โลกมหัศจรรย์ของ เห็ดรา – โลกและเรา อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีมัน

เห็ดรา พวกมันอยู่ในตัวเรา บนตัวเรา และรอบตัวเรา ถึงเวลาทำความรู้จักและใช้ประโยชน์จากเพื่อนบ้านเห็ดราผู้น่าทึ่งของเราแล้ว

พืชพรรณ ส่ำสัตว์ เห็ดรา

เหตุผลในการยกสถานะให้เห็ดรามีอาณาจักรเป็นของตนเองในโลกธรรมชาตินั้นง่ายมาก หากไม่มีพวกมัน ชีวิตส่วนใหญ่อย่างที่เรารู้จักบนดาวเคราะห์ดวงนี้ เริ่มจากความสามารถของพืชที่จะเติบโตบนดิน ไม่อาจเกิดขึ้นได้

เวลาผ่านมาอย่างน้อย 400 ล้านปีแล้วนับจากราไมคอร์ไรซาช่วยให้พืชยึดครองผืนดินบนโลก เนื่องจาก การแลกเปลี่ยนค่อนข้างพื้นฐานระหว่างกัน กล่าวคือเห็ดรามีแนวโน้มจะสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพากันกับพืช กับสัตว์ต่างๆ และเคลื่อนที่ด้วยการกินและขยายตัวออกไป

MACROLEPIOTA PROCERA แม้จะมีรสชาติเป็นเลิศ การเก็บเห็ดร่มซึ่งในภาพนี้ขึ้นอยู่กลางดงสนยามพลบค่ำจัดว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากอาจสับสนกับเห็ดพิษที่มีรูปร่างคล้ายกันอย่างเห็ดระโงกหินได้
HERICIUM CLATHROIDES เห็ดที่มีชื่อเล่นเหมาะเจาะว่าหนามปะการังนี้งอกยาวลงมาจากต้นไม้บนคาบสมุทรฮัลกิดีกีในกรีซ
CALOSCYPHA FULGENS เห็ดสีออกส้มๆ ที่พบบนภูเขาโอลิมปัสของกรีซเหล่านี้เป็นราก่อโรคโดยเฉพาะในเมล็ดสนโคนิเฟอร์ Fulgens เป็นคำภาษาลาติน แปลว่า “แพรวพราว”

สำหรับพืชส่วนใหญ่ในปัจจุบัน นั่นหมายถึงการยอมให้เห็ดราอาศัยอยู่ในระบบรากของมัน เผาผลาญน้ำตาลที่ได้จากการสังเคราะห์แสง แลกกับการช่วยให้ต้นไม้เข้าถึงน้ำและสารอาหารสำคัญต่างๆ จากยีสต์ รา ไปถึงเห็ด ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ในกลุ่มเห็ดราไม่ใช่แค่น่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังกว้างไกลกว่าความหลากหลายที่พบในหมู่พืชและสัตว์มีกระดูกสันหลังมาก

เห็ดรามีอยู่ราวห้าล้านชนิด แต่ประมาณร้อยละ 90 ยังไม่มีการศึกษาและบันทึกไว้ เห็ดราอยู่ในอากาศรอบตัวเรา ในน้ำ และกระทั่งบนผิวหนังของเราและภายในตัวเรา กระนั้น นักวิจัยเพิ่งเข้าใจเพียงผิวเผินเท่านั้นว่า ทำไมพวกมันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ระบบนิเวศต่างๆ เกิด ความสมดุล

LACCARIA AMETHYSTINA หมวกสีม่วงเรืองๆ ของเห็ดพิษแสนสวยนี้เกิดจากการดูดซับและสะสมสารหนูปริมาณมากจากดิน
OUDEMANSIELLA MUCIDA เห็ดกระเบื้องเช่นเห็ดที่ยืดตัว “ตระหง่าน” จากต้นบีชบนภูเขาโอลิมปัสเหล่านี้ มีความสูงระหว่าง 2.5 ถึงแปดเซนติเมตร
PLUTEUS CERVINUS สปอร์ของเห็ดกวางบนเขาโอลิมปัสหลุดลอยเป็นอิสระตามวงจรการเจริญเติบโตเพื่อให้กำเนิดเห็ดรุ่นต่อไป

“เห็ดราทำให้เราเห็นว่า ชีวิตก่อเกิดได้แม้กระทั่งในยามที่อีกชีวิตหนึ่งสิ้นสุดลงค่ะ” จูเลียนา ฟูร์ชี นักวิทยาเห็ดราจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พูดถึงบทบาทสำคัญยิ่งของพวกมันในวัฏจักรชีวิตบนโลก ในฐานะผู้ก่อตั้งมูลนิธิเห็ดรา เธอใช้เวลา 14 ปีที่ผ่านมาเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้รวมเห็ดราไว้ในนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับฟูร์ชี ชั่วขณะตื่นรู้ของเธอเกิดขึ้นระหว่างออกทริปวิจัยสมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในชิลี เมื่อเธอ เจอเห็ดสีส้มที่สวยสะดุดตา และหลังจากค้นคว้าเพิ่มเติม ก็ตระหนักว่า ชิลีไม่เพียงไม่มีคู่มือเห็ดภาคสนามเท่านั้น แต่ยังไม่มีโครงการใดๆ เกี่ยวกับวิทยาเห็ดราอยู่เลย เธอปฏิญาณว่าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้น และบันทึกเห็ดราพื้นถิ่นของชิลีมานับตั้งแต่นั้น

PSILOCYBE CYANESCENS ภาพที่บันทึกในสตูดิโอของหมวกเห็ดที่พันเกี่ยวกันไปมานี้ คือเห็ดเมา หรือเห็ดขี้ควายชนิดหนึ่งที่พบริมชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ (ภาพถ่าย: ฟิลลิส หม่า)
CANDIDA ALBICANS ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนนี้คือ C. albicans ที่พบในลำไส้มนุษย์ หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือจากชีวนิเวศของเห็ดรา หากมีปริมาณมาก เชื้อราชนิดนี้อาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น ลำไส้แปรปรวน (ภาพถ่าย: มาร์ติน เอิกเกร์ลี)
GANODERMA SESSILE หากไม่ได้เพาะเลี้ยงขึ้นและอยู่ในสตูดิโอเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ ชนิดพันธุ์นี้อาจพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา บนต้นโอ๊ก เมเปิล และบีช (ภาพถ่าย: ฟิลลิส หม่า)

ตอนนี้ นักวิทยาเห็ดราหลายสิบคนกำลังเรียกร้องให้ “ฟังกา” (funga) ซึ่งเป็นคำเรียกใหม่สำหรับประชากรเห็ดรา ในภูมิภาค ได้รับเงินวิจัยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับเดียวกับพืชและสัตว์ ขณะเดียวกัน บุคคลสำคัญด้านเห็ดราอย่างพอล สเตเม็ตส์ ซึ่งออกรายการสารคดีดัง เห็ดราน่าทึ่ง (Fantastic Fungi) เมื่อปี 2019 และเมอร์ลิน เชลเดรก ผู้เขียนหนังสือขายดี ชีวิตที่พันเกี่ยว (Entangled Life) ก็มีวิธีเฉพาะตัวที่จะบอกเล่าคุณประโยชน์และความอัศจรรย์ของโลกซ่อนเร้นนี้

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ดูแลนโยบายระดับนานาชาติจำนวนมากขึ้น เช่น เลขาธิการองค์กรสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเม็กซิโก ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติของไทย และสถาบันวิจัยและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอิตาลี ออกมาผลักดันอย่างเอิกเกริกให้รวมเห็ดราไว้ในความพยายามด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของตน เช่นเดียวกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้รวมฟังกาไว้ในนิยาม “สัตว์ป่า” (wildlife) เพื่อเชื้อเชิญ ผู้สมัครขอรับทุนด้านนี้และเปิดโอกาสให้นักสำรวจในอนาคตมากขึ้น

TOLYPOCLADIUM PARADOXUM เห็ดปรสิตที่พบในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ในภาพที่บันทึกในสตูดิโอนี้ ยึดครองร่างจักจั่นที่เป็นพาหะ (ภาพถ่าย: ฟิลลิส หม่า)
GANODERMA SESSILE เชื้อราก่อโรค G. sessile (ตัวอย่างที่บันทึกภาพได้จากการเพาะเลี้ยง) กินอาหารจากรากของไม้เนื้อแข็งในป่าผลัดใบ (ภาพถ่าย: ฟิลลิส หม่า)

เราจะได้เรียนรู้มากขึ้นว่า ทำไมความพยายามนี้จึงสำคัญยิ่งต่อชีวิตเรา จากชนิดพันธุ์รุกรานที่อาจส่งสัญญาณว่าเราจะรับมือโลกที่อุ่นขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไปจนถึง “ชีวนิเวศเห็ดรา” อันซับซ้อนของเชื้อราในร่างกายซึ่งมอบความเข้าใจใหม่แก่เราว่า โรคร้ายแรงต่างๆ เช่น มะเร็ง แพร่ลามอย่างไร (และเบาะแสบางอย่างในการบำบัดรักษา) ไปจนถึงการควบคุมไมซีเลียม (mycelium) หรือกลุ่มใยรา ในฐานะวัสดุในงานออกแบบแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โลกคือจานเพาะเชื้อใบใหญ่กว่าที่ใครจะคาดคิดถึง

ฟังกาคืออนาคต ตอนนี้ถึงเวลาทำความเข้าใจแล้วว่า มันซ่อนความลับอะไรไว้

เรื่อง  นิก มาร์ติน

ภาพถ่าย อาโกรัสโตส ปาปัตสานิส

แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์

ติดตามสารคดี โลกของเห็ดรา ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2567

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/605937


อ่านเพิ่มเติม อาณาจักรฟังไจ กลุ่มสิ่งมีชีวิตจำพวก เห็ดรา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.