“ เพลงเศร้า ” ทำให้เรา “รู้สึกดี” – เพลงใดไร้อารมณ์ เราก็เพลิดเพลินน้อยลง

“ เพลงเศร้า ” ทำให้เรา “รู้สึกดี” – เพลงใดไร้ซึ่งอารมณ์ เราก็เพลิดเพลินน้อยลง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สงสัยมาตลอดว่าทำไมเพลงฮิตติดชาร์ตส่วนใหญ่ “มักเป็น เพลงเศร้า ” ที่มีเนื้อหาพูดถึงอาการอกหัก สถานการณ์ของการเลิกรา การรำลึกถึงอดีตที่จบไปแล้ว หรือความรู้สึกผิดที่ได้ทำบางอย่างที่เสียหาย 

คำบรรยายถึงอารมณ์เชิงลบในบทเพลงเหล่านี้ได้สร้างความรู้สึกเศร้าใจให้กับหลายคน แต่ผู้ฟังเหล่านั้นก็รายงานว่า พวกเขารู้สึกมีความสุขและเพลิดเพลินไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ยินแล้วต่างก็รู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจว่า ‘มันเป็นไปได้อย่างไรกัน’ 

แต่งานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าความรู้สึกของผู้ฟังนั้นเป็นจริง

“การคิดว่าคุณสามารถเพลิดเพลินไปกับบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกมีอารมณ์เชิงลบนั้นมันขัดแย้งกัน” ศาสตราจารย์ เอเมรี ชูเบิร์ต (Emery Schubert) จากห้องปฏิบัติการดนตรีวิทยาเชิงประจักษ์ ของวิทยาดนตรีและศิลปะ ของมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม กล่าว 

“แต่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ประการแรกที่ว่า ความเศร้าสามารถส่งผลเชิงบวกต่อความเพลิดเพลินในการฟังเพลงได้โดยตรง” เขาเสริม

ในการศึกษาครั้งนี้ ทีมวิจัยได้ทำการทดลองกับผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาดนตรีระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย โดยให้เลือกเพลงที่ทำให้พวกเขารู้สึกเศร้าด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็น เพลงคลาสสิกของบีโธเฟน ไปจนถึงเพลงฮิตสมัยใหม่อย่างของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ 

จากนั้น ผู้เข้าร่วมจะถูกขอให้จินตนาการว่าความเศร้าของพวกเขาสามารถ ‘ลบล้าง’ ออกไปได้หรือไม่เมื่อฟังเพลง ซึ่งคนส่วนใหญ่ระบุว่าพวกเขาสามารถทำได้ (ฟังเพลงโดยที่ไม่รู้สึกเศร้าหรือมีคำบรรยายถึงความเศร้า) 

หลังจากจินตนาการว่าได้ขจัดความเศร้าออกไปแล้ว ผู้เข้าร่วมจะถูกถามต่อว่าพวกเขาชอบดนตรีในเพลงที่ฟังแตกต่างออกไปหรือไม่ กว่าร้อยละ 82 ระบุว่าการขจัดความเศร้าออกไปทำให้มีความเพลิดเพลินในการฟังเพลงน้อยลงชัดเจน 

“ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อฟังเพลงนั้นอาจเป็นที่ชื่นชอบและสามารถเพิ่มความสุขในการฟังได้” ศาสตราจารย์ ชูเบิร์ต กล่าว และเสริมว่าอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการที่ทำให้ผุ้คนเพลิดเพลินกับดนตรีและบทเพลงที่ทำให้พวกเขาเศร้า 

“คำอธิบายประการหนึ่งคือ การได้สัมผัสกับอารมณ์ที่หลากหลายในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยไม่มากก็น้อย สามารถช่วยให้เราเรียนรู้วิธีจัดการกับสิ่งที่เราเผชิญในโลกนี้” ศาสตราจารย์ ชูเบิร์ต กล่าว  

หรือกล่าวอีกนัยว่า การฟังเพลงถือเป็น ‘การเล่น’ อย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์หลากหลายในเพลงเดียวจากทั้งดนตรีและเนื้อเพลง ความหมายของบทเพลงเหล่านี้ช่วยให้เรารับมือกับความเศร้าที่เกิดขึ้นจริงได้ สมองของเราจึงตั้งใจและสนใจในบทเพลงนั้น 

งานวิจัยยังกล่าวถึงผลกระทบที่มาจากผลการวิจัยก่อนหน้านี้ ซึ่งเสนอเอาไว้ว่า จริง ๆ แล้วความเศร้าไม่ได้ทำให้เราเพลิดเพลินเมื่อฟังเพลง แต่เป็นความรู้สึกซับซ้อนด้านบวกที่เรียกกันว่า “ความรู้สึกประทับใจ” โดยศาสตราจารย์ชูเบิร์ตให้ความเห็นไว้ว่าเป็นไปได้ที่ผู้ชื่นชอบความรู้สึกประทับใจ หรือสะเทือนในบทเพลง ซึ่งไม่ใช่ความเศร้าโดยตรง

“อีกนัยหนึ่ง ความสะเทือนใจทำให้เกิดความเศร้า และความเศร้าก็กระตุ้นให้เกิดความสะเทือนใจ” ศาสตราจารย์ ชูเบิร์ต อธิบาย 

อย่างไรก็ตาม ทีมงานได้ระบุข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ไว้ว่าอยู่ที่ การอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมเลือกเพลงด้วยตัวเอง ซึ่งอาจทำให้กลุ่มตัวอย่างรู้ถึงจุดประสงค์ของการศึกษานี้ และทำให้เกิดอคติตามมา พวกเขาหวังว่างานวิจัยในอนาคตจะมีความรัดกุมมากขึ้น เพื่อได้ผลลัพธ์ที่เจาะจงกว่าเดิม

“ข้อจำกัดหลักของการศึกษานี้คือ ผู้ทดลองเลือกเพลง ‘เศร้า’ มากกว่า ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมอาจไม่จำเป็นต้อง ‘รัก’ เพลงเหล่านั้น” ศาสตราจารย์ ชูเบิร์ต กล่าว “ดังนั้นการวิจัยในอนาคตควรมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะชอบผลงานดนตรีชิ้นนั้นจริง ๆ

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0299115

https://www.unsw.edu.au/newsroom/news/2024/04/some-of-our-favourite-songs-make-us-sad-and-that-could-be-why-we-like-them

https://www.newscientist.com/article/2426284-some-of-our-favourite-songs-make-us-sad-which-may-be-why-we-like-them/


อ่านเพิ่มเติม การฟังเพลงขณะอ่านหนังสือ ส่งผลดีจริงหรือ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.