นักบินอวกาศจัดการกับประจำเดือนอย่างไร?

ผ้าอนามัยของ Sally Ride น่าจะเป็นผ้าอนามัยที่เป็นที่ถกเถียงมากที่สุดในโลก ก่อนเธอจะได้เป็นนักบินอวกาศหญิงชาวอเมริกันคนแรก ทีมนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบผ้าอนามัยของเธออย่างละเอียด พวกเขาชั่งน้ำหนักมัน รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญจากนาซ่าดมกลิ่นผ้าอนามัยโดยเฉพาะสำหรับหาวิธีดับกลิ่นของประจำเดือน เพื่อความแน่ใจว่ากลิ่นนี้จะไม่เป็นปัญหาบนยานอวกาศ ด้านวิศวกรก็คำนวณหาระยะเวลาที่เธอจะมีประจำเดือนกี่ครั้งตลอดภารกิจทั้งหมด

ทีมวิศวกรพยายามครุ่นคิดวิธีการแก้ปัญหานี้อย่างรอบคอบ แม้กระทั่งพัฒนาเชือกพิเศษที่ช่วยไม่ให้ผ้าอนามัยลอยไปลอยมา ทั้งหมดทั้งมวลนี้แสดงให้เห็นว่านาซ่าเป็นกังวลมากแค่ไหนเกี่ยวกับการเดินทางสู่อวกาศของผู้หญิง ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาในทางเทคนิคแล้ว การมีประจำเดือนยังส่งผลกระทบต่อตัวนักบินอวกาศเอง หากในสภาวะไร้น้ำหนัก เลือดเสียไม่ไหลออกมาจากมดลูก หรืออาจไหลย้อนกลับเข้าไปข้างใน ดังนั้นแล้วจะเห็นได้ว่าการจัดการกับประจำเดือนในอวกาศนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องยุ่งยาก ต่างจากบนโลก ฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมีข้อเสนอแนะว่า จะดีกว่าไหมหากบรรดานักบินอวกาศหญิงจะไม่ต้องมีประจำเดือนเลยตลอดภารกิจ

(บางครั้งการขับถ่ายในสภาวะไร้น้ำหนักที่ว่ายาก อาจน่าอภิรมย์กว่า การขับถ่ายในอินเดีย)

ณ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเลื่อนประจำเดือนที่เป็นตัวเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับนักบินอวกาศที่ไม่ต้องการมีประจำเดือนในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ด้วยการใช้ยาคุมกำเนิด ข้อมูลจาก Varsha Jain นรีแพทย์จากสถาบัน King’s College London ตัวเธอและทีมงานทำงานร่วมกับนาซ่าและเป็นผู้เสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อแก้ไขปัญหา และบางครั้งนักบินอวกาศหญิงก็เลือกที่จะฝังยาลงไปในร่างกายเลย เพื่อความสะดวก

นักบินอวกาศ Heidemarie M. Stefanyshyn-Piper โบกมือทักทายกล้องระหว่างภารกิจ ภาพถ่ายโดยนาซ่า

ในความเป็นจริง วิธีดังกล่าวไม่ได้ถูกใช้เฉพาะกับนักบินอวกาศหญิงเท่านั้น แต่กับผู้หญิงบนโลกเองก็ใช้เช่นกัน ผลสำรวจรายงานราว 1 ใน 3 ของผู้หญิงต้องการประจำเดือนที่มาอย่างแน่นอนทุกเดือนตามธรรมชาติ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าตนไม่ได้ตั้งครรภ์ Jain กล่าว ดังนั้นพวกเธอจะกินยาคุมกำเนิดและยาหลอกตามกำหนด แต่สำหรับนักบินอวกาศที่ไม่ต้องการมีประจำเดือนก็ให้เว้นสัปดาห์ที่กินยาหลอกไปและกินยาคุมกำเนิดต่อไปอย่างต่อเนื่อง “วิธีการนี้ช่วยให้ร่างกายไม่มีประจำเดือนอย่างสมบูรณ์” Jain กล่าว

อย่างไรก็ตามการรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ใช่ว่าจะไม่เกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย มีความกังวลว่านักบินอวกาศหญิงที่ใช้วิธีดังกล่าวในการเลื่อนประจำเดือนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นลิ่มเลือดในขาและปอดได้ ทัง้นี้ปัจจุบันยังไม่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพอื่นๆ ในผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดสามสัปดาห์ตามที่กำหนดและผู้ที่รับประทานติดๆ กันโดยไม่ใช้ยาหลอก

สำหรับภารกิจบนอวกาศแล้ว วิธีการเลื่อนประจำเดือนเช่นนี้เป็นประโยชน์ในระยะยาว ปกติแล้วในยานอวกาศจะมีระบบกลั่นปัสสาวะของบรรดานักบินออกมาเป็นน้ำได้ แต่สำหรับเลือดประจำเดือนยังไม่มีระบบการรีไซเคิลเช่นนั้น แต่ปัญหาก็คือจำนวนและน้ำหนักของมัน ตัวอย่างเช่น ภารกิจไปกลับยังดาวอังคารซึ่งใช้เวลาสามปี นักบินอวกาศหญิงต้องใช้ยาคุมกำเนิดถึง 1,100 เม็ดเลยทีเดียว ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ชุดอวกาศจะสามารถฝังยาให้นักบินได้เลย? ใครจะรู้ ในเมื่อประจำเดือนยังคงเป็นเรื่องถกเถียงกันต่อไปและเทคโนโลยีเองก็ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ คงต้องรอดูกัน

เรื่อง Erika Engelhaupt


อ่านเพิ่มเติม : ดาวอังคารในภาพถ่ายน่าทึ่งจากโครงการสำรวจอวกาศ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.