASIA – AQ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นโดยทาง NASA ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ GISTDA เช่น การอบรมเชิงปฏิบัติด้านอวกาศและดาวเทียมให้กับนิสิต นักศึกษา  กิจกรรมการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากนักบินและนักวิทยาศาสตร์ NASA กับนักวิทยาศาสตร์ไทย และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยกิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาและปัจจัยที่ควบคุมคุณภาพอากาศ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารโครงการ ASIA – AQ และกิจกรรมอื่น ๆ ได้ที่ Facebook: GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน)

เรียบเรียง กัญญารัตน์ นามแย้ม

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

รูป สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

อ่านเพิ่มเติม : ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาไร้กรอบ กับความเข้าใจระบบนิเวศในไทยผ่านปลาน้ำจืด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.