ทุกคนบนโลกรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์นั้นทราบดีอยู่แล้วเกี่ยวกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรของฮอร์โมนของผู้หญิงในแต่ละเดือน แต่ทราบหรือไม่ว่าผู้ชายก็มีช่วงเวลาที่คล้ายกัน เพียงแค่ว่าไม่ได้รับการสนใจมากเท่าที่ควร
.
จริง ๆ ฮอร์โมนของผู้ชายนั้นเปลี่ยนแปลงไปใน ‘ทุก ๆ วัน’ โดยระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone, ฮอร์โมนเพศชาย) จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเช้า ลดลงในตอนเย็น และต่ำที่สุดในตอนกลางคืน นักวิทยาศาสตร์บางคนระบุว่าความผันผวนของฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้ ผู้ชายมีอาการคล้ายกับพฤติกรรมก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิง
.
ดร. วินนิเฟรด คัทเลอร์ (Dr. Winnifred Cutler) นักจิตวิทยาและนักชีววิทยา ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับฮอร์โมนเช่น ‘Love Cycle : The Science of Intimacy’ และ ‘, Hormones and Your Health: The Smart Woman’s Guide to Hormonal and Alternative Therapies for Menopause’ ได้กล่าวไว้ว่า “ตอนนี้เป็นที่ทราบกันแล้วว่าผู้ชายมีการแสดงจังหวะของฮอร์โมน” พร้อมเสริมว่า “เป็นจังหวะที่ฉันเรียกว่าซิมโฟนีของฮอร์โมนผู้ชาย”
.
รายงานการศึกษาระบุว่าการแกว่งของฮอร์โมนนั้นอาจกินเวลาได้ตั้งแต่เพียงแค่ไม่กี่นาที หนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หนึ่งฤดูกาล หนึ่งปี หรือทั้งตลอดชีวิด ด้วยเหตุผลนี้ทำให้วัฎจักรของผู้ชายไม่โดดเด่นและคาดเดาไม่ได้มากกว่า จึงไม่ได้รับการวิจัยที่มากพอ
.
แต่โดยปกติแล้วเทสโทสเตอโรนของผู้ชายจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ชั่วโมงเมื่อเราเริ่มนอนหลับ และสูงที่สุดในตอนตื่น (เป็นเหตุให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศในตอนเช้า) จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
.
ในการศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย พบว่าฮอร์โมนเพศชายส่วนใหญ่จะมีการหมุนเวียนตลอดทั้งปี หรือก็คือมีช่วงที่ระดับเฉลี่ยของฮอร์โมนอยู่ในปริมาณสูงคือช่วงเดือนตุลาคม และมีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนเมษายน
.
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังลดลงไปตามอายุและกระตุ้นให้เกิด ‘อาการหมดประจำเดือนของผู้ชาย’ ได้อีกด้วย พวกเขาเรียกมันว่า ‘แอนโดรพอส (Andropause)’ ซึ่งระดับเทสโทสเตอโรนจะเริ่มลดลงตั้งแต่อายุ 30 ปี
.
“เมื่อพูดถึง ‘แอนโดรพอส’ ซึ่งปรากฏในการวิจัย อาการมักจะเป็นความเหนื่อยล้า ความใคร่ต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในช่วงชายวัยกลางคนเนื่องจากมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ” ดร. เจเน็ท บริโต นักบำบัดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์กล่าว
.
โดยทั่วไปหากผู้ชายมีระดับฮอร์โมนที่ต่ำจะส่งผลต่ออารมณ์เช่นเดียวที่เกิดกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นความไม่มั่นคงทางอารมณ์ ความหงุดหงิด เหนื่อยง่าย ภาวะซึมเศร้า ความนับถือตัวเองต่ำ หรือแม้แต่ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
.
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนของผู้ชาย เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของอาหารหรือน้ำหนัก การเจ็บป่วย อาการนอนไม่หลับ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรบกวนชีวิตของคุณ ดังนั้นให้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์และหาวิธีจัดการกับอาการต่าง ๆ รวมถึงหาสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม วัฎจักรฮอร์โมนของผู้ชายควรได้รับการวิจัยและสนใจอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้น
.
“ให้พบแพทย์หากรู้สึกว่ามีอาการที่รบกวนคุณ พบนักบำบัดทางเพศสัมพันธ์หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการฟื้นฟูชีวิตในด้านนี้ หรือพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหากคุณกำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล” ดร.บริโตกล่าว
.
ควรระลึกไว้เสมอว่าวัฏจักรของฮอร์โมนในแต่ละวันของผู้ชายนั้นมีบทบาทสำคัญในอารมณ์ พลังงาน รวมไปถึงความใคร่ของเขา การรู้และยอมรับวัฏจักรของฮอร์โมนอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรู้จักตัวเองและรู้สึกถึงความหมายของการเป็นผู้ชาย
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Milan Popovic on Unsplash
ที่มา
https://www.popsci.com/do-men-have-hormonal-cycles
https://www.healthline.com/health/do-men-have-periods
https://www.apa.org/monitor/2011/03/hormones
https://www.goodtherapy.org/blog/male-hormonal-cycles-andropause-1009127