“ภูเขาไฟดาวอังคาร ” แห่ง “ดาวอังคาร” ฐานยาวเท่า กรุงเทพ – ขอนแก่น”

ภูเขาไฟดาวอังคาร ที่ยาวขนาด 450 กิโลเมตร อาจซ่อนตัวอยู่ในที่โล่งบนดาวอังคาร รายงานที่รอการยืนยัน

ภูเขาไฟดาวอังคาร ขนาดมหึมานี้ครอบคลุมระยะทางจาก กรุงเทพฯ ไปจนถึง ขอนแก่น และสูงยิ่งกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ นี่อาจเป็นสถานที่ที่เป็นไปได้มากที่สุดว่าจะมีซากจุลินทรีย์สมัยโบราณ

ไม่ใช่ทุกวันที่เราจะได้ค้นพบภูเขาไฟขนาดใหญ่มากลูกใหม่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น แต่นั่นคือสิ่งที่นักวิจัยคู่หนึ่งกล่าวว่าพวกเขากำลังทำอยู่ 

ด้วยความสูงเกือบ 9,144 เมตร (30,000 ฟุต) ทำให้มันสูงกว่าเอเวอร์เรสต์เล็กน้อย และอาจมีฐานที่ยาวมากถึง 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) ซึ่งยาวเท่ากับระยะทางจากกรุงเทพมหานคร ไปถึง จ. ขอนแก่น (ประมาณ 449 กิโลเมตร) ทำให้มันมีขนาดมหึมาอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกับภูเขาไฟอื่น ๆ บนดาวอังคาร ภูเขาลูกใหม่ที่ค้นพบนี้ไม่มีสัญญาณใด ๆ บ่งบอกว่ามันยังมีพลังอยู่ อีกทั้งยังเป็นไปได้ว่ามันอาจจะเก่าแก่มาก ซึ่งน่าจะอยู่ในประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของหน้าประวัติศาสตร์หลายพันล้านปีของดาวเคราะห์แดงดวงนี้

“เราทั้งคู่ไม่เชื่อว่านี่คือภูเขาไฟขนาดยักษ์จริง ๆ และดูเหมือนจะไม่มีใครรายงานเรื่องนี้มาก่อน” ปาสคาล ลี (Pascal Lee) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากสถาบันเซติ (SETI: Search for extraterrestrial intelligence) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบ กล่าว “ผมพูดตรง ๆ ได้เลยว่าเราตื่นเต้นมากๆ ”

ลี และเพื่อนร่วมงานได้นำเสนอข้อค้นพบนี้ในการประชุมวิทยาศาสตร์ด้านดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ในเมืองเดอะวูดแลนด์ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พวกเขาระบุว่าเขาภูเขาไฟลูกนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า ‘Notics’ ซึ่งเป็นชื่อมาจากเขาวงกตที่กว้างใหญ่ 

มันเป็นที่อยู่ของถ้ำและอุโมงค์จำนวนมากซึ่งเคยถูกน้ำกัดเซาะ และเรียกกันว่า ‘Noctis Labyrinthus’ แปลได้ว่า ‘เขาวงกตแห่งราตรี’ สถาปัตยกรรมทางธรรมชาติเหล่านี้เคยถูกกัดกร่อนอย่างหนักจากกระแสน้ำ และการเคลื่อนที่ของน้ำแข็ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อ้างว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ ‘Notics’ ถูกมองข้ามมาจนถึงปัจจุบัน

อดีตที่น่าสนใจของดาวอังคาร

ทว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องกันว่ามีการค้นพบภูเขาไฟขนาดมหึมาอย่างแท้จริง รายงานนี้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ผู้ที่ได้เห็นการนำเสนอในที่ประชุมต่างก็รู้สึกทึ่ง ทว่าพวกเขาก็ยังไม่เชื่อ 

“นักวิจัยได้สร้างกรณีที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้น่าเชื่อถือทั้งหมด” โรซาลี โลเปส (Rosaly Lopes) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากห้องปฏิบัติการขับเคลื่อนด้วยไอพ่นของ นาซา (NASA) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัย กล่าว “พื้นที่ถูกกัดเซาะอย่างมาก จึงเป็นการยากที่จะบอกได้อย่างแน่นอน” แต่เธอกล่าวเสริมว่า “ฉันคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่ยังคงคิดว่ามันเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษาเพิ่มเติม” 

สำหรับดาวอังคารนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นโลกที่ยังคุกรุ่นของภูเขาไฟ โดยมีการระเบิดและการปะทุมากมายมหาศาล อีกทั้งยังมีการก่อเกิดภูเขาไฟยักษ์บางลูกรวมถึง ‘โอลิมปัสเมาส์’ (Olympus Mons) ที่โด่งดัง ซึ่งสูงกกว่าเอเวอร์เรสต์ถึง 3 เท่า และหนักมากจนถึงกับจมลงไปในเนื้อดาวเล็กน้อย

แม้ว่าจะมีสัญญาณที่น่าสนใจที่บอกว่าอาจเกิดการปะทุขึ้นมาได้ในโลกอนาคต แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็สงสัยว่าดาวเพื่อนบ้านของโลกนี้ ได้ผ่านพ้นยุครุ่งเรืองของการปะทุไปแล้ว และแม้ว่านักวิจัยตาดีจะพบกับกลุ่มภูเขาไฟขนาดเล็กเป็นครั้งคราว แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นของสิ่งที่ใหญ่กว่าซึ่งถูกระบุไปแล้ว

ดาวอังคารนั้นมีชั้นบรรยากาศที่โปร่งใส (เบาบาง) เป็นหลัก และนอกเหนือจากพายุฝุ่นแปลก ๆ ทั่วดาวแล้ว พื้นผิวของมันก็ยังถูกสำรวจอย่างต่อเนื่องโดยยานอวกาศที่โคจรอยู่รอบ ๆ ตั้งแต่ปี 1971 ของยาน ‘มาริเนอร์ 9’ (Mariner 9) ของนาซา ดังนั้นเมื่อ ลี และ ชูวราบบ์ ชับแฮม (Sourabh Shubham) เพื่อนร่วมทีมจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ บอกว่าได้ค้นพบภูเขาไฟลูกใหญ่ มันจึงเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

ตามหาภูเขาไฟโบราณ

ด้วยการใช้ชุดแผนที่ภารกิจวงโคจรที่สร้างขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขามุ่งเน้นไปที่แหล่งสะสมซึ่งเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟที่ถูกกัดเซาะโดยซากของธารน้ำแข็ง เมื่อสงสัยว่าวัสดุภูเขาไฟนี้ปะทุมาจากที่ใด ทีมงานจึงมองดูใกล ๆ ไปทางทิศตะวันออกของ ‘เขาวงกตแห่งราตรี’ และ “เราเห็นบางสิ่งที่น่าทึ่ง” ลีกล่าว

รูปร่างของสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นภูเขาไฟที่ถูกกัดเซาะ มันมียอดคล้ายหม้อต้มขนาดใหญ่ หลุมที่ยอดเขาพังทลายลงบางส่วน และประดับประดาด้วยลาวาเก่า ถูกห่มด้วยเถ้าภูเขาไฟและแผ่นแร่ที่ปรุงโดยน้ำร้อน เมื่อพิจารณาจากขอบเขตการกัดเซาะ การแบ่งชั้นของวัตถุที่ปะทุขึ้น และเปรียบเทียบการแตกหักของ ‘เขาวงกตแห่งราตรี’ 

ทีมวิจัยเชื่อว่าภูเขาไฟนี้ก่อตัวขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 3.7 พันล้านปีก่อน จากนั้นก็ฟูฟ่องออกมาและปะทุขึ้นเมื่อ 10 ล้านปีที่แล้ว

“เรากำลังดูภูเขาไฟ ซึ่งมีกิจรรมครอบคุลมประวัติศาสตร์ทางธรณีวิทยาของดาวอังคารส่วนใหญ่” ลี กล่าว และการมีอยู่ของแหล่งความร้อนที่ยาวนานในพื้นที่ที่ทราบกันดีว่ามีธารน้ำแข็งอยู่ ก็หมายความว่านี่อาจเป็นพื้นที่ที่น่าตื่นเต้นสำหรับรถสำรวจโรเวอร์ในอนาคต ซึ่งมันอาจเป็นสถานที่ที่เคยเป็นสระน้ำอุ่น ๆ ที่นักสำรวจหุ่นยนต์ของเราอาจพบสัญญาณของอดีตจุลินทรีย์ที่มีชีวิต

แม้ว่าลีจะมั่นใจ แต่คนอื่น ๆ กลับไม่มั่นใจ เนื่องจากลักษณะที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งสะสมของการปะทุ หรือธรณีสัณฐานของภูเขาไฟนั้น ดูไม่เหมือนภูเขาไฟที่ชัดเจนเท่าไหร่ และยังไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านี้มีความต่อเนื่องกันหรือไม่

“นี่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ฉันเชื่อว่านี่คือภูเขาไฟ” เทรซี เกร็กก์ นักภูเขาไฟวิทยาดาวเคราะห์ แห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล กล่าว “ปล่องภูเขาไฟที่ถูกเติมเต็มและกัดเซาะ นั้นอาจแสดงถึงความคล้ายคลึงกันก็จริง” 

แม้ว่าความเป็นไปได้ของภูเขาไฟขนาดยักษ์ที่ถูกมองข้ามบนดาวอังคารจะเย้ายวนใจ แต่ก็จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่านี่เป็นการค้นพบใหม่ที่ระเบิดได้จริงหรือไม่

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/science/article/giant-mars-volcano-noctis


อ่านเพิ่มเติม น้ำบนดาวอังคาร มีหวัง หลังพบ “น้ำแข็งมหาศาล” – เป็น “มหาสมุทร” ได้!

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.