ผลวิจัยจากโครงกระดูก พบ “ออฟฟิศซินโดรม” สร้างปัญหาให้คนทำงานตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ

คุณกำลังเป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’ อยู่รึเปล่า? งานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าชาว อียิปต์โบราณ ก็มีปัญหาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน  เพราะดูเหมือนว่าท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ดีจะสร้างปัญหามาตั้งแต่หลายพันปีก่อน ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้ในกระดูกของอาลักษณ์แห่งราชอาณาจักร และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราควรมีท่านั่งทำงานที่ดี

ชาวอียิปต์โบราณนั้นเป็นผู้ที่ชอบบันทึกทุกอย่างตั้งแต่คำสวดมนต์ อธิษฐาน การประกาศ ไปจนถึงภาษี แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจ นั่นคือพวกเขาจดบันทึกอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ ว่า “อาลักษณ์” ซึ่งทำหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ของพวกเขาก็มีความปวดเมื่อยไปจนถึงกระดูกด้วยเช่นกัน

ตามการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Scientific reports ร่องรอยการบาดเจ็บที่เกิดจากทำงานนี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนบนกระดูกของอาลักษณ์ชาวอียิปต์ ผู้ซึ่งทำหน้าที่นั่งจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ โดยถูกฝังไว้เมื่อ 4,000 กว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาวะเท้าแบน (flattened ankles) ที่เกิดจากการนั่งไขว่ห้างนานหลายสิบปี และอาการบาดเจ็บที่กราม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการกัด ‘ปากกาต้นกก’ ที่ใช้เขียน

แม้ว่าอารยธรรมริมแม่น้ำไนล์ของพวกเขาจะอยู่มานานนับพันปี และต้องพึ่งพาความรู้เพื่อจัดการกับระบบราชการอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา แต่นักอียิปต์วิทยาอย่าง เวอโรนิกา ดูลิโควา (Veronika Dulíková) จากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ ในกรุงปราก และผู้ร่วมเขียนรายงานใหม่นี้กล่าวว่ามีเพียง 1% เท่านั้นที่รู้วิธีการอ่านและการเขียน

“คนเหล่านี้เป็นแกนหลักของการบริหารของรัฐ” เธอกล่าวและว่า “คนรู้หนังสือทำงานในหน่วยงานราชการที่สำคัญ… ชาวอียิปต์โบราณเก็บบันทึกทุกสิ่งอย่างระมัดระวัง จากนั้นพวกเขาก็เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ”

งานที่เป็นอันตราย

“ไม่มีใครออกแบบเก้าอี้ที่เหมาะสมสำหรับนักอาลักษณ์ชาวอียิปต์โบราณ เพื่อจะได้ไม่ทำให้กระดูกสันหลังเสียหาย” เปตรา บรูคเนอร์ ฮาเวลโควา (Petra Brukner Havelková) นักมานุษวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเช็ก ในกรุงปราก และเป็นผู้เขียนงานวิจัยหลัก ตั้งข้อสังเกต “ไม่เช่นนั้น พวกเขาก็ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงด้านอาชีพแบบเดียวกันอย่างแน่นอน”

บรูคเนอร์ ฮเวลโควา และเพื่อนร่วมงานของเธอได้ทำการตรวจสอบโครงกระดูกของชายวัยผู้ใหญ่จำนวน 69 คนที่ถูกฝังระหว่าง 2,700 ปีถึง 2,180 ปีก่อนคริสตกาลที่ อาบูซิร์ (Abusir) ซึ่งเป็นกลุ่มพีระมิดและสุสานที่อยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางใต้ไม่กี่กิโลเมตร

พวกเขาระบุว่าซากมัมมี่ 30 ร่างนั้นเป็นของอาลักษณ์มืออาชีพ ซึ่งเป็นบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่องานอ่านและงานเขียนเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานราชการให้กับราชอาณาจักร

จากการวิเคราะห์ อาลักษณ์หลายคนที่ อาบูซิร์ นั้นป่วยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อ ซึ่งเป็นโรคที่ทำลายกระดูกและเส้นเอ็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระดูกไหปลาร้า ไหล่ และนิ้วหัวแม่มือด้านขวา นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเกิดจากการเขียนแทบจะตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีภาวะข้อเท้าแบนที่น่าจะเกิดจากการนั่งไขว่ห้างนานหลายชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นปี

อีกทั้งยังมีร่องรอยของโรคข้อเสื่อมในกระดูสันหลัง โดยเฉพาะบริเวณคอ ซึ่งเป็นผลจากการที่อาลักษณ์นั่งเงยศีรษะไปทางผู้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเขียนตามคำบอก แล้วเขียนมันลงบนกระดาษปาปิรัสที่วางอยู่บนตัก การเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับคนยุคปัจจุบันที่ทำงานอย่างตั้งใจในคอมพิวเตอร์ที่มีจอภาพ และคียบอร์ด

แทะปากและนำทางระบบราชการไปด้วย

คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเชื่อมโยงอียิปต์โบราณเข้ากับอักษรอียิปต์เก่าแก่ที่ประณีต ซึ่งถูกแกะสลักและทาสีบนผนังศาสนสถาน แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยช่างฝีมือเฉพาะทาง ในขณะที่อาลักษณ์จะมีความเชี่ยวชาญในการใช้อักษณอียิปต์แบบ ‘ตัวเขียน’ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของอักษรอียิปต์โบราณที่มองเห็นบนกำแพง

ฮานา นาฟราติโลวา (Hana Navratilova) นักอียิปต์วิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านอาลักษณ์อียิปต์โบราณที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาล่าสุด ได้อธิบายไว้ว่าลำดับขั้นของอาลักษณืนั้นถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว และถูกใช้ต่อมาเกือบ 3,000 ปี

อาลักษณ์อียิปต์โบราณนั้นมีโครงสร้างทางสังคมคล้ายกับทหาร: เหนือกว่าช่างฝีมือ พ่อค้า และประชาชนทั่วไป แต่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชาของนักบวชและขุนนาง พวกเขาจะเป็นผู้ชายเสมอและลูกชายก็มักจะติดตามพ่อของเขาเข้าสู่อาชีพนี้เดียวกัน

ภาพวาดโบราณของอาลักษณ์ชาวอียิปต์หลายภาพแสดงให้เห็นว่าพวกเขานั่งขัดสมาธิบนพื้นหรือไม่ก็คุกเข่าแทน ขณะที่งานแกะสลักและภาพวาดเอก็ยังแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีการยืนทำงานด้วยในขณะที่กำลังนับพืชผลในทุ่งนา หรือตรวจดูยุ้งฉางอยู่

“คนเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้นั่งอยู่ในออฟฟิศจริง ๆ” นาฟราติโลวา กล่าว “เราเห็นพวกเขาถูกบรรยายระหว่างการเก็บเกี่ยว บันทึกสินค้าหรือภาษี ไม่ก็ทำงานอยู่ข้าง ๆ คนขายเนื้อ พวกเขาอยู่ทกที่”

นักวิจัยรู้สึกประหลาดใจเมื่อเห็นว่าอาลักษณ์หลายคนจาก อาบูซิร์ ได้รับความทุกข์ทรมานจากการใช้ข้อต่อขากรรไกรมากเกินไป ซึ่งขากรรไกรดังกล่าวยึดติดกับกะโหลกศีรษะ และพวกเขาก็ชี้ว่านี่อาจเป็นหลักฐานที่แสดงว่าอาลักษณ์เองก็กัด ‘ปากกา’ อยู่เป็นประจำ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพู่กันที่ทำจากต้นกก

หมึกมักจะเป็นสีดำและทำจากเขม่า แต่หมึกสีแดงที่ทำจากออกไซด์ก็ใช้สำหรับข้อความที่ต้องได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ

ความน่าสนใจ 

ซินเทีย วิลก์ซาก (Cynthia Wilczak) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟราซิสโก ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับงานวิจัยระบุว่า การศึกษานนี้ “น่าสนใจ แต่เรายังคงมีหนทางอีกยาวไกลในการะบุรูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงกระดูกแบบ ‘เฉพาะเจาะจง’ ในชาวอียิปตโบราณ”

วิลก์ซาก ตั้งข้อสังเกตว่ามีเพียง 6 โครงกระดูกจากทั้งหมด 30 ร่างที่สุสาน อาบูซิร์ เท่านั้นที่ถูกระบุว่าเป็นอาลักษณ์จากตำแหน่งของพวกเขา ในขณะส่วนที่เหลือ ‘คิดว่าเป็น’ อาลักษณ์ซึ่งพิจารณาจากที่ตั้งของสุสานและข้อบ่งชี้สถานะทางสังคมอื่น ๆ

“ฉันสนใจที่จะดูว่ารูปแบบที่สังเกตได้บางส่วนนั้น เกิดขึ้นกับอาลักษณ์ที่ระบุตัวตนได้จากไซต์อื่นหรือไม่” เธอ กล่าว

กลับกัน คำแนะนำที่ว่ามีอาการบาดเจ็บบริเวณกรามที่อาจเกิดจากการกัดปากกาต้นกกนั้นสมเหตุสมผล แต่ฟันก็ควรจะแสดงสัญญาณของกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน “น่าเสียดายที่ไม่มีการนำเสนอหลักฐานที่แสดงถึงการสึกหรอของฟันที่คาดหวังในกรณีนี้” วิลก์ซาก บอก

หลักฐานยืนยัน

แดนนี่ เวสคอตต์ (Danny Wescott) นักมานุษวิทยาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัส ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมกับงานวิจัยนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าตัวอย่างโครงกระดูจาก อาบูซิร์ นั้นมีขนาดเล็ก และการเพิ่มขึ้นของโรคกระดูกเสื่อมที่สังเกตได้นั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นั่นอาจหมายความว่า ความสำคัญของการบาดเจ็บของโครงกระดูกที่พบใน อาบูซิร์ อาจไม่ใช่หลักฐานจะที่ถูกพบส่วนอื่น ๆ ของอียิปต์โบราณ กล่าวอีกนัย โรคกระดูกที่พบอาจไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นทั่วไปและเป็นกันอย่างแพร่หลาย

เวสคอตต์ ยังแสดงความกังวลว่า ไม่มีหลักฐานทางทันตกรรมที่ยืนยันในการศึกษา ซึ่งจะเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าการบาดเจ็บที่กรามเกิดจากการเคี้ยวปากกา เนื่องจากอาลักษณ์ทำเช่นนั้นจริง ก็จะมีการสึกหรอที่ไม่สมมาตรบนฟัน

“การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปในการสร้าง (ชีวิต) ขึ้นมาใหม่จากซากโครงกระดูก” เขา กล่าว

การตรวจสอบอาการออฟฟิศซินโดรมของชาวอียิปต์โบราณจะยังคงดำเนินต่อไป บรูคเนอร์ ฮาเวลโควา ระบุว่ากลุ่มของเธอเพิ่งเริ่มต้นการวิจัยเท่านั้น ซึ่งพวกเขาหวังว่าจะยืนยันด้วยการตรวจสอบซากศพของอาลักษณ์ชาวอียิปต์โบราณที่ถูกฝังอยู่ในสถานที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

“บทความที่ตีพิมพ์นี้เป็นข้อมูลเชิงลึกประการแรกที่เกี่ยวกับคำถามด้านการออกกำลังกายของอาลักษณ์” บรูคเนอร์ ฮาเวลโควา บอก “ตอนนี้ถึงเวลายืนยันสมมติฐานของเราแล้ว”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ภาพ :  MARTIN FROUZ on National Geographic

ที่มา

National Geographic

www.nature.com


อ่านเพิ่มเติม : โลกยุคใหม่ ทำคนมี ความเครียด ง่าย และมันทำร้ายเรามากกว่าที่คิด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.